กลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Global Alliance for Trade Facilitation) ซึ่งไม่นานมานี้ได้เข้ามาเป็นคู่ค้ากับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยบทบาทของความร่วมมือที่ว่ามานั้นก็คือการเข้ามาทดสอบความพร้อมของประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการนำเข้าวัคซีนโควิด19 และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง
.................
ในปี 2564 ที่กำลังจะมาถึงนั้น สิ่งหนึ่งที่หลายๆรัฐบาลทั่วโลกต่างต้องเร่งดำเนินการร่วมกัน คือ จะดำเนินการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด19 หรือโคโรน่าไวรัสอย่างไรเพื่อที่จะให้วัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากที่สุด
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประเทศอังกฤษกลายเป็นประเทศแรกที่ประกาศอนุมัติใช้วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคอย่างเป็นทางการ และมีการคาดกันว่าภายในต้นสัปดาห์นี้ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะมีการอนุมัติวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์เช่นกัน ด้วยโรดแมปที่ชัดเจนว่าภายในไม่เกิน 24 ชั่วโมงนั้นจะต้องมีการส่งวัคซีนไปถึงกลุ่มที่มีความต้องการ
ล่าสุด เว็บไซต์สภาเศรษฐกิจโลกหรือ World Economic Forum ได้นำเสนอบทความในหัวข้อ 5 สิ่งที่ควรกระทำ เพื่อให้การแจกจ่ายวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียง ข้อมูลมานาเสนอต่อ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.การทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดความโปร่งใส
ประเด็นเรื่องความโปร่งใสที่ว่านี้ ไม่ควรที่จะไปสับสนกับประเด็นเรื่องการขนส่งวัคซีน ซึ่งทางด้านขององค์การอนามัยโลก (WHO) นั้นสามารถช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ ด้วยการตีพิมพ์รายชื่อวัคซีนที่เป็นทางการทั้งหมด พร้อมทั้งหมายเลขไอดีผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้กันทั่วโลก ขณะที่ทางด้านขององค์การศุลกากรโลก (WCO) ควรจะมีกำหนดประเภทมาตรฐานที่ชัดเจนให้กับวัคซีนโควิด19 เช่นกัน
สำหรับในส่วนของประเทศที่มีส่วนในด้านการพัฒนาวัคซีนนั้นก็ควรที่จะออกประกาศกฎเกณฑ์การจัดแบ่งประเภทวัคซีนไว้ล่วงหน้าเช่นกัน เพื่อให้ประเทศอื่นๆได้รับรู้มาตรฐานวัคซีนตัวนั้นชัดเจน
ซึ่งวิธีการป้องกันการปลอมแปลงวัคซีนได้ดีที่สุดนั้นก็คือการรักษาความมั่นคงของสายการผลิตให้อยู่กับสายการผลิตวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการเท่านั้น
2.การวางแผนล่วงหน้าก่อนเริ่มกระบวนการขนส่ง
กระบวนการอนุญาตผู้ดำเนินกิจการการขนส่งวัคซีนทางอากาศให้ชัดเจนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรต้องกระทำ และจะต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วก่อนที่จะมีการเริ่มขั้นตอนการขนส่งด้วยเที่ยวบินนับหลายพันเที่ยวบิน เนื่องจากการให้คำอนุญาตผู้ประกอบการบินที่ชัดเจนนั้น จะทำให้สายการบินในแต่ละพื้นที่สามารถจะรับรู้และพร้อมสนับสนุนเที่ยวบินพิเศษ เช่นเที่ยวบินในตอนกลางคืน และจะยังทำให้ลูกเรือของเที่ยวบินขนส่งวัคซีนนั้นสามารถปฏิบัติภารกิจภายใต้ระเบียบการขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ว่าด้วยการปฏิบัติภารกิจเพื่อบรรเทาทุกข์ ซึ่งจะยกเว้นมาตรการการกักตัว การห้ามการเดินทาง (เว้นแต่มีอาการป่วย) รวมไปถึงมาตรการที่ลูกเรือเหล่านั้นจะต้องทำตาม เช่นการบินเข้าประเทศก่อนเวลา และการดำเนินการมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด19
ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลในหลายประเทศควรจะต้องมีการจัดตั้งศูนย์สำหรับการขนส่งวัคซีนข้ามดินแดนด้วยช่องทางทางถนน และจะต้องมีการเปิดเลนถนนพิเศษสำหรับการขนส่งวัคซีนเพื่อข้ามดินแดน เพื่อที่จะจำกัดข้ออุปสรรคและข้อกีดขวางของการขนส่งวัคซีนข้ามดินแดนประเทศต่างๆ
โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงประจำประเทศซึ่งเป็นทางผ่านหรือประเทศเป้าหมายของวัคซีนนั้นไม่ควรที่จะทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งวัคซีน ด้วยการเรียกให้หยุดตรวจ ณ จุดตรวจผ่านแดน
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการยืนยันตัวบุคคลผู้ขนส่งวัคซีนนั้นก็ควรเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เพื่อที่จะตัดสินใจอนุมัติการเข้าผ่านแดนของผู้ขนส่งวัคซีน โดยผู้มีอำนาจในประเทศไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลางรวมไปถึงผู้นำท้องถิ่นเองก็สามารถจะเรียกร้องขอดูใบอนุญาต และใบรับรองการเป็นผู้แจกจ่าย ผู้กักเก็บวัคซีน ของผู้ที่ดำเนินการขนส่งวัคซีนได้เช่นกัน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องมีการประสานงานเพื่อจะพิจารณาการออกมาตรการที่เหมาะสมในทุกฝ่าย
3.การจัดเตรียมกระบวนการควบคุมความเย็น และสายการผลิตสินค้าซึ่งมีความอันตราย
วัคซีนโดยทั่วไปนั้นจะต้องเก็บในตู้เย้นที่มีอุณหภูมิที่ต่ำมาก และวัคซีนโควิด19 บางประเภทนั้นจะต้องเก็บที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่า -70 องศาเซลเซียส ดังนั้น จึงควรที่จะมีศูนย์ควบคุมอุณหภูมิเอาไว้ให้พร้อม โดยบริษัทที่ผลิตวัคซีนนั้นควรที่จะมีการตกลงกับคู่สัญญาที่จัดส่งวัคซีนถึงรายละเอียดของสินค้าที่จัดส่ง รวมทั้งให้มีการติดตั้งระบบควบคุมความเย็นเอาไว้เพื่อรองรับกับความเสี่ยงในการขนส่งวัคซีน
ตัวอย่างตู้เก็บความเย็นสำหรับเก็บวัคซีนโควิด19 ที่ประเทศเยอรมนี (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.ft.com/content/0207755e-1bc8-4b46-bc25-1d89f4f9b6f5)
ขณะที่ทางรัฐบาลเองก็ควรที่จะมีการตีพิมพ์แนวทางสำหรับผู้ที่ขนส่งวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ที่เป็นบริษัทขนส่งนั้นได้เตรียมมาตรการขนส่งวัคซีนเอาไว้ให้พร้อมเช่นกัน อาทิ การจำแนกประเภทสินค้าที่จะดำเนินการขนส่งให้อยู่ในมาตรฐานเดียวการขนส่งเดียวกับการส่งอวัยวะเทียม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการขนส่ง
เช่นการถูกปฏิเสธการรับสินค้าในสถานที่ปลายทาง โดยในกรณีนี้นั้นระบบการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆเกี่ยวกับเรื่องของความโปร่งใสวัคซีนนั้นควรจะมุ่งเน้นการแก้ไขข้อร้องเรียนและข้อผิดพลาดในกระบวนการขนส่งมากกว่าที่จะให้ทางปลายทางของสินค้ารับทุกการขนส่งที่จะเกิดขึ้น
4. การหลีกเลี่ยงความแออัดที่ชายแดนในช่วงเวลาเร่งด่วน
รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานทางการค้า โดยในช่วงแรกที่เกิดการระบาดนั้นแสดงให้เห็นเลยว่าการจัดทำบันทึกอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง กระบวนการจัดการการจ่ายเงินทางออนไลน์ และการประเมินความเสี่ยงทางดิจิทัลนั้นถือเป็นสิ่งที่จะทำให้การสำแดงสินค้าที่พื้นที่ชายแดนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ประจำตามจุดชายแดนเองก็ควรที่จะมีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องก่อนการมาถึงของสินค้าวัคซีน และควรมีช่องทางการสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างทันท่วงทีกับตัวแทนของผู้ที่อยู่ในสายการผลิตวัคซีนด้วยเช่นกัน เพื่อจะอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนของวัคซีน
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากระบวนการขนส่งวัคซีนโควิด19 นั้นจะเป็นการขนส่งที่มีความเร่งรีบเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงต้องมีการสำแดงว่าเป็นสินค้าสำคัญ ควรต้องมีข้อยกเว้นจากการห้ามส่งออก จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการขนส่งสินค้าก่อนที่ตัวสินค้าจะเดินทางมาถึงปลายทาง และจะต้องถูกยกเว้นข้อจำกัดจากการนำเข้าด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้นั้น การจัดทำฐานข้อมูลให้มีความสอดคล้องกับองค์การศุลกากรโลกหรือ WCO จึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง
ซึ่งตามที่เรียนไปแล้วว่าการขนส่งวัคซีนนั้นจำเป็นต้องอาศัยอุณหภูมิที่ต่ำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษเพื่อควบคุมอุณหภูมิเอาไว้ในยานพาหนะขนส่ง ดังนั้นการยกเว้นข้อจำกัดการนำเข้าประเทศของอุปกรณ์เหล่านี้นั้นก็ควรที่จะมีความชัดเจน ทั้งในส่วนของการนำเข้าและการส่งออกและระเบียบการต่างๆ ซึ่งการทำตามขั้นตอนนี้จะช่วยลดขั้นตอนและลดเวลาที่ต้องเสียไปกับการตรวจสอบที่ชายแดนซึ่งมีความหนาแน่นได้
อ้างอิงวิดีโอจากบลูมเบิร์ก
5.การเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างผู้ที่มีบทบาทในส่วนต่างๆ
ปฏิบัติการณ์การขนส่งวัคซีนนั้นจะไม่ใช่ปฏิบัติการณ์ที่ดำเนินบนความปกติ จะมีความคาดหวังกับเรื่องนี้ที่ค่อนข้างสูงมาก และพอเมื่อมีปัญหา ก็แน่นอนว่าจะต้องมีการเรียกร้องให้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ซึ่งการจะดำเนินการเช่นนี้ได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ออกข้อบังคับการขนส่งกับผู้ดำเนินการขนส่ง หรือก็คือบริษัทยาและบริษัทขนส่งนั่นเอง
ที่ผ่านมา ทางสภาเศรษฐกิจโลกได้เคยเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือในเรื่องนี้แล้วบ้างเช่นการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกลุ่มพันธมิตรโลกด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Global Alliance for Trade Facilitation) ซึ่งไม่นานมานี้ได้เข้ามาเป็นคู่ค้ากับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
โดยบทบาทของความร่วมมือที่ว่ามานั้นก็คือการเข้ามาทดสอบความพร้อมของประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการนำเข้าวัคซีนโควิด19 และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้นเอง
เรียบเรียงจาก: https://www.weforum.org/agenda/2020/12/5-ways-to-ensure-safe-and-effective-covid-19-vaccine-distribution/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/