จับตา ศปก.ศบค. ถก คลายล็อกเปิดสถานบันเทิง ขณะที่ สธ.ชงข้อเสนอ ตรวจ ATK 24 ชม.ก่อนใช้บริการ พนักงาน-ลูกค้าฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม แต่ยังห้ามเต้นรำ-เด็กนั่งดริ๊งค์ คาดชง ศบค.ชุดใหญ่ ศุกร์นี้
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (อีโอซี) ของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการพิจารณาร่างมาตรการเข้มงวดด้านสาธารณสุขในการป้องกันโควิด สำหรับสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยจะมีข้อเสนอให้กลับมาเปิดให้บริการ และนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องผ่านการประเมินจาก Thai Stop Covid 2Plus ของกรมอนามัย และขออนุญาตเปิดดำเนินการต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต่อไป
นอกจากนั้นยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในการควบคุมโรค อาทิ นักร้อง นักดนตรี พนักงาน ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม หรือได้รับวัคซีน 2 เข็มภายใน 3 เดือน ตรวจ ATK ทุก 3 วัน และปฏิบัติการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ขณะที่ผู้ใช้บริการจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม หรือได้รับวัคซีน 2 เข็มภายใน 3 เดือนเช่นกัน และให้แสดงผล ATK ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว ยังกำหนดให้มีการงดจัดพื้นที่เต้นรำส่วนกลาง งดบริการเครื่องดื่มที่มีการใช้แก้วเดียวกัน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการให้บริการสัมผัสใกล้ชิด เช่น พนักงานบริการนั่งดริ๊งค์หรือเอนเตอร์เทนลูกค้า พนักงานเชียร์เบียร์ รวมถึงการให้บริการนวดสัมผัสในห้องน้ำ เป็นต้น
สำหรับกรณี ที่มีการเรียกร้องให้คลายล็อคเพื่อผ่อนมาตรการ โดยเฉพาะการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่คาดว่าจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อกลั่นกรองเรื่อง ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าที่ประชุมชุด ศบค.ใหญ่หรือไม่ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 17 มี.ค.นี้
นอกจากนั้นในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน จะมีวาระที่สำคัญในการหารือเพื่อเตรียมผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม กรณีมาตรการการเดินทางเข้าประเทศในเรื่องการตรวจหาเชื้อ และมีการรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่ขณะนี้ ไม่มีอะไรที่น่ากังวล ถึงแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกวัน แต่ก็จะไม่ส่งผลต่อการพิจารณามาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแต่อย่างใด