"...แต่หนึ่งในข้อดีของวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าก็คือว่าวัคซีนชนิดนี้สามารถที่จะผลิตได้ในประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่เทคโนโลยีสำหรับการผลิตวัคซีนซึ่งใหม่กว่าอย่างวัคซีนแบบ mRNA และเทคโนโลยีสำหรับระบบเก็บความเย็นเพื่อรักษาวัคซีน mRNA นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่มีในประเทศออสเตรเลียแต่อย่างใด..."
...................
สืบเนื่องจากเกิดประเด็นดราม่าทางสังคม กรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่กำลังเป็นกระแส ณ เวลานี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจข้อมูลสำนักข่าวต่างประเทศว่า มีประเทศไหนบ้างที่มีประเด็นคล้ายกับประเทศไทย โดยเฉพาะข้อครหาว่ามีการเจาะจงวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งมากจนเกินไป
พบว่าประเทศออสเตรเลีย ก็เจอปัญหาในกรณีที่สาธารณชนตั้งข้อสงสัยถึงการนำเข้าวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค และมีคำโต้แย้งจากหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศออสเตรเลียเกี่ยวกับประเด็นเรื่องวัคซีนเช่นกัน
มีรายละเอียดดังนี้
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.พอล เคลลี หัวหน้าทีมแพทย์ของออสเตรเลียและผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ได้ออกมาแก้ต่างในกรณีที่ประเทศออสเตรเลีย ได้มีการจัดหาวัคซีนจำนวน 54 ล้านโดส ซึ่งผลิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการออกมาเตือนถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ว่า อาจจะต่ำจนเกินไป จนไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้
โดยผู้จุดประเด็นให้หยุดการจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ก็คือ นพ.สตีเฟ่น เทอร์เนอ ประธานสมาคมภูมิคุ้มกันโรคออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ที่ออกมาระบุว่า “คุณไม่สามารถจะพึ่งพามันเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้” นพ.เทอร์เนอกล่าว
ขณะที่ นพ.แอนดรูว์ มิลเลอร์ วิสัญญีแพทย์ และหัวหน้าแผนกสาขาตะวันตกของสมาคมการแพทย์ออสเตรเลียก็ได้ออกมาวิจารณ์เช่นกันว่า เราควรจะหยุดการจัดหาวัคซีนไว้เป็นการชั่วคราวก่อนและดูว่าอะไรคือผลที่ได้มาก่อนที่จะดำเนินการขั้นถัดไป
ขณะนี้ผลวิจัยอย่างไม่เป็นทางการของวัคซีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่ออกมาในระหว่างกระบวนการทดลอง ก็คือ วัคซีนสามารถป้องกันการเกิดอาการจากไวรัสโควิด-19 ได้ในระดับ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าหากมีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวน 2 โดสเต็มๆ ประสิทธิภาพของวัคซีนจะอยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์
แต่ถ้าหากมีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนครึ่งโดสก่อนในวัคซีนเข็มแรก และหนึ่งโดสเต็มในวัคซีนเข็มที่ 2 ประสิทธิภาพของวัคซีนจะอยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์
อ้างอิงวิดีโอจาก ABC News (Australia)
ส่วน นพ.เคลลี ได้กล่าวว่า วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีคุณภาพสูง
“มันมีความปลอดภัยในการต่อต้านอาการป่วยอันร้ายแรง มันสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ ด้วยการใช้วัคซีนนี้ เราจะสามารถปกป้องกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ในประเทศออสเตรเลียได้” นพ.เคลลีกล่าว
และกล่าวต่อด้วยว่า ประเทศออสเตรเลียนั้นได้มีการจัดหาวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ด้วยเช่นกัน
สำหรับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์นั้นถือว่าเป็นวัคซีนชนิดใหม่ บรรจุเส้นรหัสพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า mRNA เมื่อวัคซีนนี้ถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ก็จะไปกระตุ้นให้เซลล์นั้นผลิตโปรตีนรูปหนาม ซึ่งเป็นจุดโดดเด่นของไวรัสโควิด โดยโปรตีนรูปหนามซึ่งไม่อันตรายเหล่านี้นั้นจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงาน ถ้าหากมีการติดไวรัสจริงๆขึ้นมา ร่างกายก็จะรู้วิธีที่จะโจมตีไวรัสโควิด-19
ส่วนวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นเป็นวัคซีนที่เรียกกันว่าวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์ โดยวัคซีนนี้จะบรรจุไวรัสที่อ่อนแรง หรือไวรัสที่หมดศักยภาพไปแล้ว ซึ่งไวรัสที่ว่านี้จะมีส่วนประกอบทางพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เมื่อวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ฉีดเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ เซลล์จะมีการผลิตโปรตีนที่ดูคล้ายกับไวรัสโควิด-19 นี่ก็จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเช่นกัน
แต่หนึ่งในข้อดีของวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าก็คือวัคซีนชนิดนี้สามารถที่จะผลิตได้ในประเทศออสเตรเลีย ในขณะที่เทคโนโลยีสำหรับการผลิตวัคซีนซึ่งใหม่กว่าอย่างวัคซีนแบบ mRNA และเทคโนโลยีสำหรับระบบเก็บความเย็นเพื่อรักษาวัคซีน mRNA นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่มีในประเทศออสเตรเลียแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าประเทศออสเตรเลียนั้นได้มีการจัดหาวัคซีนจากบริษัทโนวาแวกซ์ซึ่งเป็นวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์อีกจำนวนทั้งสิ้น 51 ล้านโดส และออสเตรเลียเองก็ยังมีความร่วมมือกับโครงการ Covax ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ด้วยเช่นกัน ซึ่ง ณ เวลานี้มีรายงานว่าประเทศออสเตรเลียนั้นสามารถหาวัคซีนไปได้มากกว่า 135 ล้านโดสแล้ว ขณะที่ประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์มีประชากรอยู่ที่ 30,511,064 คน
นพ.เคลลี กล่าวย้ำว่า ทั้งหมดที่ว่ามานั้นถือเป็นวัคซีนที่ดี มีประสิทธิภาพในการหยุดยั้งอาการป่วยได้
“มีการเผยแพร่ผลการทดลองในวารสารทางการแพทย์ระบุว่า วัคซีนทั้ง 3 ตัวได้แก่ วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ และวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นา ทั้งหมดนั้นแสดงประสิทธิภาพอันมีนัยยะสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรง” นพ.เคลลีกล่าว
นพ.เคลลี กล่าวต่อไปว่า "เราก็เหมือนมีไข่หลายฟองไว้ในตะกร้า และตอนนี้ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศอื่นๆก็ได้มีการสรรหาวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นจำนวนนับหลายล้านโดสแล้ว ดังนั้นขอยืนยันว่าออสเตรเลียไม่ได้ถูกบังคับให้เลือกหรือให้ความสำคัญกับวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งเหนือวัคซีนชนิดอื่นๆอย่างแน่นอน"
“เรามีกรณีผู้ติดเชื้อไม่กี่รายในออสเตรเลีย ดังนั้นถือว่าเรายังไม่ได้มีภูมิคุ้มกันโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งทางเลือกนั้นไม่ใช่จะดูว่าวัคซีนไหนจะดีกว่าตัวไหน แต่เป็นว่าการเลือกตัวไหนถึงจะให้ศักยภาพในการผลิตได้เป็นจำนวนมากๆในประเทศได้ เพื่อที่เราจะสามารถช่วยและปกป้องชีวิตหลายๆชีวิตได้ในปีนี้ และคำตอบก็คือเราต้องเลือกสิ่งที่เรามีศักยภาพ สามารถจะผลิตได้ในประเทศของเรา เราต้องยอมรับว่าเราไม่มีศักยภาพเลยในการที่จะผลิตวัคซีนแบบ mRNA บนแผ่นดินของเรา”นพ.เคลลี่กล่าว
นพ.พอล เคลลี หัวหน้าทีมแพทย์ของออสเตรเลียและผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด (อ้างอิงวิดีโอจาก SBS News)
ขณะที่ นพ.ลิน กิลเบิร์ต ประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคติดต่อ (Infection Control Expert Group) ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลและหลักฐานเพื่อประกอบคำแนะนำให้ทางรัฐบาลออสเตรเลียก็กล่าวว่า การเสนอให้หยุดการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นถือเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง
“การเสนอความเห็นให้หยุดกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าถือว่าเป็นการเสนอซึ่งยึดโยงกับข้อมูลที่น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีนและช่วงเวลาที่วัคซีนจะให้การคุ้มครองจากโรค การตั้งข้อสมมติฐานดังกล่าวนั้นอยู่บนแนวคิดว่าเราจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างวัคซีน mRNA จากบริษัทไฟเซอร์ให้ใช้งานได้อย่างไม่จำกัด และสามารถแจกจ่ายใช้งานได้สำหรับทุกคน และถือว่าเป็นการคาดหวังผลจากวัคซีนว่าจะสามารถกำจัดไวรัสให้หมดไปได้ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง”นพ.กิลเบิร์ตกล่าว
ขณะที่ นพ.ปีเตอร์ คอลลินอน อดีตที่ปรึกษา WHO กล่าวว่า การตัดสินใจให้หยุดการส่งวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้านั้นถือว่าเป็นความบ้าคลั่ง
“ถ้าคุณดูที่เมืองเมลเบิร์น ถ้าทุกคนที่อยู่ในบ้านพักคนชราได้รับการฉีดวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าก่อนที่จะการระบาดระลอก 2 นี่จะสามารถช่วยชีวิตได้ถึงจำนวน 2 ใน 3 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด คือวัคซีนนั้นอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ ตัวผมเองก็อยากจะได้วัคซีนที่มีศักยภาพ 90 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าล็อตแรกของวัคซีนนั้นคุณอาจจะมีโอกาสเสมอที่จะไม่ได้รับวัคซีนตามจำนวนที่ได้คาดหวังไว้ นี่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และหลังจากกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนแพร่หลายออกไป เราก็จะมีโอกาสเห็นเรื่องเหล่านี้มากขึ้นไปอีก” นพ.คอลลินอนกล่าว
นพ.คอลลินอนกล่าวต่อไปว่า “กลุ่มคนที่เรียกร้องให้หยุดการกระบวนการจัดหาวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่เมื่อ 3-4 สัปดาห์ก่อนบอกว่าชะลอการแจกจ่ายวัคซีนในออสเตรเลีย ให้ดำเนินการแจกจ่ายทันทีเลย ซึ่งสำหรับผมคิดว่าคนกลุ่มนี้ก็เป็นพวกที่พยายามหาประเด็นมาโจมตีให้ดูรุนแรงเข้าไว้ จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง”
ขณะที่ทางด้านของ นพ.อัลเลน เฉิง ประธานร่วมกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคของออสเตรเลียเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกัน กล่าวว่า ทั้งวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าหรือวัคซีนจากไฟเซอร์ ต่างก็ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหารของออสเตรเลีย (Therapeutic Goods Administration) ดังนั้นจึงถือว่านี่ยังอยู่ตำแหน่งที่ดีที่จะสามารถเฝ้าระวังได้
“ตอนนี้ประเทศออสเตรเลียได้เข้าถึงวัคซีนของไฟเซอร์จำนวน 10 ล้านโดส ที่จะส่งมอบในช่วงปีนี้ และอีก 53 ล้านโดสของแอสตร้าเซนเนก้าที่จะถูกส่งมาอย่างน้อยจำนวน 1 ล้านโดสก่อน ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าแบบไหนจะสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อได้มากกว่ากัน ที่ผ่านมา วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าไม่ได้ลดการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ แต่ก็ยังไม่เคยมีผลการศึกษาจากวัคซีนของไฟเซอร์เช่นกัน” นพ.เฉิงกล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage