สภาวิศวกร เสนอรัฐแก้ฝุ่นพิษ Pm2.5 สร้างแผนที่จุดเสี่ยง แจ้งเตือนผ่านมือถือ ให้ปชช.สวมหน้ากาก พร้อมเพิ่มเก็บภาษีก่อสร้างไม่ป้องกันมิดชิด ประกาศสงครามรถควันดำ เน้นรถบรรทุก-กระบะ ดันปัญหาสู่วาระแห่งชาติ
วันที่ 16 ม.ค. 2563 สภาวิศวกร จัดแถลงข่าว เรื่อง แนวทางรับมือ PM2.5 มหันตภัยร้ายปกคลุมน่านฟ้า กทม. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 4 สภาวิศวกร กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยถึงแผนแนวทางการรับมือฝุ่น PM2.5 ว่าทุกพื้นที่ทั่วโลกเคยมีปัญหาคล้ายคลึงกับประเทศไทย และสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางอากาศได้ ไม่ว่าจะเป็น กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน หรือนครลอสแอเจลิส ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินน 2 มาตรการ คือ การใช้หลักการด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีผ่านโทรศัพท์มือถือเเละการมีกฎหมายใหม่ โดยเฉพาะการควบคุมมลพิษ
“วันนี้เทคโนโลยีด้านออนไลน์ ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือกันทั้งหมด วันนี้ฝุ่นพิษเกิดขึ้นทุกที่ ไม่เฉพาะช่วงฤดูหนาว หรือช่วงที่มีอากาศปิด แต่แท้ที่จริงแล้ว ฝุ่นพิษอยู่กับคน กทม. ทุกวัน” นายกสภาวิศวกร กล่าว และว่า เมื่อปี 2562 ได้วัดฝุ่นในพื้นที่มีการจราจรหนาแน่น แถวราชประสงค์ พหลโยธิน และสีลม พบว่า บริเวณป้ายรถเมล์ มีฝุ่นพิษเกินค่ามาตรฐานตลอดเวลา ฉะนั้นฝุ่นพิษจึงไม่เกิดเฉพาะ ธ.ค. หรือ ม.ค. ดังนั้น จึงต้องใช้เทคโนโลยีในการแจ้งเตือนได้
ทั้งนี้ เชื่อมโยงข้อมูลจากแผนที่ฝุ่นพิษ ซึ่งเกิดจากการประมวลของเครื่องมือวัดฝุ่นที่มีการติดตั้งทั่ว กทม. จะช่วยให้ทราบว่า เขตหรือจุดใดเป็นพื้นที่เสี่ยง นั่นหมายความว่า วันนี้ทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือ จะได้รับการแจ้งเตือนจาก กทม.ทันที เมื่อก้าวเข้าสู่จุดเสี่ยง เพื่อจะได้สวมหน้ากากป้องกันทันทีและเลิกสวมเมื่อออกจากจุดเสี่ยงนั้นแล้ว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ถึงเวลาแล้วต้องประกาศสงครามกับรถควันดำ เมื่อปีที่แล้วมีรถควันดำ วันนี้ยังมีรถควันดำ และพรุ่งนี้อาจจะมีรถควันดำ ซึ่งทุกคนยังขับหรือนั่งรถ ตามหลังรถควันดำอยู่ตลอดเวลา แต่วันนี้จะให้รถควันดำขับเข้ามาใน กทม.ไม่ได้ โดยเฉพาะรถที่ไม่ได้รับการดูแล อย่างรถบรรทุกและรถกระบะ ที่ใช้ในการก่อสร้าง จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงรถเมล์ยังใช้เครื่องยนต์ดีเซล รัฐจึงต้องมีกฎหมายในการจัดการ
ขณะที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าและอาคารต่าง ๆ จะเห็นว่า บางอาคารมีความรับผิดชอบในการป้องกันฝุ่น แต่บางอาคารกลับไม่สนใจ ใช้ตาข่ายผุ ถามว่า ใครจะทำดี ในเมื่อทำดีหรือไม่ดี ไม่มีใครสนใจ ดังนั้น เสนอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอาคารที่ดูแลการก่อสร้างมิดชิดเหมือนในต่างประเทศ รัฐคืนภาษีให้ เพื่อส่งเสริมให้มีการก่อสร้างอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนผู้ไม่รับผิดชอบต้องเสียภาษีมากขึ้น
“กฎหมายเกี่ยวกับภาษีทำได้ 2 ระดับ โดยหน่วยงานของรัฐและข้อบังคับ กฎกระทรวง หรือกฎหมายท้องถิ่นของ กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี ก็ทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่มีความสำคัญมากในเรื่องนี้ คือ หน่วยงานของรัฐ และเห็นว่าควรผลักดันการแก้ปัญหา Pm2.5 เป็นวาระแห่งชาติ”
นายกสภาวิศวกร ยังกล่าวอธิบายกรณีที่มีการระบุการก่อสร้างไม่ได้เป็นสาเหตุหลักในการเกิด PM2.5 แต่เกิด PM 10 เท่านั้น ว่าเวลามีการก่อสร้าง ต้องลำเลียงอุปกรณ์ อิฐ หิน ดิน ทราย ปูน เหล็ก มาด้วยรถบรรทุกและกระบะทั้งสิ้น หรือเครื่องจักรกลก่อสร้างขนาดใหญ่ กลุ่มเครื่องจักรกลแบบนี้ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และมีปัญหาการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น สิ่งที่กล่าวมานี้ปล่อย PM2.5 ทั้งสิ้น ฉะนั้นจะบอกว่า การก่อสร้างที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกันไม่ได้ .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/