“...ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทั้งในประเทศอังกฤษ และในประเทศนี้นั้น จะถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อนโยบายสาธารณะ ถ้าหากจะบังคับให้ศาลยุติธรรมเข้าข้างต่อเจ้าหน้าที่ข้าราชการซึ่งมีหน้าที่ตามเนื้องานอยู่แล้วได้รับเงินพิเศษเพิ่มเติมหรือเงินรางวัลอื่นใด จากการทำหน้าที่นั้น ๆ ดังนั้นข้อตกลงที่ว่าจะมีการให้เงินรางวัลพิเศษที่ว่ามานี้จึงถือว่าเข้าข่ายว่าจะเป็นการให้สินบน...”
......................................
ทำไม พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ที่กำลังถูกสอบสวนกรณีใช้ถุงคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดจนเสียชีวิตถึงมีทรัพย์สินมากมายขนาดนั้น
ที่มาของทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับเงินสินบนนำจับคดีรถหรูหรือไม่
คือ หนึ่งในประเด็นความสงสัยของใครหลายคน ภายหลังจากที่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยผ่าน “รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ว่า นับตั้งแต่ปี 2554-2560 พ.ต.อ.ธิติสรรค์ มีฐานะเจ้าของสำนวนจับกุมนำส่งรถหรู 368 คัน ขายทอดตลาดไปแล้ว 363 คัน ยังขายไม่ออกอีก 5 คัน ซึ่งตามกฎหมายศุลกากรปี 60 จะมีสินบนเงินรางวัลให้เจ้าหน้าที่จับกุม 40 เปอร์เซ็นต์ และ 1 คดีจะได้เงินสินบนไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่ว่าจะจับรถยนต์ได้กี่คันก็ตาม
โดยจากราคาที่นำรถจำนวน 363 คัน ไปประมูลทางพิธีการศุลกากร เบื้องต้นทราบว่า น่าจะได้เงินประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งเงินส่วนแบ่ง หรือรางวัลนำจับ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คาดว่า อาจจะมีการนำไปแบ่งกับชุดที่มีการจับกุม ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามที่ศุลกากรมีข้อมูล เท่ากับว่า ในช่วงเวลาที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ จับกุมรถ ที่ตัวเองลงทุนเอง นำเข้ามาจากมาเลเซีย และ ส่งประมูล เขาได้เงินส่วนแบ่ง หรือ รางวัลนำจับคาดว่าน่าจะมีมากถึง 450 ล้านบาท
ข้อเท็จจริงกรณีนี้เป็นอย่างไรคงต้องผลสรุปการสอบสวนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
แต่น่าสนใจว่ารางวัลนำจับจากการจับกุม ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ในต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลพบว่า ในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีหลักและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องรางวัลนำจับไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะข้อห้ามมิให้บุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล ลูกจ้างของทางรัฐบาล มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลเป็นอันขาด
ปรากฏรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น คำว่า รางวัลนำจับถูกใช้เป็นทางการครั้งแรก เพื่อที่จะตามจับกุมตัวผู้สังหารอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ในปี ค.ศ. 1865
ถ้าคิดมูลค่าของรางวัลสินบนนำจับกรณีนี้เทียบกับค่าเงินในปัจจุบันจะตกอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32,644,500 บาท)
ส่วนกรณีรางวัลนำจับคดียาเสพติดนั้น สหรัฐอเมริกา ได้มีการออกประกาศโครงการรางวัลนำจับสำหรับการจับกุมยาเสพติด หรือ ที่เรียกกันว่า The Narcotics Rewards Program (NRP) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของหน่วยงานกฎหมายต่าง ๆ อาทิ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ, สํานักงานยาเสพติดระหว่างประเทศและกิจการบังคับใช้กฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ,กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ,หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรหรือ ICE,หน่วยงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือ DEA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
รายละเอียดโครงการนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะจ่ายเงินค่ารางวัลนำจับเป็นมูลค่าสูงสุด 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (815,662,500 บาท) ให้กับผู้ที่แจ้งเบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมผู้จำหน่ายยาเสพติดรายใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเข้ายาเสพติดจำนวนกว่าหลายล้านตันเข้าสู่ประเทศสหรัฐฯ
โครงการให้รางวัลนำจับยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา
โดยผู้ที่อยู่นอกประเทศสหรัฐฯ นั้นก็สามารถจะได้รับเงินรางวัลนี้เช่นกัน ถ้าหากมีการไปแจ้งข้อมูลกับสถานทูตสหรัฐฯหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม บุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล ลูกจ้างของทางรัฐบาลนั้น จะไม่มีสิทธิเข้าถึงเงินรางวัลที่ว่านี้เป็นอันขาด
เมื่อสืบค้นข้อมูลคำพิพากษาคดีในสหรัฐฯ พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วง ค.ศ. 1899 ศาลฎีกาของสหรัฐฯ ได้เคยมีกรณีตัดสินคดีความหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ได้พยายามจะเรียกรับเงินรางวัลนำการจับกุมเป็นจำนวน 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ
คำพิพากษาของศาลฯ ระบุว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทั้งในประเทศอังกฤษ และในประเทศนี้นั้น จะถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อนโยบายสาธารณะ ถ้าหากจะบังคับให้ศาลยุติธรรมเข้าข้างต่อเจ้าหน้าที่ข้าราชการซึ่งมีหน้าที่ตามเนื้องานอยู่แล้วได้รับเงินพิเศษเพิ่มเติมหรือเงินรางวัลอื่นใด จากการทำหน้าที่นั้น ๆ ดังนั้นข้อตกลงที่ว่าจะมีการให้เงินรางวัลพิเศษที่ว่ามานี้จึงถือว่าเข้าข่ายว่าจะเป็นการให้สินบน”
ส่วนเหตุผลว่าทำไมบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล ลูกจ้างของทางรัฐบาลนั้น ถึงไม่มีสิทธิเข้าถึงเงินรางวัลการจับกุมเป็นอันขาด เป็นเพราะแนวนโยบายที่จะต้องการจะลดพฤติกรรมการจ่ายเงินแก่เจ้าพนักงานที่ควรจะปฏิบัติหน้าที่ให้สังคมอยู่แล้ว และป้องกันไม่ให้เกิดการรับของขวัญ รับรางวัลนำจับ เพื่อที่จะใช้อำนาจของตัวเจ้าหน้าที่เองในการกระทำความผิดร้ายแรง อันจะทำไปสู่การจำคุกและการถอดออกจากตำแหน่งในหลายรัฐ
ต่อมาในช่วง ค.ศ. 1918 มีกรณีที่ศาลฎีการัฐนิวเจอร์ซี่ ได้มีคำตัดสินปฏิเสธให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยพิเศษซึ่งเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลอันนำไปสู่การติดตามเครื่องเพชรและอัญมณีที่ถูกลักขโมยไปคืนมา
โดยศาลเห็นว่านี่เป็นการดำเนินการตามหน้าที่สาธารณะและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษแต่อย่างใด
ขณะที่ในช่วงปี ค.ศ. 1980 มีเหตุการณ์ว่าศาลรัฐโอไฮโอได้ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับรางวัลจากเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกลักขโมยไปนั้นถือว่า มีความผิดเช่นกันในข้อหาว่ารับสินบนเช่นกัน
การเสนอเงินรางวัลนำจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกา (อ้างอิงวิดีโอจาก CBS46 Atlanta)
ขณะที่ข้อมูลจากบนเว็บไซต์ Quora ได้มีการตั้งคำถามเช่นกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ถ้าหากสามารถจับกุมผู้ที่เป็นผู้ต้องหาที่ทางเอฟบีไอต้องการตัวเจ้าหน้าที่คนนั้นจะได้รับเงินรางวัลหรือไม่
นายทิม ดีส ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองรีโน่ ได้กล่าวว่าจากกรณีดังกล่าวเจ้าหน้าเอฟบีไอไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินหากว่าเป็นผู้ที่ส่งมอบข้อมูลของคนร้ายที่เป็นที่ต้องการ เว้นเสียแต่ว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นจะลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน
ขณะที่นายเดวิด เดวิดสัน อดีตผู้ช่วยอธิบดีตำรวจผู้ควบคุมนักโทษของสหรัฐอเมริกานั้น ได้ให้ความเห็นไว้ว่า การจับกุมผู้ต้องหาที่มีหมายจับคิดเป็นมูลค่าสูงนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่คนนั้นถูกจ้างมาอยู่แล้ว
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ถ้าหากจะได้รับเงินรางวัลก็จะอาจจะได้รับแค่ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่อันยอดเยี่ยม (Perfomance award) แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่นั้นจะไม่มีสิทธิ์ในเงินรางวัลที่มีการประชาสัมพันธ์ไว้เป็นอันขาด
แต่ก็มีเฉพาะบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นอาจจะรับเงินรางวัลนำจับ
เช่นกรณีของรัฐแมสชาชูเซตส์ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรับเงินรางวัลนำจับได้
ถ้าหากว่ามีการจัดสรรมาจากทางภาครัฐอย่างถูกต้องและโปร่งใส เป็นต้น
เรียบเรียงจาก:https://www.quora.com/If-an-FBI-agent-catches-an-FBI-Most-Wanted-criminal-will-they-get-the-reward-money,https://www.aele.org/law/2011all04/2011-04MLJ201.pdf,https://www.state.gov/inl-rewards-program/narcotics-rewards-program/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage