“...เรื่องคุกคามทางเพศในการทำงาน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ ขัดจริยธรรมของนักการเมือง พรรคการเมืองควรต้องมีการที่จะให้ความรู้ หรืออบรมคนที่จะเข้ามาอยู่ในพรรค ที่สำคัญพรรคต้องเห็นความสำคัญว่า เรื่องนี้ร้ายแรง และต้องไม่อดทนที่จะไม่ให้เกิดขึ้น..."
ผ่านมาเกินสัปดาห์แล้ว ภายหลังพายุลูกใหญ่ซัดเข้าใส่ ‘พรรคก้าวไกล’ เข้าเต็มเปา
ในประเด็นกล่าวหา 2 สส.เขตของพรรค มีพฤติการณ์ ‘คุกคามทางเพศ’ ทีมงาน จนพรรครับเรื่องสอบ และมีมติที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ สส.พรรคครั้งแรก ขับ วุฒิพงศ์ ทองเหลา สส.ปราจีนบุรี ออกจากพรรค และมีมติให้คาดโทษ ‘ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์’ สส.กทม. เนื่องจากเสียงขับออกไม่เพียงพอ
ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ภาพจาก https://twitter.com/chaiyamparwaan/photo
ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามี สส.บางคน ‘อุ้ม’ ไชยามพวานไว้ เนื่องจากเป็น ‘พรรคพวก’ เดียวกัน
ขณะที่ ‘ไชยามพวาน’ ยังคงเดินสายลงพื้นที่ ยืนยันความบริสุทธิ์ และพร้อมให้ ‘คนกลาง’ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้สอบ ทำให้กระแสสังคมยิ่งถล่ม ‘ก้าวไกล’ หนักขึ้นเรื่อย ๆ
ร้อนถึง ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรค งัดหลักฐานเด็ดว่า ‘ไชยามพวาน’ มีพฤติการณ์นำทีมงานสาวที่ดื่มจนเมาขึ้นคอนโดฯ และเกิดการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น แต่ ‘ไชยามพวาน’ ก็ยังมิได้แสดงความรับผิดชอบเรื่องนี้
สุดท้าย ‘ก้าวไกล’ นัดถกด่วนกลางงานสัมมนา กก.บห.และ สส.ที่ระยอง โดยเมื่อ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ท่วมท้นว่าควรขับ ‘ไชยามพวาน’ ออกจากพรรค ตามที่เคยนำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้
ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่อง กรณี ‘นักการเมือง’ คุกคามทางเพศ มิใช่มีแค่พรรคก้าวไกลเท่านั้น
หากแต่ในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เช่น กรณีของ ‘ปริญญ์ พานิชภักดิ์’ อดีตนักการเมืองรุ่นใหม่ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคเก่าแก่อย่าง ‘ประชาธิปัตย์’ (ปชป.) บุตรชายบิ๊กเนมในพรรคอย่าง ‘ศุภชัย พานิชภักดิ์’ อดีตแกนนำค่ายสีฟ้า อดีตรองนายกฯ-รัฐมนตรีหลายสมัย
เคสของ ‘ปริญญ์’ เป็นข่าวคึกโครมช่วงกลางปี 2565 โดยถูกกล่าวหาว่า ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ หญิงสาวอย่างน้อย 15 กรณีด้วยกัน แต่เขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง สุดท้ายถูกพนักงานสอบสวนเรียกสอบ และส่งสำนวนไปยังอัยการเพื่อส่งฟ้องศาลอาญา
ปริญญ์ พานิชภักดิ์
ผ่านมาราว 1 ปี ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ‘ปริญญ์’ ไปแล้วอย่างน้อย 3 คดี รวมโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 8 ปี 8 เดือน และไม่รอลงอาญาทั้งหมด อย่างไรก็ดี ‘ปริญญ์’ ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว และได้ปล่อยตัวชั่วคราวออกมาเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
ในส่วนการดำเนินการของพรรค ปชป.นั้น แม้ว่า ‘ปริญญ์’ จะชิงลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคไปแล้วก็ตาม รวมถึงพ้นจากตำแหน่งสมาชิกพรรคไปแล้ว โดย ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ยืนยันว่า พรรคจะไม่เข้าไปแทรกแซงใด ๆ ในกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมจะทำหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริง และถือว่าเป็นกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับได้ในสังคม
หากเทียบเคียงกลไกการจัดการปัญหาภายในพรรคระหว่าง ก้าวไกล กับ ปชป. จะพบว่ามีความเหมือนที่แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ
ตรงที่พรรคก้าวไกล ยังเห็นภาพความพยายามของพรรคในการทางการจัดการกับปัญหา ท่าทีของ สส. หญิงหลายคนที่ออกมาวิจารณ์และกดดันทั้งผ่านสื่อและภายในพรรคอย่างชัดเจน
ขณะที่ ปชป. ดูเหมือนจะตัดตอนเรื่องนี้ ให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมอย่างเดียว กระบวนการจัดการปัญหาภายในพรรค ต่อเรื่องนี้ ไม่ค่อยปรากฎให้เห็นเด่นชัดมากนัก
สำหรับกรณีคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น มิใช่มีแค่ในส่วนของ สส.เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับ ‘การเมืองท้องถิ่น’ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเมื่อไม่กี่ปีก่อน สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก.พรรคก้าวไกล เคยถูกกล่าวหาว่า ล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง จนสุดท้ายถูกพรรคขับออกมาแล้ว
อย่างไรก็ดีหลายกรณีข้างต้นที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เป็นแค่ ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เพราะยังมีอีกมากที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามปกปิดขององค์กร หรือแม้แต่เหยื่อ-ผู้เสียหายอับอาย มิกล้าร้องเรียน เป็นต้น
“ที่ทำงานควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ควรมีการคุกคามทางเพศ”
เป็นคำยืนยันของ ‘อังคณา นีละไพจิตร’ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอดีตประธานกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
อังคณา มองว่าบทลงโทษที่พรรคก้าวไกลทำต่อ 2 สส.กรณีกล่าวหาว่ามีการคุกคามทางเพศนั้น ถือว่า “ใช้ได้” ที่ดำเนินการ แต่ “ล่าช้า” กว่าที่จะมีการสอบสวนเรื่องราว เพราะอ้างว่าต้องพิจารณาพยานหลักฐาน เอกสารจำนวนมาก ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ควรต้องทำอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระทบต่อสวัสดิภาพในการทำงานของผู้หญิงภายในพรรคหรือองค์กร นอกจากนี้ยังกระทบต่อคุณค่าของพรรค ที่อ้างว่าเล่นการเมืองแบบใหม่
อังคณา นีละไพจิตร
“เรื่องคุกคามทางเพศในการทำงาน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ ขัดจริยธรรมของนักการเมือง พรรคการเมืองควรต้องมีการที่จะให้ความรู้ หรืออบรมคนที่จะเข้ามาอยู่ในพรรค ที่สำคัญพรรคต้องเห็นความสำคัญว่า เรื่องนี้ร้ายแรง และต้องไม่อดทนที่จะไม่ให้เกิดขึ้น ต้องห้ามปราม โดยมาตรการที่บอกไปแล้วว่า ถ้ามีการร้องเรียน ต้องนำไปสู่การลงโทษ คือการรับผิดชอบ เยียวยาผู้เสียหาย ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นพรรคก้าวไกล ดำเนินมาตรการอะไรแบบนี้เท่าไหร่ ดูจากกรณีแรกที่ว่า สส.ทำร้ายร่างกายผู้หญิง สุดท้ายมีการถอนแจ้งความ และเหมือนเรื่องจะจบไป ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นการทำร้ายร่างกายความผิดอาญา น่ากังวลว่า สส.คนนั้นก็ต้องผ่านกระบวนการในการที่จะต้องรับผิดชอบอะไรด้วย” อังคณา กล่าว
อังคณา อธิบายว่า ปัญหานี้มิใช่พรรคจะปัดความรับผิดชอบ โดยให้ สส.ที่ถูกกล่าวหาต้องรับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่พรรคการเมืองควรจะต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ และเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายด้วย เนื่องจากพรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค
“พรรคการเมืองควรรับผิดชอบ หลักการพรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค พรรคต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะพรรคต้องสรรหาคนมีความรู้ จริยธรรมอันดี ที่สำคัญต้องเป็นคนที่เคารพในความเสมอภาคทางเพศ และไม่เหยียดเพศ เมื่อพรรคเลือกเอง ต้องแสดงท่าทีชัดเจน ไม่อดทนหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น อาจต้องออกเป็นมาตรการหรือข้อบังคับให้ชัดเจนไปเลย” อังคณา กล่าว
สำหรับบทเรียนที่จะแก้ไขเรื่องนี้ อังคณา เล่าเมื่อครั้งสมัยทำงานเป็น กสม. เคยทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาการคุกคามทางเพศส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ มิ.ย. 2558 และ ครม.มีมติรับทราบ รวมถึงสภาฯมีการผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมาแล้ว แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กลับไม่มีการบังคับใช้อย่างชัดเจน
“บางองค์กร หรือบางหน่วยงาน แค่ปริ้นมติ ครม.ที่รับทราบเรื่องดังกล่าวไป แปะบอร์ไว้เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความไม่เอาจริงเอาจังของภาครัฐในเรื่องนี้ ทั้งที่เรื่องนี้สำคัญ อยากให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเมือง ควรเอาใจใส่มากกว่านี้” อังคณา กล่าว
ข้อเสนอและแนวคิดในการแก้ไขปัญหา ตามที่ อังคณา ฉายภาพให้เห็นไป โดยเฉพาะการให้พรรคการเมือง มีส่วนต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ต่อกรณีปัญหานักการเมือง ‘ล่วงละเมิดทางเพศ’ จะถูกต้องเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่ คงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ควรจะต้องมีการถกเถียงกันต่อไปในอนาคต
แต่กล่าวสำหรับข้อกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการละเมิดทางเพศ การคุกคามทางเพศและการดูหมิ่นเหยียดหยามทางเพศ ในภาพรวมของประเทศ พบว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันการคุมคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งในส่วนภาคการเมือง ภาครัฐ และเอกชนอย่างน้อย 4 ฉบับคือ
1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 มี.ค. 2558 โดยมีสาระสำคัญคือ วางแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน โดยนับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่มีการปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นไปตามการเข้าภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women – CEDAW)
อย่างไรก็ดีกฎหมายข้างต้น ‘อังคณา’ ระบุว่า มีหน้าที่เพียงแค่แปะบนบอร์ดในที่ทำงานของหน่วยงานรัฐเท่านั้น ไม่ได้ถูกพูดถึง หรือถูกนำมาใช้เท่าที่ควร
2.การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาความผิดเกี่ยวกับเพศ เมื่อ 19 พ.ค. 2558 โดยเพิ่มเติมในมาตรา 397 กำหนดให้การรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท รวมทั้งหากกระทำโดยผู้บังคับบัญชา นายจ้า หรือผู้มีอำนาจเหนือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยกำหนดห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง เป็นต้น
4.มาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้กับ สส. สว. และรัฐมนตรีด้วย มีการระบุถึงพฤติการณ์ ‘คุกคามทางเพศ’ โดยตรงในข้อ 20 คือ ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำต้องยอมรับในการกระทำนั้น ไม่นำความสัมพันธ์ทางเพศที่ตนมีต่อบุคคลใดมาเป็นเหตุหรือมีอิทธิพลครอบงำให้ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด
เท่ากับว่าบรรดา ‘นักการเมือง’ ที่มีพฤติการณ์ ‘คุกคามทางเพศ’ อย่างน้อยนับตั้งแต่ 30 ม.ค. 2561 เป็นต้นมาที่มาตรฐานจริยธรรมฯมีผลบังคับใช้ สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อทำการไต่สวนได้ เช่นเดียวกับ 2 สส.ก้าวไกล ก่อนหน้านี้ที่ถูก ‘นักร้อง’ ยื่นเรื่องร้องเรียนไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่าง ป.ป.ช.แสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น ผลเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
แต่ไม่ว่าบทสรุปการสอบสวนคดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร กรณีเหล่านี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ภาคการเมือง ภาครัฐ เอกชน หันมาให้ความสำคัญและโฟกัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะองค์กรทางการเมือง ซึ่งมีที่มาจากประชาชน ควรยิ่งตระหนัก และแสดงความรับผิดชอบหากเกิดเหตุดังกล่าวให้มากกว่านี้ เพื่อแสดงออกถึงหลักการบริหารจัดการที่ดีภายใต้หลักธรรมาภิบาล ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังให้มากขึ้น หรือประกาศเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ไปเลยเพื่อให้ประชาชนทุกคนตระหนักรู้ถึงสิทธิพึงมี ความเท่าเทียมกันทางเพศ และกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นซ้ำรอยในอนาคตได้อีก