"...นักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่เชื่อว่า "โอกาสรัฐประหาร = 0" คือ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์บอกว่า สาเหตุที่โอกาสการรัฐประหารเท่ากับ 0 เพราะเพราะขาดเงื่อนไขที่จะทำรัฐประหาร..."
มีความเคลื่อนไหวสำคัญทางการเมืองแทรกขึ้นมาในช่วงที่รัฐบาลกำลังง่อนแง่น จากปฏิบัติการที่เรียกกันว่า "กบฏร้อยเอก" หรือ "ร้อยเอก ปะทะ พลเอก" มีการหอบ 21 ส.ส.ออกจากพรรคพลังประชารัฐ (ล่าสุดเหลือ 18 คน) ทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาวะเสียงปริ่มน้ำ
เมื่อผนวกกับปัญหาอื่นๆ ทั้งโควิด เศรษฐกิจ ข้าวของแพง และกระแสเบื่อลุง ทำให้มีบางคนโพล่งออกมาว่า สภาพแบบนี้อาจจะมีบางคนคิด "ล้างไพ่ใหม่" ในแบบที่ไม่ใช่การยุบสภา นั่นก็คือการรัฐประหาร หรือ "ปฏิวัติ-ยึดอำนาจ" ที่คนไทยรู้จักกันดีนั่นเอง
คนที่ออกมา "ปูด" เรื่องนี้เป็นถึงระดับ "ผู้นำฝ่ายค้าน" และ "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย" นั่นก็คือ คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว แต่หลังจากพูดออกมาแล้ว ก็ถูกโต้กลับจากหลายๆ ฝ่าย ทำให้ทีมข่าวตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเรื่องนี้กับฝ่ายความมั่นคง และนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองว่าประเทศไทยมีโอกาสเกิดการรัฐประหารซ้ำอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้หรือไม่
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า ประเทศไทยมีการทำรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง (ไม่นับกบฏ ซึ่งแปลว่ารัฐประหารไม่สำเร็จ ซึ่งก็มีอีกหลายครั้ง) โดยการรัฐประหารที่สำเร็จ มีทั้งการรัฐประหารเงียบ, การรัฐประหารโดยใช้กำลังทหาร, การรัฐประหารตัวเอง หรือรัฐบาลตัวเอง และการรัฐประหารแบบนัดแนะกันไว้ก่อน ให้รัฐบาลหุ่นเชิดอยู่ในอำนาจถึงตอนนั้นตอนนี้ แล้วจากนั้นผู้มีอำนาจตัวจริงก็รัฐประหารเข้ามา ยึดอำนาจซ้อนอีกที
สำหรับการรัฐประหารครั้งใหม่ที่ คุณหมอชลน่าน จมูกดีได้กลิ่น แต่คนอื่นยังไม่ได้กลิ่นนั้น ก่อนจะไปพูดถึงความเป็นไปได้ ต้องย้อนไปดูการรัฐประหาร หรือยึดอำนาจในทางทฤษฎีก่อน ว่าการจะเปิดปฏิบัติการเพื่อปฏิวัติรัฐประหาร ต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนอะไรบ้าง
1.เมื่อเล็งเห็นว่า สถานการณ์จะเกิดความแตกแยกรุนแรงในบ้านเมือง หรือรบกันเองระหว่างคนในชาติ
2.สถานะของสถาบันหลักของชาติจะถูกทำลายหรือล้มล้าง
3.รัฐบาลพลเรือนตัดสินใจเชิงนโยบายจนอาจกระทบต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน
4.รัฐบาลพลเรือนมีปัญหาคอร์รัปชั่น และเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชน
แน่นอนว่าเหตุผลในการรัฐประหาร ดูสวยหรู เหมือน "อัศวินขี่ม้าขาว" แต่จริงๆ แล้วก็มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่เกิดการรัฐประหารเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเอง หรือกลุ่มพวกตัวเองต่อไป ทำรัฐประหารเพราะมีการแย่งชิงอำนาจกันเองของฝ่ายทหาร และทำรัฐประหารเนื่องจากผู้นำทหารกำลังจะถูกปลด แบบนี้ก็มี
แต่ถึงแม้จะมีเหตุผลเพื่อตัวเอง สิ่งที่ผู้จะทำรัฐประหารต้องคิดและไตร่ตรองให้ดีก็คือ
1. มีประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสนับสนุนหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่ง ทำแล้วจะถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางหรือไม่
2.จะถูกต่างประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจ คว่ำบาตรจนประเทศและตัวเองเดือดร้อนหรือไม่
หรือ 3.มหาอำนาจจะเข้าแทรกเพื่อเข้าควบคุมนโยบายของประเทศแทนหรือไม่
เพราะหากยึดอำนาจไม่สำเร็จ เท่ากับกลายเป็น "กบฏ" โทษถึงประหารชีวิต ซึ่งในอดีตก็เคยมีผู้ก่อการที่ล้มเหลว และถูกลงโทษทั้งตามกฎหมายและนอกกฎหมายมาแล้ว
จากทฤษฎีการรัฐประหาร จึงมาวิเคราะห์กันต่อว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ จะเดินไปสู่การรัฐประหารตามที่มีคนได้กลิ่น...หรือไม่
ทีมข่าวพูดคุยกับนักวิชาการด้านความมั่นคง ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานในฝ่ายความมั่นคงหน่วยหนึ่ง นักวิชาการท่านนี้ประเมินว่า "ในอนาคตอันใกล้ ยังไม่มีทางเกิดการรัฐประหารขึ้นได้เลย" เหตุผลคือ
1.พรรคเพื่อไทยพูดเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารมาตลอด เมื่อปีที่แล้วที่มีการชุมนุมก็พูดหลายครั้ง เป้าหมายเพื่อสร้างกระแส และน่าจะหยิบประเด็นนี้มาพูดต่ออีกในอนาคต
2.ถ้ามองสถานะรัฐบาลตอนนี้ อาจจะซวนเซไปบ้างจากกรณี "21 ส.ส.กลุ่มผู้กอง" แต่ภาพรวมของเหตุการณ์น่าจะเป็นการ "แยกกันเดิน" เพื่อลดปัญหาขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ มากกว่าการ "ยืนคนละฝ่าย" แบบไม่เผาผีกัน
3.รัฐบาลแม้จะเสียงปริ่มน้ำ แต่ก็ยังมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง และมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่ประมาณ 10-13 เสียงในขณะนี้ ฉะนั้นจึงน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยช่วงที่จะมีการลงมติกฎหมายสำคัญ หรือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็น่าจะมีวิธีการพิเศษเพื่อทำให้ผ่านไปได้ในที่สุด
4.ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่กดดันรัฐบาลอยู่ นอกเหนือจากปัญหาการเมืองจากความขัดแย้งภายใน แนวโน้มเริ่มผ่อนคลาย ทั้งปัญหาโควิด และเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องสินค้าแพงก็เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้
5.ในระยะเวลา 5-6 เดือนนับจากนี้ (ก่อนถึงช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี) นายกฯน่าจะประคองสถานการณ์ให้รัฐบาลผ่านพ้นไปได้ แล้วค่อยไปตัดสินใจช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานจริงๆ ว่าจะยุบสภา หรือจะทำอย่างไร
6.ผู้นำกองทัพขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถรวมศูนย์อำนาจในกองทัพได้ และ "บิ๊กตู่" ยังมีบารมีในหมู่ทหาร
มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่นักวิชาการอดีตหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงไม่ได้พูดถึง แต่มีนักวิชาการอีกคนพูดถึง คือ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยก่อนหน้านี้อาจารย์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับทางเลือก "5 ไม่" ที่นายกฯจะไม่เลือก จากสถานการณ์กบฏร้อยเอก โดยหนึ่งใน 5 ข้อที่อาจารย์หยิบยกมา คือ "ไม่ยึดอำนาจ ไม่รัฐประหาร"
อาจารย์สุรชาติให้เหตุผลว่า แม้การ "ล้มกระดาน" ด้วยการทำรัฐประหาร จะเป็นาทางออกที่ดีที่สุดหากใช้การตัดสินใจด้วย "ชุดความคิดแบบเก่า" (ชุดความคิดประเภท เจอทางตันก็ปฏิวัติ) แต่หากประเมินในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า การรัฐประหารครั้งใหม่ในการเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังมีปัจจัยลบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำรัฐประหารหลายประการ อย่างน้อยความรุนแรงจากการต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ก็เป็น "สัญญาณนาฬิกาปลุก" ให้นักรัฐประหารในไทยต้องตื่นจากความฝัน เพื่อที่จะตระหนักว่า รัฐประหารไม่ใช่ทางออกสำหรับแก้วิกฤติการเมืองไทย เพราะจะนำไปสู่ภาวะ "เสือกัดพลเอก" และการตัดสินใจยึดอำนาจจะส่งผลให้สถาบันกองทัพตกเป็น "จำเลยการเมือง" ไปด้วย
นักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่เชื่อว่า "โอกาสรัฐประหาร = 0" คือ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์บอกว่า สาเหตุที่โอกาสการรัฐประหารเท่ากับ 0 เพราะเพราะขาดเงื่อนไขที่จะทำรัฐประหาร โดยเงื่อนไขมีดังนี้
1.ไม่มีความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างรุนแรง
2.ไม่มีการเมืองบนท้องถนนที่มวลฃนสองฝ่ายออกมาตั้งหลักประท้วงเป็นจำนวนมาก
3.การเปลี่ยนรัฐบาลตามครรลองรัฐธรรมนูญยังเป็นไปได้ ไม่ถึงทางตัน
4.ทุกฝ่ายยังมีความหวังในการเลือกตั้ง
5.ไม่มีประเด็นดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ณ ขณะนี้
และ 6.กระบวนการยุติธรรมยังทำงานได้อยู่
แต่ทัศนะและคำยืนยันทั้งหมดนี้ ไม่ได้การันตีว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น เพราะคนที่พูดไม่ใช่คนที่ทำ และคนที่ทำ ก็มักจะคิดไม่เหมือนคนที่พูด