ป่วยโควิด 17,970 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 633,284 ราย รักษาตัวอยู่ใน รพ. 208,875 ราย เสียชีวิต 178 ราย ในจำนวนนี้ กทม.พุ่ง 68 ราย-ตายที่บ้าน 5 ราย ขณะที่พบคลัสเตอร์ใหม่ 7 แห่ง ใน 6 จังหวัด ตลาดโกลเด้นเกตติด จ.สระแก้ว ติดเชื้อ 231 ราย พร้อมยันสหรัฐฯบริจาค'ไฟเซอร์'ให้ไทย 1,503,450 โดส
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวัน โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,970 ราย ติดเชื้อในประเทศ 17,784 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 13,567 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 4,217 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ 175 ราย และอีก 11 ราย เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 633,284 ราย หายป่วยเพิ่ม 13,919 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 208,875 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 4,768 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,028 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 178 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 5,168 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิต 178 ราย มาจาก กทม. และปริมณฑล รวม 112 ราย 4 จังหวัดชายแดนใต้ รวม 9 ราย จังหวัดอื่น (67จังหวัด) 57 ราย โดยมีอายุระหว่าง 17-94 ปี และในจำนวนนี้มีเสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย แบ่งเป็น กทม. 2 ราย ปทุมธานี ร้อยเอ็ด และสุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย
โดยปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ประกอบด้วย HT DM ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคปอด ติดเตียง และไม่มีโรคประจำตัว 25 ราย ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มาจากในครอบครัว คนอื่นๆ ได้แก่ เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล อาศัยหรือเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด เข้าไปในสถานที่แออัดพลุกพล่าน และมีอาชีพเสี่ยง เช่น ค้าขาย ไปรษณีย์
โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุด ตามลำดับ ได้แก่ กทม. 3,144 ราย สมุทรสาคร 1,252 ราย ชลบุรี 1,141 ราย สมุทรปราการ 872 ราย นนทบุรี 743 ราย สระบุรี 486 ราย ฉะเชิงเทรา 465 ราย นครราชสีมา 457 ราย ปทุมธานี 454 ราย และระยอง 403 ราย
ด้านผู้ป่วยรายใหม่ที่เดินทางมาจากจากต่างประเทศ ทั้งหมด 11 ราย แบ่งเป็น สหราชอาณาจักร 1 ราย กาตาร์ 1 ราย กัมพูชา 2 ราย เมียนมา 7 ราย
ขณะที่ การกระจายวัคซีนในประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค.2564 พบผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เพิ่มเติม จำนวน 152,171 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 28,381 ราย รวมสะสมผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 17,866,526 ราย แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 13,955,087 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 3,911,439 ราย
@ CCRT ลงพื้นที่รวมกว่า 2 พันชุมชน พบเชื้อ 2,471 ฉีดวัคซีนแล้ว 2,515 ราย
สำหรับสถานการณ์การระบาดใน กทม. พญ.อภิสมัย กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,144 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 158,165 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 68 ราย รวมสะสม 2,527 ราย คิดเป็น 1.60%
มีผลการดำเนินงานโดยกลุ่ม CCRT ระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-1 ส.ค.2564 ระบุว่า ลงพื้นที่เพิ่ม 33 ชุมชน รวมสะสม 2,059 ราย ตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit เพิ่มอีกจำนวน 502 ราย พบเชื้อ 41 ราย รวมสะสม 2,471 ราย ส่งเข้าสู่ระบบการรักษาเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ ฉีดวัคซีนแล้ว 2,515 ราย แบ่งเป็น ผู้สูงวัย 1,369 ราย ผู้บริโภคประจำตัว 1,138 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 8 ราย สะสม 75,158 ราย
@ พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่ กระจาย 6 จังหวัด-'ตลาดโกลเด้นเกต' จ.สระแก้ว ติดเชื้อ 231 ราย
สำหรับสถานการณ์การระบาดในต่างจังหวัด พบคลัสเตอร์ใหม่ 7 แห่ง กระจาย 6 จังหวัด ติดเชื้อรวม 333 ราย ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานแม่พิมพ์พลาสติก อ.เมืองสมุทรสาคร ติดเชื้อ 15 ราย และพบคลัสเตอร์ใหม่ในบริษัทรถยก อ.เมืองสมุทรสาคร ติดเชื้อ 10 ราย
จังหวัดนนทบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในแคมป์ก่อสร้าง อ.ปากเกร็ด ติดเชื้อ 26 ราย จังหวัดฉะเชิงเทรา พบคลัสเตอร์ใหม่ในบริษัทโลหะขึ้นรูป อ.เมืองฉะเชิงเทรา ติดเชื้อ 17 ราย จังหวัดสระแก้ว พบคลัสเตอร์ใหม่ในตลาดโกลเดนท์เกต อ.อรัญประเทศ ติดเชื้อ 231 ราย จังหวัดปราจีนบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในบริษัทชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ อ.ศรีมหาโพธิ์ ติดเชื้อ 16 ราย และจังหวัดชุมพร พบคลัสเตอร์ใหม่ในแผงผลไม้ อ.หลังสวน ติดเชื้อ 18 ราย
@ ยืนยันสหรัฐฯบริจาค 'ไฟเซอร์' ให้ไทย 1,503,450 โดส
ด้าน พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงจำนวนจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริการอีกว่า ตามที่ข่าวได้ออกมาก่อนหน้านี้ว่าประเทศไทยจะได้รับจัดสรร 1.54 ล้านโดส แต่ในการส่งมอบจริง เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ไทยได้รับ 1,503,450 โดส ซึ่งตัวเลขการส่งมอบนี้เมื่อไปเช็คกับทางสถานทูตสหรัฐอเมริกา พบว่าตรงกัน
โดยการจัดสรรวัคซีนดังกล่าว จะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 จัดสรรให้กับกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในไทย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และกลุ่มผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศเป็นผู้รวบรวมรายชื่อกลุ่มชาวต่างชาติที่พำนักในไทย และกลุ่มที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเข้ารับวัคซีน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศรายงานด้วยว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา ได้มีการฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติแล้วกว่า 200,000 โดส
@ ยกเว้นให้รถบรรทุกก๊าซออกซิเจน เดินรถกทม.และปริมณฑล-ขึ้นทางด่วนได้
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า กรณีพบการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นถนนบางสาย ในบางช่วงเวลาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือห้ามใช้ทางพิเศษ ซึ่งทำให้การขนส่งออกซิเจนยากลำบาก ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา จึงได้มีการยกเว้นข้อบังคับในการขนส่งก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ และก๊าซอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อช่วยเหลือประชาชน และทำให้การขนส่งก๊าซทางการแพทย์ปฏิบัติงานได้ โดยที่เจ้าพนักงาน ทั้งในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะช่วยอำนวยความสะดวกให้
@ ย้ำ ATK เป็นอุปกรณ์การแพทย์ ไม่ให้ซื้อผ่านออนไลน์-ตลาดนัด-ร้านสะดวกซื้อ
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมแถลงข่าวรายงานสถานการณ์โควิดในประเด็นการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุด Antigen Test Kit ด้วยว่า ขณะนี้ชุดตรวจดังกล่าวเป็นเครื่องมือแพทย์ ยังไม่อนุญาตให้ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ร้านสะดวกซื้อ หรือตลาดนัด ดังนั้นขอให้ประชาชนซื้อที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ เนื่องจากต้องมีการตตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบที่มา และต้องมีคำอธิบายการใช้งานเพื่อประชาชนเข้าใจ
สำหรับการติดเชื้อโควิด โดยธรรมชาติไวรัสจะค่อยๆเพิ่มในร่างกายขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็จะทำร้ายต่ออวัยวะเรามากน้อยแล้วแต่บุคคล ซึ่งสิ่งที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาออกมาให้เราได้ทราบว่าติดเชื้อ คือ ภูมิคุ้มกันที่ออกมาจากภายใน ดังนั้นในการตรวจหาเชื้อไวรัส เราไม่ได้ตรวจหาไวรัสโดยตรง แต่เราตรวจส่วนที่เป็นองค์ประกอบไวรัส ที่เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะพบแอนติเจนเพิ่มขึ้นในร่างกาย
"สรุปง่ายๆ คือ ถ้าท่านรับเชื้อมาเมื่อวานแล้วท่านไปตรวจด้วยวิธีไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น RT-PCR หรือชุดตรวจอย่างง่าย Antigen Test Kit จะไม่สามารถเจอได้" นพ.ศุภกิจ กล่าว
แต่ในการใช้งานด้วย Antigen Test Kit นั้น ส่วนใหญ่การตรวจแล้วพบเชื้อจะอยู่ในช่วงประมาณ 5 วัน การตรวจเร็วไปโอกาสเจอจะน้อย อย่างไรก็ตามโอกาสในการเกิดผลลวงของ Antigen Test Kit สามารถเกิดขึ้นได้ โดยอาจเกิด ผบลบลวง เนื่องมาจาก ณ ช่วงที่ตรวจตัวเราอาจมีเชื้อน้อยอยู่ หรืออาจเกิดผลบวงลวง เนื่องจาก ขณะที่ใช้ตลับทดสอบวางในจุดที่ปนเปื้อน หรือท่านอาจติดเชื้อไวรัสอื่น ซึ่งตลับทดสอบไม่สามารถแยกได้ เป็นต้น
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่ตรวจเจอผลลบ จึงอยากให้เคร่งครัดในการแยกกักตัวก่อนก่อนจะตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่สำหรับผู้ตรวจเจอผลบวกลวงสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้เลย โดยอาจแจ้ง 1330, โรงพยาบาล หรือคลินิกอบอุ่น ซึ่งท่านจะได้รับการประเมินอาการและได้รับการส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษาตามอาการนั้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำอีกว่า ในการซื้อชุดตรวจนั้นจะมีหลากหลายแบบขอให้เลือกชุดตรวจสำหรับการใช้เอง หรือ Home Use ซึ่งจะเป็นการตรวจหาเชื้อผ่านโพรงจมูก น้ำลาย หรือทั้งสองแบบ โดยขณะนี้มีอยู่ 19 ยี่ห้อที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้หากเจอการตรวจหาเชื้อผ่านหลังโพรงจมูก ขอให้ท่านทราบว่าแบบนี้เป็นการตรวจหาเชื้อโดยบุคลากรการแพทย์ ขอให้หลีกเลี่ยงการเลือกซื้อ
@ ปรับบริการสายด่วน ส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาช่องทางเดียวผ่าน 1330 เว้นอาการหนักติดต่อ 1669
ขณะที่ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวต่อในประเด็นหลังการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ว่า สำหรับประชาชนที่ตรวจพบเชื้อสามารถเข้าสู่ระบบบริการผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้
1. ตรวจที่โรงพยาบาล แล้วพบเชื้อ ทางโรงพยาบาลจะนำท่านเข้าสู่ระบบบริการตามระดับอาการ หากเป็นผู้ป่วยสีเขียว คือ ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ทางโรงพยาบาลจะให้ลงทะเบียน มอบกล่องอุปกรณ์ดูแลตัวเองได้ มีการแลกช่องทางติดต่อทางไกลให้ ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและแดง จะถูกนำส่งเข้าโรงพยาบาลสนามที่มีเตียงรองรับทั้งหมด 7,000 กว่าเตียง ฮอสพิเทล 120 แห่ง มีเตียงรองรับ กว่า 35,000 เตียง และโรงพยาบบาลหลัก 132 แห่งที่มีเตียงไอซียูกว่า 4 ,000 เตียง ตามระดับอาการ
2. ตรวจเชิงรุกด้วยทีม CCRT ทีม จำนวน 226 ทีม หากทางเจ้าหน้าที่ตรวจพบเชื้อ หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวจะนำประชาชนเข้าสู่ระบบบริการ Home Isolation หรือ Community Isolation และหากเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงจะนำเข้าโรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลักเช่นเดียวกับกรณีข้างต้น
3. ตรวจหาเชื้อเองที่บ้าน แล้วพบเชื้อ และโทรแจ้งสายด่วนสำนักงานหลักประกันเพื่อสุขภาพ (สปสช.) 1330 กด 14 แอปพลิเคชันไลน์ สปสช. หรือผ่านเว็บไซต์ สปสช. https://crmsup.nhso.go.th ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ สปสช.ติดต่อกลับภายในวันที่ประชาชนแจ้งเข้ามา อย่างไรก็ตามสามารถแจ้งผลการติดเชื้อโทรไปยังสำนักงานเขตแต่ละเขตได้เช่นเดียวกัน ซึ่งทางเขตจะใช้ระบบบันทึกข้อมูลของประชาชน เข้าไปในระบบเดียวกับ สปสช.
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการโทรหาเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา เดิมจะโทรได้หลายช่องทาง แต่ในปัจจุบันได้เปิดให้เหลือเพียงช่องทางเดียว คือ สายด่วน สปสช. 1330 ทาง สปสช.จึงได้เตรียมความพร้อมเพิ่มคู่สายมาเป็น 3,000 คู่สาย และเพิ่มผู้รับสายเข้ามาอีก 500 คน เพื่อรองรับการโทรเข้ามาของประชาชน ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้รอเข้ารับการรักษา หรือมีอยู่ดีๆ เกิดอาการป่วยหนักด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม ขอให้โทรผ่านสายด่วน 1669 ได้ทันที เพื่อส่งประชาชนเข้าไปสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด
@ ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 466,039 รวมสะสม 199.01 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 466,039 ราย รวม 199,013,612 ราย อาการหนัก 90,488 ราย หายป่วย 179,619,416 ราย เสียชีวิต 4,240,371 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 21,768 ราย รวม 35,768,924 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 64 ราย รวม 629,380 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 40,784 ราย รวม 31,695,368 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 424 ราย รวม 424,808 ราย บราซิล พบเพิ่ม 20,503 ราย รวม 19,938,358 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 449 ราย รวม 556,886 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 42 ของโลก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/