นักการเมืองถูกขุดประวัติโพสต์ไม่เหมาะสม! ผู้เชี่ยวชาญฯ ชี้โซเซียลมีเดียบันทึกอัตลักษณ์ระบุตัวตน ย้อนถึงพฤติกรรม เตือนระวังก่อนเขียน เสี่ยงส่งผลกระทบในอนาคต ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป
กรณีนักการเมืองถูกขุดประวัติการโพสต์รูปภาพและข้อความไม่เหมาะสมผ่านโซเซียลมีเดีย จนถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น ทั้งที่มีการโพสต์ตั้งแต่ปี 2553
นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและระบบการสื่อสาร เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org โดยระบุอยากให้มองในภาพใหญ่ว่า ไม่ใช่เพียงโซเซียลมีเดีย แต่ขณะนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในอดีตอัตลักษณ์การระบุตัวตน การติดตามข้อมูลข่าวสารต้องเป็นกระดาษ แต่ปัจจุบันทุกอย่างที่เราทำไว้จะถูกบันทึกไว้ตลอด ซึ่งบางคนอาจไม่ได้คิดอะไรเวลาโพสต์เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ในขณะอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยเด็ก แต่เมื่อเติบโตขึ้นมากลับมีผลกระทบ
“ผมเคยเจอคนที่ทำงาน บางทีมาสมัครงาน ขอดูเฟซบุ๊ก ซึ่งจะย้อนพฤติกรรมของคนนั้นว่า เคยโพสต์อะไรมาบ้าง ยกตัวอย่าง คนมาสมัครงานเป็นพนักงานต้อนรับ แต่ปรากฎว่าการโพสต์ในโซเซียลมีเดียบ่งบอกตัวตนว่าเป็นแบบนี้”
บางคนอาจแย้งว่า การสมัครงานควรดูที่ผลงาน ไม่ใช่การโพสต์ในโซเซียลมีเดีย ซึ่งเป็นชีวิตส่วนตัว ผู้เชี่ยวชาญฯ บอกว่า ทุกวันนี้แยกเเยะยากระหว่างเรื่องงานกับส่วนตัว จะมีเส้นเบลอ ๆ คุณพูดจาไม่เหมาะสม แต่คุณตั้งใจจะทำงานติดต่อกับลูกค้า หรือเฟซบุ๊กระบุตัวตนว่าคุณมีแนวโน้มจะเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ ถามว่าใช่เรื่องส่วนตัวหรือไม่
“วัยรุ่นจึงควรระมัดระวังในสิ่งที่โพสต์ เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่สิ่งเหล่านี้เป็นอัตลักษณ์ระบุตัวตนเรา” นายธนชาติ กล่าว และยืนยันว่า โลกของโซเซียลมีเดีย โลกของ IOT (Internet of Things) โลกของ Mobile ปนกันระหว่างเรื่องส่วนตัวกับชีวิตการทำงาน
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงมหาศาล ในอดีตการระบุตัวตน เราใช้บัตรประชาชนหรือเบอรโทรศัพท์ แต่ตอนนี้การระบุตัวตน คือ พฤติกรรมของเราเอง จะถูกสะสมด้วยโซเซียลมีเดีย Mobile ที่มีการเก็บข้อมูล เช่น เราเคยไปที่ใด ทั้งนี้ แม้จะเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ได้ แต่พฤติกรรมคือสิ่งที่ผูกติดกับตัวเอง ซึ่งโซเซียลมีเดียเป็นตัวบอกอย่างหนึ่งว่า “คุณเคยโพสต์อะไรไป”
นายธนชาติ กล่าวถึงกรณีนักการเมืองถูกขุดประวัติการโพสต์โซเซียลสมัยเป็นนักศึกษา โพสต์ไปโดยไม่ได้คิดว่าอนาคตจะมาดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเมื่อมีตำแหน่งแล้ว ไม่รู้ว่าควรลบออกหรือไม่ ทำให้ถูกเก็บไว้และถูกขุดขึ้นมา
ขณะที่การปิดการมองเห็นแบบส่วนตัว จะเห็นเฉพาะกลุ่มเพื่อน แต่บางคนจะมีเป้าหมายอยากเป็นเซเลป ต้องการโพสต์ความคิดเห็นเป็นวงกว้าง ซึ่งเตือนว่า จะโพสต์อะไรในวงกว้าง ต้องระมัดระวังเรื่องกฎหมายและผลกระทบที่จะตามมาด้วย
“ลบยูสเซอร์ จะทำให้ข้อความเก่าไม่ปรากฎ แต่บางคนเลือกเปลี่ยนบัญชีผู้ใช้ (Account) ไปเลย อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะมีความเสียดายรูปภาพ เพราะเฟซบุ๊กเปรียบเหมือนการสะสมไดอารี่ในชีวิตประจำวัน”
ผู้เชี่ยวชาญฯ ยังกล่าวถึงกรณีสหรัฐฯ จะขอตรวจข้อมูลโซเซียลมีเดียย้อนหลัง 5 ปี ก่อนขอวีซ่า ว่าเป็นวิธีการตรวจสอบคนได้อย่างดี ซึ่งการดูเฟซบุ๊กปัจจุบัน ใช้ระบบ Artificial Intelligence: AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาวิเคราะห์ อาจเช็คได้ว่าคนนี้เป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่
ยกตัวอย่างง่าย ๆ การเปิดเฟซบุ๊กมา จะเห็นความสัมพันธ์ของเพื่อน เกิดมีเพื่อนเป็นผู้ก่อการร้าย จะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น คาดว่าจะนำมาแก้ไขปัญหาเรื่องอาชญากรรมก่อการร้าย
“โซเซียลมีเดียวันนี้เป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งที่ระบุตัวตน ตัวตนถูกระบุที่พฤติกรรม ฉะนั้นการที่สหรัฐฯ ต้องการนำข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้ดูด้วยตา เฟซบุ๊กจะเห็นว่าเพื่อนของเราคือใคร สามารถวิเคราะห์การแสดงความคิดเห็นได้ว่าเป็นไปในทางบวกหรือลบ” นายธนชาติ กล่าวในที่สุด .
ภาพประกอบ:https://thaipublica.org/2012/04/wilaiporn-thanachat-lesson-leraned-diaste
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/