‘ประภัตร’ เก็งข้อสอบถูกฝ่ายค้านซักฟอกปมโรคระบาดโค-หมู เยียวยา ‘ลัมปี สกิน’ 1 ปียังไม่เสร็จ ล่าช้าอยู่ที่กรมบัญชีกลาง คาด เม.ย.เคลียร์จบ ส่วนโรค ASF จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร 4 ล็อตจบ 15 ก.พ.นี้ เตรียมเสนอ ครม.ของบเพิ่ม 400 ล้าน ชดเชยการฆ่าหมูอีก 9 หมื่นตัว เผย ‘บิ๊กตู่’ ช่วยแจงทุกเรื่องด้วยตัวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ในวันที่ 17-18 ก.พ.นี้ ว่า ตนคาดการณ์ว่าจะมีการอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตน 2 เรื่อง คือ 1.ปัญหาการจ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ที่ได้รับผลกระทบสัตว์ตายจากโรคลัมปี สกิน ล่าช้า และ 2.ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ซึ่งทั้ง 2 ประเด็น ตนได้เคยชี้แจงผ่านสื่อมวลชนและสภาผู้แทนราษฎรมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ส่วนการชี้แจงในการอภิปรายครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะร่วมชี้แจงรายละเอียดด้วยตนเองด้วย
นายประภัตร กล่าวว่า สำหรับโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ไทยเริ่มพบครั้งแรกช่วงเดือน มี.ค.2564 โดยกรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงได้มีการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย โดยข้อมูล ณ วันที่ 11 ก.พ.2565 พบว่า มีเกษตรกรส่งเอกสารขอรับความช่วยเหลือแล้ว 49 จังหวัด รวม 58,474 ราย โค-กระบือ 64,913 ตัว วงเงินรวม 1,331.74 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตนได้เสนอให้มีการแก้ไขระเบียบ เพื่อเพิ่มอัตราการให้ความช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายด้วยโรคลัมปี สกิน อาทิ วัว จากเดิมชดเชย ตัวละ 6,000 บาทปรับเป็น 13,000 บาท กระบือจากตัวละ 8,000 บาท ปรับเป็น 15,000 บาท ประกอบการเบิกจ่ายมีรายละเอียดหลายขั้นตอน ส่งผลให้เพิ่งมีการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรแล้ว 15,014 ราย วงเงิน 357.06 ล้านบาท และมีเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการช่วยเหลืออีก 35,225 ล้านบาท วงเงิน 820.44 ล้านบาท ส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ และเรื่องติดอยู่ที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรกลุ่มนี้ครบทั้งหมดภายในเดือน เม.ย.2565
นายประภัตร ยังกล่าวถึงปัญหา ASF ในสุกรว่า เรื่องนี้มีการช่วยเหลือเยียวยาโดยใช้งบประมาณจาก 2 ส่วน คือ จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกร และการอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อใช้เป็นค่าชดเชยการทำลายสุกรจากการติดโรคดังกล่าว ปัจจุบันมีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว 3 ครั้ง และคาดว่าครั้งสุดท้ายจะดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 15 ก.พ.2565 ในภาพรวมมีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือ 9,790 ราย สุกร 301,442 ราย วงเงินรวม 1,131.71 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตร อย่างไรก็ตาม ตนยังได้รับรายงานจากกรมปศุสัตว์ ว่ายังมีเกษตรได้รับผลกระทบจากโรค ASF อีกจำนวนหนึ่ง ครอบคลุมสุกรอีก 8-9 หมื่นตัว ทำให้คาดว่าจะต้องมีการใช้เงินเยียวยาอีกประมาณ 400 กว่าล้านบาท โดยตนจะนำเสนอขอความเห็นชอบ ครม.ช่วง ก.พ.-มี.ค.นี้
“เรื่องนี้ต้องชมเชยท่านนายกรัฐมนตรี ด้วยความเมตตาของท่านในการสั่งการ พอเรื่องมาถึง ท่านก็สั่งทันที ไม่ได้มีการยับยั้ง ทำให้แก้ปัญหาได้เร็ว ก็ต้องขอบคุณแทนประชาชนด้วย” นายประภัตร กล่าว
นายประภัตร กล่าวอีกว่าขณะนี้คนสนใจว่าหมูยังขาดตลาดอีกหรือไม่ ตนพูดตั้งแต่วันแรก และเป็นคนเดียวที่ยืนยันว่าหมูไม่ขาด มันต้องเกิดเหตุกักตุนแน่นอน หมูที่เราเลี้ยงอยู่ปี 2564 มี 19 ล้านตัว บริโภคไป 18 ล้านตัว ส่งออก 1 ล้านตัว เหตุดังกล่าวที่เกิดขึ้น อยู่ในช่วงธันวาคม ช่วงสิ้นปีและตรุษจีน ก็เป็นเทคนิคของเขาที่ทำให้หมูขาดตลาด ทั้งที่หมูเพียงพอบริโภค เพราะข้อมูลการเคลื่อนย้ายหมูทั้งหมดเรารู้อยู่แล้ว เมื่อเป็นปัญหาบอกว่าหมูขาด ก็เกิดการฉวยโอกาสขึ้นราคา อย่างไรก็ตาม ไทยมีผลผลิตหมูประมาณ 19 ล้านตัว มีคนเลี้ยง 190,000 ราย เป็นรายย่อยที่เลี้ยงหมูไม่เกิน 50 ตัว จำนวน 186,000 ราย ซึ่งกลุ่มนี้มีหมูไม่ถึง 4 ล้านตัว ส่วนที่เหลือ 15 ล้านตัวอยู่กับพ่อค้ารายใหญ่ทั้งหมด ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยหายไป 1 แสนราย ซึ่งหลังจากนี้เรามีแผนที่จะฟื้นรายย่อยกลับมาให้ได้
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐปกปิดข้อมูลโรคระบาด ASF นายประภัตร กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้ชี้แจงรายละเอียดต่อสภาผู้แทนราษฎรไปก่อนหน้านี้ หมูมีอยู่ 3 โรค คือ โรค ASF , โรคเพิร์ส และ โรคอหิวาต์หมู ทั้ง 3 โรคนี้ หมูมีอาการคล้ายกันหมด เมื่อกรมปศุสัตว์นำซากหมูเข้าห้องแล็บ ก็ไม่เจอโรค ASF เจอแต่โรคเพิร์ส ตนก็ต้องฟังเขา เพราะตนไม่ใช้นักวิชาการ แต่บังเอิญแล็บมหาวิทยาลัยเจอโรคนี้ ก็เป็นเรื่องที่โต้กันทางวิชาการต่อไป
“ผมก็อธิบายให้เห็นว่า 3 โรคนี้มันคล้ายกันหมด มีอาการและการแพร่กระจายโรคเหมือนกันหมด ผมเป็นผู้กำกับดูแลจริง แต่ผมได้รับรายงานมาแบบนี้ ก็ต้องตอบตามเขา ส่วนเรื่องทางวิชาการก็เป็นเรื่องที่ระดับหน่วยงานจะต้องชี้แจงต่อไป” นายประภัตรกล่าว