‘สกลธี ภัททิยกุล’ เปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯในนามอิสระ หวังเพื่อนต่างพรรคช่วยสนับสนุน ชู 6 นโยบายทำกรุงเทพฯดีกว่านี้ได้ เชื่อคน กทม.เลือกคนมาทำงาน ไม่ใช่เลือกตัวแทนอุดมการณ์ทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2565 นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ในฐานะว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แถลงเปิดตัว 6 นโยบาย กรุงเทพดีกว่านี้ได้
นายสกลธี กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดสินใจลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ เพราะมีความคล่องตัวกว่า ซึ่งในอดีตเคยอยู่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และตนเองมีเพื่อนอยู่แทบทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคกล้า ดังนั้นถ้าตนเองลงสมัครในนามพรรคการเมือง โอกาสที่คนในพรรคอื่นจะมาช่วยคงเป็นไปได้ยาก
“ผมตัดสินใจลงในนามอิสระ เพื่อให้หลายฝ่ายมาช่วยสนับสนุนผมได้ ทีมงานของผมที่ทำงานด้วยตอนนี้ บางคนก็อุดมการณ์ไม่เหมือนผม แต่เขาอาจจะอยากแก้ปัญหา กทม.ก็เป็นเรื่องที่คุยกันได้” นายสกลธี กล่าว
ส่วนกรณีที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จะเป็นผลเสียหรือไม่นั้น นายสกลธี กล่าวว่า จากประสบการณ์ ส.ก. มีผลกับการเลือกตั้งสนามใหญ่ เพราะคะแนนจัดตั้งมีความสำคัญ เชือดเฉือนกันหลักพันคะแนน แต่กับผู้ว่าฯ กทม.ไม่มีใครบอกได้ว่า ใครเป็นเจ้าของคะแนนเหล่านั้น
“ในต่างจังหวัดอาจจะมีความเป็นบ้านใหญ่ แต่ใน กทม.ไม่ใช่แบบนั้น การที่เราไม่ได้มี ส.ก.ในทีม สำคัญระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง การประสานงานในการทำงานไม่มีปัญหา เพราะทั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. ล้วนเป็นคนที่ประชาชนเลือกมาเหมือนกัน” นายสกลธี กล่าว
นายสกลธี กล่าวถึงจุดแข็งของตนเอง หากไม่นับรวม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ตนถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานคนหนึ่ง รู้ระบบการทำงานพอสมควร และสไตล์การทำงานก็เป็นคนที่ลงลุยพื้นที่ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายที่ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่ง
ส่วนจุดอ่อน ยอมรับว่า การเมืองไทยมีความขัดแย้งมายาวนาน บางครั้งอาจจะโดนป้ายโดนลากให้ไปอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยที่คนวิจารณ์อาจจะไม่ได้ดูที่ผลงาน ดังนั้นขอให้ทุกคนเปิดใจตรงจุดนี้ มีคนมองเราเป็นสลิ่ม เป็น กปปส. สิ่งเหล่านี้ได้เกี่ยวข้องกับการทำงาน แม้ว่าอุดมการณ์ของตนเองจะเป็นแบบนั้น
อย่างไรก็ตาม นายสกลธี เชื่อว่า ประชาชนไม่ได้เลือกผู้ว่าฯ กทม.เพื่อให้เป็นตัวแทนอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ต้องการเลือกคนที่เป็นตัวแทนในการทำงานใน กทม.มากกว่า
นายสกลธี ยอมรับว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ มี 2 คนที่มีฐานแฟนคลับใกล้เคียงกัน คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่เพิ่งลาออกจากผู้ว่าฯ กทม.และจะลงแข่งในนามอิสระ และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เชื่อว่าการตัดสินใจของคน กทม.มักจะพลิกความคาดหมายเสมอ
6 นโยบายทำกรุงเทพดีกว่านี้ได้
สำหรับกรอบนโยบาย 6 ด้าน จะมีการเปิดเผยรายละเอียด และเปิดตัวผู้เชี่ยวชาญด้านแต่ละด้าน โดยจะทยอยเปิดแต่ละสัปดาห์หลังจากนี้
1.ขนส่ง จราจร นำระบบ ATC หรือ Actual Traffic Control ซึ่งคือ ระบบ AI สัญญาณไฟจราจร จะช่วยคำนวณการปล่อยรถแต่ละแยก ทำระบบเชื่อมต่อระบบล้อ ราง เรือ ทำรถ Feeder รับ-ส่งคนบนถนนสายรอง เดินเรือ EV รวมถึงผลักดัน 2 ไฟฟ้าอีก 2 เส้นทางคือ สายสีเทา และสีเงิน รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
“ปัจจุบัน กทม.มีรถจดทะเบียน 11 ล้านคัน แต่มีถนนเพียง 5-6% จะเห็นว่าถนนมีไม่พอกับรถ ซึ่งคือสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดรถติด ดังนั้นต้องหาทางทำให้คนหันมาใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น” นายสกลธี กล่าว
2.การสาธารณสุข เพิ่มศูนย์สาธารณสุขกให้ครอบคลุมประชาน 50 เขต ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 69 ศูนย์ และจะปรับให้เป็นสมาร์ทคลินิก นำระบบ Telemedicine มาใช้ รวมถึงเพิ่มศูนย์ให้คน 50 เขตเข้าถึงการรักษาที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สร้างจุดเด่นให้โรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงดูแลกลุ่มเปราะบางเชิงรุก นำระบบ Home Monitoring มาใช้
3.การศึกษา โรงเรียนดีใกล้บ้าน ปรับให้เป็นโรงเรียนสองภาษี โรงเรียนผสมและเฉพาะทาง อาหารครบโภชนาการฟรี ลดภาระครู กทม.มีโรงเรียน 437 แห่ง แต่จะมีสักกี่แห่งที่ผู้ปกครองจะไว้วางใจส่งเด็กไปเรียน ดังนั้นควรทำให้โรงเรียน กทม.ที่อยู่ใกล้บ้าน ให้มีคุณภาพมากที่สุด
4.สิ่งแวดล้อม สร้างความปลอดภัย ระบายน้ำ และจัดการผังเมือง อาทิ เพิ่มกล้อง CCTV ที่มีอยู่แล้ว 6.2 หมื่นตัว เชื่อมต่อระบบที่ศาลาว่าการ กทม.ใช้ AI ช่วยควบคุม , เพิ่มสถานีดับเพลิง ไฟไหม้ 10 นาทีต้องถึงที่เกิดเหตุ , ปรับปรุงระบบระบายน้ำ , เพิ่มสวนสาธารณะใกล้บ้าน , พัฒนาย่านเศรษฐกิจต่างๆ และคุมเข้มเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเฉพาะความปลอดภัยบนทางเท้า
5.ระบบบริหารจัดการ ปรับระบบการบริหารเข้าสู่ระบบดิจิทัล มีแอปพลิเคชั่น ที่สามารถขออนุญาตก่อสร้าง ตัดต่อไม้ สูบส้วม ฯลฯ รวมถึงมีระบบติดตามผ่านออนไลน์ , นำ Auantum Computing และ Blockchain มาใช้ประมวลในการแก้ปัญหา
“การบริการ กทม.ต่อไปนี้ แต่ละชุมชนต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะด้าน ต้องแก้ให้ตรงกับความต้องการของคนที่อยู่ในโซนนั้น” นายสกลธี กล่าว
6.เศรษฐกิจ สังคม ท่องเที่ยว ทำถนนคนเดิน 50 เขต สตรีทฟู้ดไม่กระทบคนเดินเท้า ทำโรงเรียนฝึกอาชีพที่ทันสมั สร้างงานให้คน กทม. และสนับสนุนการจ้างคนพิการและส่งเสริมอาชีพคนพิการ
นายสกลธี กล่าวอีกว่า กทม.มีงบประมาณจากการอุดหนุนของรัฐบาลประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี โดย 40% เป็นงบบุคลากร ดังนั้นเหลือเงินที่จะจัดสรรในการพัฒนาแต่ละเขตไม่มากนัก การบริหารเพื่อให้ กทม.หเงินได้เองจึงเป็นเรื่องจำเป็น
“เราจะไม่รอเงินอุดหนุนรัฐบาลอย่างเดียว ถึงเวลาที่ผู้ว่าฯต้องเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปแปลงเป็นเงิน เช่นที่ดินรกร้างว่างเปล่าให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ รวมถึงให้สิทธิ์เอกชนในที่สาธารณะ” นายสกลธี กล่าว
นายสกลธี กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่อยากจะทำคือการ กระจายงบประมาณลงไปให้แต่ละเขตให้มากขึ้น เพื่อให้การซ่อมบำรุง และพัฒนารายพื้นที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายสกลธี กล่าวด้วยว่า ข้อได้เปรียบของตนเองคือได้ฝึกงานและเรียนรู้มาแล้วหลายอย่างช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่อยากทำ อาจจะยังไม่ได้ทำ แต่ก็ได้เก็บเกี่ยว คิดโครงการที่อยากจะทำในอนาคต ขออาสาว่า ถ้าคน กทม.อยากเห็นคนมีพลัง มีสไตล์การทำงานไม่ได้นั่งอยู่ในห้อง ลงไปถึงปัญหาที่แท้จริง ก็ขอฝากผมไว้คนหนึ่ง