"...การที่เยาวชนรายนี้ก่อเหตุเป็นครั้งแรกและเกิดความเสียหายที่ร้ายแรงต่อชีวิตของผู้อื่นและคนรอบข้าง ทำให้เขามีแรงกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสำนึกผิด รู้สึกต้องการขอโทษอย่างมาก ซึ่งไปสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่ค้นพบว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นสิ่งที่จะยิ่งใช้ได้ผลมากกับกรณีที่ผู้ก่อเหตุก่อความผิดร้ายแรง..."
เหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่น “ปาหินใส่รถตู้” จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมทำให้มีผู้เสียชีวิต เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคม ปี 2547 หรือ 18 ปีก่อน เป็นเวลานานมากพอที่ทำให้หลายคนอาจจะลืมเลือนเหตุการณ์นี้ไปแล้ว จนกลางปี 2561 เหตุกาณ์นี้กลายเป็นข่าวดังอีกครั้ง เมื่อภรรยาของผู้เสียชีวิต สวมกอดกับอดีตเด็กหนุ่มที่ก่อเหตุครั้งนั้น พร้อมกับเอ่ยคำว่า “พี่ให้อภัยนะ”
แต่กว่าที่เรื่องราวจะจบลงด้วยคำว่า “ขอโทษ” และ “ให้อภัย” ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ก่อนจะมากลายเป็นบทสรุปเช่นนี้ กระบวนการนี้เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”
“เด็กหนุ่มคนนั้นถูกจับกุมดำเนินคดีถูกส่งเข้าสถานพินิจเพื่อรับโทษจากการกระทำของเขาตามกฎหมาย เป็นเวลาหลายปีที่เขาถูกย้ายไปยังบ้านต่างๆตามลำดับชั้นของการลงโทษในสถานพินิจ และในช่วงท้ายของการรับโทษ เขาถูกส่งตัวมาที่ บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขา เมื่อเขาได้มีโอกาสชดใช้ความผิดที่ฝังลึกอยู่ในใจด้วยการเผชิญหน้ากับภรรยาของผู้เสียชีวิตและได้กล่าวคำว่า ขอโทษ โดยมีคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนั่นก็คือ ป้ามล หรือ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก”
@ อุกฤษฏ์ ศรพรหม
อุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการและนักวิจัยด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เล่าถึงกระบวนการทำงานของ “ป้ามล” นางทิชา ณ นคร และทีมงานใน “บ้านกาญจนาภิเษก” ที่เขาเห็นว่า เป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยชี้ให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) สามารถช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากคดีต่างๆคลี่คลายลงได้มากกว่าการส่งผู้กระทำผิดไปรับโทษเท่านั้น ด้วยแนวคิด “ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง” (Victim Centered Approach)
“วันที่วัยรุ่นคนนี้มาถึงที่บ้านกาญจนาภิเษก สิ่งแรกที่เขาได้เจอไม่ใช่เครื่องพันธนาการใดๆที่บ่งบอกว่าเขาคือผู้ที่ต้องถูกควบคุมตัว แต่กลับได้ร่วมวงกินหมูกระทะกับเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่มาก่อน ผมคิดว่านี่คือการแสดงถึงความพยายามเข้าอกเข้าใจต่อตัวเยาวชนที่กระทำความผิดมา ทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสามารถเปิดใจถึงสิ่งที่ทำลงไปในเวลาต่อมา และเมื่อเวลาผ่านไป เขาก็รู้สึกสำนึกผิด ต้องการที่จะขอโทษอย่างจริงใจกับภรรยาของผู้เสียหาย และการกินหมูกระทะก็เป็นสิ่งที่ป้ามลทำทุกครั้งเมื่อมีเยาวชนเข้ามาใหม่ที่บ้านกาญจนาภิเษก” อุกฤษฏ์ เล่าถึงกระบวนการที่ใช้ในบ้านกาญจนาภิเษก
อุกฤษฏ์ เล่าต่อว่า ในระหว่างที่ทีมงานของบ้านกาญจนาภิเษก แสดงความเข้าอกเข้าใจเพื่อช่วยปลดล็อกความรู้สึกของเยาวชนผู้ก่อเหตุ ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยกับภรรยาของผู้เสียชีวิต เพื่อสอบถามความต้องการของผู้เสียหาย เช่น จะให้เยียวยาความเดือดร้อนได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่ผู้เสียหายจะยอมคุยด้วย
“จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ไดอารี่ของเยาวชนที่ก่อเหตุ เพราะนอกจากจะได้กินหมูกระทะในวันแรกแล้ว บ้านกาญจนาภิเษกยังจัดกิจกรรมให้เยาวชนได้ดูหนังที่ให้ข้อคิด ให้เด็กๆ ได้คุยแลกเปลี่ยนกันเพื่อทำความเข้าใจตัวเองและทำความเข้าใจเพื่อนๆ จากนั้นพวกเขาก็จะเขียนไดอารี่ส่วนตัว ซึ่งข้อความในไดอารี่ของผู้ก่อเหตุที่เขียนแสดงความรู้สึกสำนึกผิด อยากขอโทษ เขียนอย่างต่อเนื่อง ถูกนำไปให้ฝ่ายผู้เสียหายได้อ่าน และนำไปสู่การได้เผชิญหน้ากัน และแม้ว่าการเจอกันครั้งแรกจะยังได้ผลที่ไม่ดีนัก แต่เมื่อได้เจอกันอีก 2-3 ครั้ง ก็ทำให้เยาวชนคนนี้ได้รับโอกาสเอ่ยคำขอโทษ เช่นเดียวกับที่ผู้เสียหายกล่าวคำว่าให้อภัย และเมื่อเขาพ้นโทษ เขาก็อาสาไปช่วยงานในกิจการขายน้ำพริกของผู้เสียหาย”
ปรากฏการณ์นี้ ทำให้อุกฤษฏ์ สรุปเป็นบทเรียนในการใช้ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ออกมาเป็น 2 ปัจจัย คือ
ปัจจัยภายนอก
1. เจ้าหน้าที่ของบ้านกาญจนาภิเษก มีความเข้าใจการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจทั้งสองฝ่าย และทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน ซึ่งต่างจากการฟื้นฟูหรือบำบัดเยียวยาผู้รับโทษทั่วไปที่จะเน้นที่ตัวผู้รับโทษเท่านั้น แต่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องเพื่อเยียวยาผู้เสียหาย
2. เยาวชนที่เป็นผู้ก่อเหตุ ต้องได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำให้เขาเปิดใจ ยอมรับผิด สำนึกผิด ซึ่งหากสภาพแวดล้อมยังเต็มไปด้วยแรงกดดันต่างๆจากการควบคุม ก็จะไม่เกิดความรู้สึกเช่นนี้
ส่วนปัจจัยภายใน อุกฤษฎ์ มองว่า การที่เยาวชนรายนี้ก่อเหตุเป็นครั้งแรกและเกิดความเสียหายที่ร้ายแรงต่อชีวิตของผู้อื่นและคนรอบข้าง ทำให้เขามีแรงกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสำนึกผิด รู้สึกต้องการขอโทษอย่างมาก ซึ่งไปสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่ค้นพบว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นสิ่งที่จะยิ่งใช้ได้ผลมากกับกรณีที่ผู้ก่อเหตุก่อความผิดร้ายแรง
แต่เมื่อมองในประเด็นนี้ อุกฤษฏ์ ยอมรับว่า ยังเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะกระบวนการทางกฎหมาย ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ก่อความผิดร้ายแรงไว้สูง ทำให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ถูกนำมาใช้ได้กับความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ไม่เป็นอาญาแผ่นดินเท่านั้น ส่วนในกรณีที่เกิดขึ้นที่บ้านกาญจนาภิเษก ที่สามารถทำได้ตามกฎหมายเพราะผู้ก่อเหตุได้รับโทษตามบทลงโทษแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า หากเป็นกรณีอื่นๆ ก็ยากที่จะมีเจ้าหน้าที่พยายามทำกระบวนการนี้ให้เกิดขึ้น เพราะเพียงแค่ภาระต้องดูแลผู้ต้องโทษ ก็เป็นภาระที่หนักมากอยู่แล้ว
“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นกระบวนการที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย โดยเคารพสิทธิของทั้งผู้เสียหายและผู้ก่อเหตุโดยตรง ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คู่ขัดแย้งได้พบกันเพื่อแสดงออกถึงความต้องการต่อกันและกันโดยตรง (Inclusiveness) ซึ่งจะต่างจากกระบวนการยุติธรรมปกติที่จะกันทั้งสองฝ่ายออกจากกันไปเลย ดังนั้นในกระบวนการนี้เราจะใช้วิธีอย่างไรก็ได้เพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์ 3 ข้อ คือ ผู้เสียหายได้รับการชดเชยเยียวยา ผู้ก่อเหตุเกิดความสำนึกผิด และป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ”
ปัจจุบัน กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นหนึ่งในรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศทั่วโลกมาจนครบรอบ 20 ปีแล้วในปีนี้ และในโอกาสนี้ทำให้ TIJ จะเดินหน้าผลักดันและพัฒนากระบวนการนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผ่านแนวคิด การทบทวน (Rethink) ฟื้นฟู (Restore) ปรับปรุงพฤติกรรม (Rehabilitate) โดยจะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับกระบวนการ เช่นการวิเคราะห์รูปแบบการทำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ผ่าน machine learning เพื่อหาคำตอบว่า รูปแบบไหนได้ผลที่ดีหรือไม่ดีเพราะอะไร เพื่อเก็บเป็นข้อมูลนำไปออกแบบเป็นกระบวนการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้นำไปใช้จริงต่อไป โดยจะทำโครงการลงพื้นที่ไปยังชุมชนต่างๆ ที่สำรวจมาแล้วว่ามีศักยภาพที่จะใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้าไปแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชน ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับตำรวจ อัยการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ TIJ ยังริเริ่มทำโครงการ RJ in School (Restorative Justice in School) โดยร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนนำร่อง จัดกิจกรรมทดลองให้นักเรียนและครูได้ทำความเข้าใจรูปแบบการใช้กระบวนการ เมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งในโรงเรียน ก็สามารถจัดการความขัดแย้งกันเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการลงโทษของโรงเรียน ไม่ต้องพักการเรียนหรือไล่ออก ทำให้เด็กๆ สามารถจัดการความขัดแย้งได้ด้วยการชดเชยเยียวยา สำนึกผิด และสามารถเรียนหนังสือต่อได้