จุฬาฯ เปิดตัวซีรี่ส์หุ่นยนต์สู้โควิดฯ CU-RoboCOVID 103 ชุด งบฯ กว่า 5 ล. นำทีมโดย หุ่นปิ่นโต ส่งอาหาร-เวชภัณฑ์ ลดภาระเเพทย์พยาบาล เลี่ยงติดเชื้อไวรัส ล็อตเเรก 20 ชุด ส่งมอบให้ รพ. 3 เเห่ง อีกกว่า 50 เเห่ง รอสนับสนุน
วันที่ 7 เม.ย. 2563 สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวหุ่นยนต์ CU-RoboCOVID จำนวน 103 ชุด มูลค่า 5,150,000 บาท นำทีมโดยหุ่นยนต์ ชื่อ PINTO หรือปิ่นโต ส่งอาหารเเละเวชภัณฑ์ระยะไกล มอบให้เเก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ สำหรับใช้ในระหว่างมีการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ณ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า PINTO เป็นหุ่นยนต์ซีรีส์หนึ่งของ CU-RoboCOVID ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาหุ่นยนต์เเละอุปกรณ์สนับสนุนการเเพทย์เพื่อส่งไปช่วยหมอสู้ภัยโควิดฯ ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ เเบ่งเบาภาระงาน เเละช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้บุคลากรทางการเเพทย์ ทำให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเหลือเเพทย์ 3 ชุดหลัก ได้เเก่ หุ่นยนต์ส่งของ (Remote Control Delivery Robot) หุ่นยนต์สื่อสารทางไกล (Telepresence Robot) เเละหุ่นยนต์เครื่องช่วยหายใจ (Ambu Bag)
สำหรับหุ่นยนต์ส่งของ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ระบุเป็นหุ่นยนต์ส่งอาหารเเละเวชภัณฑ์ระยะไกลที่ติดตั้งด้วยระบบTelepresence โดยทำหน้าที่ส่งอาหารเเละเวชภัณฑ์ไปยังห้องผู้ป่วย พร้อมมีระบบภาพสื่อสารทางไกลที่ใช้งานง่าย ช่วยลดความเสี่ยงโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เเละยังอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการเเพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีซีรี่ส์น้องกระจก (Quarantune Telepresence) เป็นหุ่นยนต์เเท็บเล็ตที่นำไปไว้ที่ห้องผู้ป่วย ทำหน้าที่สอดส่องดูเเลเเละพูดคุยกับผู้ป่วย โดยไม่ต้องกดรับสาย เเละผู้ป่วยยังสามารถกดเรียกหาพยาบาลได้ เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อเเละลดอัตราการใช้อุปกรณ์ทางการเเพทย์ลง ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เเพทย์เเละพยาบาลได้อย่างดี
ส่วนหุ่นยนต์นินจา เป็นซีรี่ส์ช่วยสื่อสารทางไกลระหว่างเเพทย์กับผู้ป่วยโควิดฯ ผ่านระบบ Video Conference โดยที่เเพทย์ พยาบาล ยังสามารถพูดคุย โต้ตอบ สอบถามอาการกับผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine โดยไม่ต้องเข้าไปในหอผู้ป่วย เเละยังสามารถควบคุมเเละสั่งการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล เเละที่มากไปกว่านั้น หุ่นยนต์ชุดนี้ยังเชื่อมอุปกรณ์วัดเเละบันทึกสัญญาณชีพต่าง ๆ เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิ เเละส่งข้อมูลไปให้เเพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการได้ทันทีด้วย
คณะผู้บริหาร จุฬาฯ กับหุ่นยนต์ปิ่นโต
ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ เปิดเผยถึงเเนวคิดในการจัดหาหุ่นยนต์ เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงของเเพทย์เเละพยาบาล ตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางบุคคล จึงจัดหาจำนวน 103 ชุด ในโอกาสครอบ 103 ปี เเห่งการสถาปนาจุฬาฯ โดยในเบื้องต้นอนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมเร่งผลิตหุ่นยนต์ PINTO จำนวน 20 ชุดเเรก ออกมาเเละพร้อมใช้งานจริง เเละส่งมอบเเล้วให้เเก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2 ชุด โรงพยาบาลศิริราช 2 ชุด เเละโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต 4 ชุด
ขณะเดียวกันมีโรงพยาบาลอีกหลายเเห่งทั่วประเทศประสานเข้ามาขอรับการสนับสนุนอีกไม่ต่ำกว่า 50 โรง สนจ. จึงจัดทำเเคมเปญเร่งด่วน ชื่อว่า หุ่นยนต์เซฟหมอ หมอเซฟเรา เราเซฟหมอ เพื่อขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเเละภาคีเครือข่าย จนได้เงินมาจัดซื้อครบ 103 ชุด เเละเร่งส่งมอบให้โรงพยาบาลภายในเม.ย. นี้ โดยสามารถบริจาคผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสยามสเเควร์ ชื่อบัญชี สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-เงินรองจ่าย เลขที่บัญชี 038-202810-6 เเละโอนสลิปหรือเเจ้งทาง สนจ. เพื่อขอรับใบเสร็จรับเงินต่อไป .
(ซ้าย) หุ่นยนต์นินจา -(ขวา) น้องกระจก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/