“STSS เป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อสเตรป เอ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เว้นแต่บุคคลนั้นจะอ่อนแอหรือแบคทีเรียกลายพันธุ์จนก้าวร้าวและรุนแรงมาก แต่อาการคออักเสบโดยปกติแล้วไม่ค่อยพัฒนาเป็นโรค STSS”
ข่าวสาธารณสุขที่ถูกพูดถึงกันมาก ก็คือข่าว “แบคทีเรีย” กินเนื้อ ซึ่งมีต้นตอมาจากประเทศญี่ปุ่น ที่จนถึงบัดนี้การนำเสนอข่าวยังค่อนข้างสับสันว่าโรคนี้อันตรายหรือไม่อย่างไรกันแน่
จากกรณีดังกล่าวนั้นสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเสนอบทความจาก TodayOnline ซึ่งเป็นสื่อสิงคโปร์ที่ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับแบคทีเรียชนิดนี้รวมถึงผลกระทบเอาไว้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หน่วยงานว่าด้วยสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้มีการเตือนถึงกรณีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่ติดเชื้อสเตรปคอชนิดที่หายาก แต่ว่ามีอันตรายถึงชีวิต
จำนวนของผู้ที่มีอาการป่วยเนื่องจากว่ามีอาการติดเชื้อสเตรปโทคอกคัสที่เป็นพิษหรือ STSS พบว่ามีมากกว่า 600 รายไปแล้ว ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดรวมทั่วประเทศของปีที่แล้วที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 941 ราย
อัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2566 ซึ่งรัฐบาลกรุงโตเกียวอธิบายว่าเป็นอัตราการเสียชีวิตที่ "สูงมาก"
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้สูงอายุจะถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อนี้ แต่ข้อมูลล่าสุดจากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์นี้ทําให้ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 50 ปีเสียชีวิตมากขึ้น
รายงานข่าวจากสำนักข่าวการ์เดียนที่อังกฤษรายงานว่าระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2566 จากผู้ป่วยจำนวน 65 รายที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ประมาณหนึ่งในสามหรือ 21 คนเสียชีวิตจากการติดเชื้อ
สถานการณ์ในญี่ปุ่นได้ทำให้เกิดความกังวลในประเทศเอเชียอย่างน้อยหนึ่งประเทศ โดยเกาหลีเหนือกล่าวว่าจะไม่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกกับญี่ปุ่นเนื่องจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนี่เป็นเหตุให้ฟีฟ่าปรับเกาหลีเหนือแพ้ไป
คำถามสำคัญคือแบคทีเรียอะไรที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงนี้ และมันแตกต่างจากโรคคออักเสบทั่วไปอย่างไรบ้าง
ข่าวการระบาดในญี่ปุ่น (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
@อะไรคือ STSS และมันอันตรายแค่ไหน
อาการ STSS ส่วนมากเกิดจากแบคทีเรียชื่อว่าเชื้อสเตรปโตคอคคัส ไพโอจีเนส หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า สเตรป เอ
สเตรป เอ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ โดยส่วนใหญ่ไม่อันตรายถึงชีวิตและไม่รุนแรง แต่ว่าอาการ STSS นั้นถือว่าเป็นรูปแบบที่รุนแรงสุดและอาจถึงตายได้ สำหรับการติดเชื้อสเตรป เอ
ตามรายงานของเจแปนไทม์ส โรค STSS มักถูกขนานนามว่าโรคกินเนื้อ โดย นพ.พอล แทมเบียห์ ให้สัมภาษณ์ว่าคําอธิบายดังกล่าวเป็น "การทําให้เข้าใจง่าย" ว่าแบคทีเรียมีผลต่อผู้รับเชื้ออย่างไร
ในผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อสเตรป เอ แบคทีเรียสามารถผลิตสารพิษที่บุกรุกร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
“สําหรับพวกเราที่ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้มันค่อนข้างน่ากลัว กุญแจสําคัญคือการจัดการทีมที่ดีโดยมีแพทย์เฉพาะทางที่ทํางานอย่างใกล้ชิดกับแพทย์โรคติดเชื้อและศัลยแพทย์” นพ.แทมเบียห์กล่าว
ทางด้านของ นพ.ซู ลี่ หยาง รองคณบดีด้านสุขภาพระดับโลกที่วิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่าแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ไพโอจีเนส นั้นพบว่ามีผู้ใหญ่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และอาจถึงสองเท่าในเด็กที่กลายเป็นพาหะแบคทีเรียชนิดนี้
“ในกรณีส่วนใหญ่ไม่ได้ทำให้ก่อเกิดโรค ไม่ใช่ว่าแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ไพโอจีเนสทุกส่วนจะบรรจุยืนที่ทำให้สารซึ่งมีลักษณะเป็นพิษทำให้เกิดอาการ STSS” นพ.ซูกล่าว
นพ.ซูกล่าวว่าภายใต้เงื่อนไขบางประการเมื่อแบคทีเรียบุกรุกเข้าสู่ร่างกาย พวกมันจะผลิตสารพิษที่กระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างท่วมท้นหรือที่เรียกว่าภาวะน้ำตกไซโตไคน์
“การตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ ที่ทำให้เกิดอาการของโรค STSS และมันอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้” นพ.ซูกล่าวและกล่าวเสริมว่าแบคทีเรียแพร่กระจายส่วนใหญ่ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดและละออง
ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญกำลังพยายามหาคำอธิบายสาเหตุของการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของการติดเชื้อในญี่ปุ่น
สำนักข่าวการ์เดียนได้ลงความเห็นผู้เชี่ยวชาญบางคนไว้ โดยพวกเขาเชื่อว่าการที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเชื่อมโยงกับการผ่อนปรนข้อจำกัดที่เคยบังคับใช้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 และการลดการเฝ้าระวังทั้งไวรัสโคโรน่าและไข้หวัดตามฤดูกาล
สิ่งนี้ทําให้ประชาชนละทิ้งมาตรการพื้นฐานในการป้องกันการติดเชื้อ เช่น การล้างมือและการฆ่าเชื้อโรคเป็นประจํา
@อาการเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยที่มีอาการโรค STSS อาการสามารถพัฒนาไปได้ถึงอาการความดันโลหิตต่ำได้อย่างรวดเร็ว อวัยวะหลายส่วนล้มเหลว ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิต
จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐอเมริกาหรือว่าซีดีซี ผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค STSS เมื่อตรวจพบแบคทีเรียสเตรป เอ ขณะที่มีอาการเช่นความดันโลหิตต่ำหรือปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะตั้งแต่สองอวัยวะขึ้นไปรวมถึงไต ตับปอด เลือด ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
นพ.แทมเบียห์ กล่าวเสริมว่าอาการเพิ่มเติมจะเหมือนกับภาวะติดเชื้อ — มีไข้ อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ สับสน อย่างไรก็ตามยังไม่มีการใช้การทดสอบเพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยนั้นป่วยโรค STSS หรือไม่
แต่ว่าแพทย์จะใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อสเตรป เอ แทน จากนั้นจึงทําการทดสอบหลายชุดเพื่อตรวจสอบว่าอวัยวะต่างๆ ทํางานได้ดีเพียงใด
ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานกล่าวว่าในทางปฏิบัติแล้วพวกเขายังไม่พบกรณีของผู้ป่วยโรค STSS ที่มีอายุอยู่ในช่วง 10-20 ปี
“STSS เป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อสเตรป เอ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เว้นแต่บุคคลนั้นจะอ่อนแอหรือแบคทีเรียกลายพันธุ์จนก้าวร้าวและรุนแรงมาก แต่อาการคออักเสบโดยปกติแล้วไม่ค่อยพัฒนาเป็นโรค STSS” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
อาการผู้เป็นโรค STSS (อ้างอิงวิดีโอจาก Life More)
ควรระวังอะไรบ้าง?
นพ.ซูกล่าวว่าการป้องกันการติดเชื้อสเตรป เอ หรือการติดเชื้ออื่นๆ บุคคลนั้นควรมีการปฏิบัติตามสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้เมื่อถามว่าชาวสิงคโปร์ควรตื่นตัวหรือไม่ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม นพ.ซูกล่าวว่าไม่น่ามีความเสี่ยงและไม่น่าจะนำไปสู่การระบาดใหญ่
"เรามีแบคทีเรียในสิงคโปร์เช่นกัน แม้ว่าการติดเชื้อที่รุนแรงจะหายากมากที่นี่ แต่เราต้องติดตามการสืบสวนและการตอบสนองของญี่ปุ่น" นพ.ซูกล่าว
ขณะที่นพ.แทมเบียห์กล่าวว่ากุญแจสำคัญที่สุดก็คือการไปพบแพทย์ทันทีหากคุณรู้สึกว่าไม่สบาย