“...เด็กไทย 81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง และ 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน wi-fi ที่บ้าน ซึ่งการมีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองนั้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจนำไปสู่การเสพติดอินเทอร์เน็ตหรือเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 40%...”
ในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ต ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพก็ว่าได้ เป็นทางเชื่อมต่อให้เราเข้าถึงโลกออนไลน์ เกิดการสื่อสารไร้พรมแดน เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ คลังข้อมูลที่ไม่มีที่สิ้นสุด และในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นตัวเร่งให้ชีวิตหลายๆ ด้านต้องเกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งในโลกมักมีสองด้านเสมอ เฉกเช่นเดียวกันเหรียญ ไม่เว้นแม้ว่า โลกออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ต ที่ก็สามารถให้โทษได้ หากใช้อย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชนที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเท่าทัน จนอาจตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาผลประโยชน์หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘พอกันทีกรูมมิ่ง : Child Grooming ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ’
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนใช้สมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ขณะที่ครอบครัวและสังคม ยังไม่มีเครื่องมือหรือกลไกช่วยผู้ปกครองดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้องมีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) ทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยออนไลน์ ทำงานร่วมกับฝ่ายนโยบาย หน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กและเยาวชนที่ต้องใช้โลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย
“การส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เชื่อว่าจะรับมือกับภัยออนไลน์รูปแบบใหม่ที่กำลังคุกคามเด็กและเยาวชนได้ ฉะนั้น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ทำงานคุ้มครองเด็ก ยังเป็นประเด็นเร่งด่วน ที่จะต้องเสริมกำลัง พัฒนาศักยภาพสหวิชาชีพ สู่การทำงานป้องกันเชิงรุก” นายอนุกูล กล่าว
ทางด้าน นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าว ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเผชิญกับภัยและความเสี่ยงจากการใช้สื่อออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันกลไกกำกับดูแลความปลอดภัยในระบบสื่อ ยังก้าวไม่ทันตามความเปลี่ยนแปลงภายใต้สื่อยุคดิจิทัล โดยข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ปี 2564 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า เด็กและเยาวชน กลุ่มเจน Z อายุ 10 – 25 ปี ใช้เวลากับสื่อออนไลน์ 35 ชั่วโมง/วัน ทั้งที่ปกติไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมง/วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เรียบเรียงข้อมูล จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 ระหว่างเดือน พฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี จำนวน 31,965 คน เพื่อให้ทราบพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ภัยและความเสี่ยงที่เด็ก ๆ ประสบขณะออนไลน์ รวมถึงการรับมือกับสถานการณ์ โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
เด็กไทย 81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง และ 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน wi-fi ที่บ้าน ซึ่งการมีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองนั้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจนำไปสู่การเสพติดอินเทอร์เน็ตหรือเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 40% ตามที่ DQ Institute ระบุไว้ใน Child Online Safety Index (COSI) report 2020
เมื่อจำแนกตามลักษณะการใช้งานอินเทอร์เน็ต พบว่า 28% ใช้อินเทอร์เน็ต 3-5 ชั่วโมงต่อวัน รองลงมา 25% ใช้อินเทอร์เน็ต 6-8 ชั่วโมง และ 23% ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการใช้อินเทอร์เน็ตติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน อาจนำไปสู่โรคติดอินเทอร์เน็ต (Internet Addiction) ได้ โดย 55% ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการพักผ่อนหรือความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม รองลงมา คือ ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนหรือการทำงาน 29% นอกนั้นใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงหรือญาติมิตร ใช้ติดตามข่าวสารเหตุการณ์ และใช้เพื่อรวมกลุ่มทำกิจกรรมตามความสนใจ และมีถึง 85% จากกลุ่มตัวอย่างที่ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน
ยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า เด็ก 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม โดยคนร้ายอาจพยายาม ทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน ขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ และถ่ายรูปข่มขู่แบล็กเมล ซึ่งเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Grooming) ที่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายต้องระวัง และจากการสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า เด็กประถมปลายอายุประมาณ 10 ขวบ ถูกกรูม (groom) ถึง 12%
ทั้งนี้ มีเด็ก 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร โดยในจำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ซึ่งมีเด็ก 7% เซฟเก็บไว้ ซึ่งจะเพศชายชมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า เด็ก 4% ยังระบุว่าเคยถ่ายภาพ หรือ live โชว์ลามกอนาจารอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
โดยในผลสำรวจ พบอีกว่า เด็ก 11% ถูกคุกคามทางเพศ เช่น โดนคอมเม้นท์เรื่องรูปร่างหน้าตา ขนาดของหน้าอกหรืออวัยวะเพศ ถูกขอให้พูดคุยเรื่องเพศ รับ-ส่งภาพหน้าอกหรืออวัยวะเพศ มีเด็ก 15% เคยทำ Sex Video Call ซึ่งเด็กประถมศึกษา 4-6 จำนวน 4% ระบุเคยถูกคุกคามทางเพศ และ 7% เคยแลกกล้องโชว์สยิว จึงเป็นที่น่าห่วงใยว่าเด็กอาจถูกอัดคลิปแล้วนำไปแบล็กเมลรีดทรัพย์หรือนัดพบละเมิดเพิ่มเติม จนนำไปสู่ปัญหาซึมเศร้าและอาจถึงฆ่าตัวตายในที่สุด
นอกจากนี้ ในการสำรวจยังพบเด็ก 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ (Cyber Bullying) 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย/อันตราย 7% เล่นพนันออนไลน์ 18% จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม (Loot Box, Gift Box, Lucky Box) ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน และมี 5% เคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)
จากผลการสำรวจนี้ แสดงให้เห็นว่า เด็กยังประสบปัญหาภัยออนไลน์อื่น ๆ ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่น เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกติดตามคุกคาม หลอกให้ลงทุนผลตอบแทนสูง หรือโดนโกงซื้อสินค้า เป็นต้น
ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม นักจิตวิทยาคลินิก เปิดเผยว่า ภัยจากโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้มีเด็กต้องเข้ารับการรักษาด้านจิตเวชเป็นจำนวนมาก โดยคนไข้จะต้องทุกข์กับความทรงจำเลวร้ายที่รบกวนจิตใจไปตลอดชีวิต ส่งผลต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ บางคนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตาย
บางคนมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ เช่น โมโหร้าย ก้าวร้าว สืบทอดความรุนแรงให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป หลายคนพยายามจัดการกับปัญหาด้วยการใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท สุรา และยาเสพติด จนนำไปสู่ปัญหาการเสพติด และพบว่าคนไข้หลายคนแม้เข้าสู่วัยสูงอายุ แต่ยังทุกข์จากการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ หากคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่อสังคมคือมหาศาล
“แม้ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) ที่บำบัดรักษาผู้ป่วย จะมีเกินหมื่นแห่งทั่วประเทศ เชื่อว่าไม่ทำให้ปัญหาลดลง จึงเสนอให้ทำกฎหมายรองรับช่วยดำเนินคดีกับผู้ที่เริ่มมีพฤติกรรมการล่อลวงเด็กด้วยวัตถุประสงค์ทางเพศ (Grooming) โดยไม่ต้องรอจนเกิดการ ‘ลงมือ’ หรือ ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหายเพราะจะสายเกินไป” ผศ.ดร.สมบัติ ระบุ
ขณะที่ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีค้ามนุษย์และคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี การทราบว่ามีเหตุการณ์การละเมิดทางเพศเด็กหรือไม่นั้น ต้องใช้ข้อมูลจากการถามปากคำเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายเป็นหลัก ซึ่งข้อเท็จจริงที่ทราบจากตัวเด็กผู้เสียหายเอง สอดคล้องไปในทางเดียวกันคือ ก่อนถูกละเมิดทางเพศ จะมีการพฤติกรรมสร้างความเป็นมิตร เข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจ หรือที่เรียกว่า Grooming ก่อนเสมอ เพื่อล่วงละเมิดทางเพศในภายหลัง โดยอาจมีเทคนิคแตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ละเมิดทางเพศเด็ก เพราะปัจจุบันอาชญากรใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารล่อลวงเด็ก ประกอบกับเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายมักไม่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลใกล้ชิดฟัง กว่าจะรู้ก็เกิดความเสียหายอันตรายถึงชีวิต เหมือนในข่าวหลายกรณีที่เด็กฆ่าตัวตายเพื่อยุติปัญหา
“บุคลากรที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน จึงมีจุดเปลี่ยนในการเริ่มเปิดคดี จากเดิมใช้ข้อมูลจากการถามปากคำเด็กเป็นหลัก ปัจจุบันเป็นพยานหลักฐานจากการใช้สื่อออนไลน์ แต่ปัญหาใหญ่คือ ประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายที่บัญญัติว่าการกรูมมิ่งเป็นความผิด จึงไม่สามารถนำกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อการป้องกันได้ การที่ต้องรอให้คนร้ายลงมือกับเหยื่อเสียก่อนจึงจะเข้าไปจับกุม ทั้ง ที่มีหลักฐานว่าคนร้ายกำลังพยายามติดต่อล่อลวงเพื่อละเมิดทางเพศเด็ก จึงถือเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ประเทศไทยควรจะต้องเร่งออกกฎหมายลงโทษคนที่ล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ หรือ กรูมมิ่ง (Grooming) ซึ่งหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ หรือ ฟิลิปปินส์ ก็มีกฎหมายที่ล้ำสมัยในลักษณะนี้แล้ว” ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าว
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการกรูมมิ่งและการขู่กรรโชกทางเพศ ทำได้ตั้งแต่การพิจารณาเลือกรับเพื่อนออนไลน์เข้ามาในชีวิต ให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวง แม้บางครั้งจะเป็นเพื่อนของเพื่อน ก็ควรตรวจสอบดูให้แน่ชัดเสียก่อนว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ และเป็นเพื่อนจริง ๆ หรือไม่ เมื่อรับเพื่อนแปลกหน้าแล้ว การพูดคุยและส่งรูปอะไรก็ตามควรคิดให้รอบคอบเ จำไว้ว่าไม่ควรส่งภาพส่วนตัวไปให้ใครดูทางออนไลน์ เพราะต่อให้เป็นเพื่อนรักหรือคนรักกัน วันหนึ่งเมื่อเลิกราหรือทะเลาะกัน คลิปหรือรูปภาพส่วนตัวก็อาจถูกนำมาแฉได้ทุกเมื่อแม้ว่าเพื่อนหรือคนรักเราจะไม่ได้เป็นมิจฉาชีพก็ตาม
เพราะปัจจุบัน เราสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่เด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่คือวุฒิภาวะ จึงทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการคุกคามทางเพศออนไลน์ หรือถูกล่อลวงได้ง่ายกว่า
ภัยทางออนไลน์ จึงนับเป็นอีกปัญหาสำคัญที่ผู้ปกครองรวม ถึงผู้กำหนดนโยบายจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อยุติกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในยุคเทคโนโลยีนี้