WHO ยืนยันการหาต้นตอโควิด-19เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อป้องกันเหตุระบาดในอนาคต หลัง กระแสสังคมกดดันหนักชี้ไวรัสอาจมีต้นตอจากจีน ขณะทีมวิจัยสหรัฐฯเผย หนูจากนครนิวยอร์กอาจกลายเป็นแห่งแพร่เชื้อโควิดในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศว่าที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีการออกมาประกาศว่าการสืบหาต้นตอของโควิดนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นทางศีลธรรมและต้องมีการสำรวจสมมติฐานให้ทั่วทั้งหมด ดังนั้น WHO จะยังเดินหน้าต่อไปเพื่อค้นหาว่าไวรัสเกิดขึ้นได้อย่างไร
อนึ่งก่อนหน้านี้สำนักข่าวเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลของสหรัฐอเมริกาได้มีการประเมินว่าการระบาดใหญ่นั้นน่าจะเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของไวรัสจากห้องปฏิบัติการณ์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนโดยไม่ได้ตั้งใจ นี่ส่งผลทำให้เกิดการกดดันต่อ WHO ว่าจะต้องเร่งหาคำตอบ ขณะที่กรุงปักกิ่งก็ออกมาปฏิเสธรายงานดังกล่าว โดยคาดกันว่าอีกไม่นานนี้รายงานผลการประเมินเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานของต้นตอจากไวรัสที่ว่ามาจากประเทศจีนนั้นจะถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติให้มีการเปิดเผยข้อมูลนี้
“การทําความเข้าใจต้นกําเนิดของ#COVID19 และการสํารวจสมมติฐานทั้งหมดยังคงอยู่ ความจําเป็นทางวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยเราป้องกันการระบาดในอนาคต และความจําเป็นทางศีลธรรมเพื่อประโยชน์ของผู้คนนับล้านที่เสียชีวิตและผู้ที่อาศัยอยู่กับภาวะลองโควิด เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องหาต้นตอของมัน” นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ระบุผ่านทวิตเตอร์
ส่วนสถานการณ์เกี่ยวกับโควิดอื่นๆมีรายงานว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิจัยจากหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯร่วมกับสถาบันชื่อดังอื่นๆจำนวนหนึ่งทำการศึกษาประชากรหนูในมหานครนิวยอร์กเพื่อดูถึงความเป็นไปได้ของการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19จากสัตว์สู่คน
โดยในผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์เผยแพร่วันที่ 9 มี.ค. ภายใต้ชื่อ "SARS-CoV-2 Exposure in Norway Rats (Rattus norvegicus) from New York City" พบว่าทีมวิจัยศึกษา หนูนอร์เวย์(Norway rat) ที่รู้จักในชื่อ "หนูท่อ" ซึ่งหนูชนิดนี้ชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำ และบริเวณที่มีกองขยะ มีชื่อเรียกขานหลายชื่อตามแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งที่ออกหากิน เช่น หนูท่อ หนูขยะ หนูท่าเรือ เป็นต้น ปกติชอบขุดรูอาศัยในดินใกล้กองขยะ ใต้ถุนบ้าน หรือสนามบ้าน ที่ปากรูมีขุยดินกองใหญ่หรือพบอาศัยในท่อระบายน้ำในแหล่งชุมชน ตามตลาด
ผลการวิจัยอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 13 ก.ย 2564 และวันที่ 16 พ.ย 2564 ที่วิกฤตโควิด-19กำลังระบาดอยู่ในพื้นที่ ทีมวิจัยได้ทำการจับหนู 79 ตัวจาก 3 จุดในเมืองบรุ๊คลิน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสวนสาธารณะบรุ๊คลิน
พบข้อมูลว่าหนู 15 ตัวจากทั้งหมดคิดเป็น 19% แสดงหลักฐานพบติดไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่ง 2 ตัวจากทั้งหมดติดเชื้อในช่วงเวลาของการศึกษาถึงแม้ว่าพวกมันจะไม่แสดงอาการอย่างเด่นชัด อ้างอิงจากนักไวรัสวิทยาประจำมหาวิทยาลัยมิสซูรี ซิว-เฟง “เฮนรี” หว่าน (Xiu-Feng "Henry" Wan) ที่อยู่ในทีมการวิจัย
และจากสายพันธุ์ทั้งหมดได้แก่ อัลฟา เดลตา และโอมิครอน พบว่าหนูนิวยอร์กนั้นสามารถติดเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ แต่ทว่าเหมือนเช่นพบในมนุษย์ สายพันธุ์เดลตานั้นสามารถแบ่งตัวแพร่พันธุ์ได้มีประสิทธิภาพกว่าสายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์โอมิครอน
ข้อมูลการวิจัยที่ถูกวิเคราะห์โดยหนังสือพิมพ์แอลเอไทม์สกล่าวว่า ผลการค้นพบชี้ไปว่า หนูกำลังจะกลายเป็นแหล่งเชื้อโควิด-19 ให้กับชาวมหานครนิวยอร์กในอนาคต
เรียบเรียงจาก:https://www.hindustantimes.com/world-news/coronavirus-covid-in-new-york-rats-in-new-york-city-can-carry-covid-variants-new-study-shows-101678529312575.html,https://www.voanews.com/a/who-s-tedros-finding-covid-19-s-origins-is-moral-imperative/7001105.html