"...หากพิจารณาในมุมที่ว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับการก่ออาชญากรรมซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่รุนแรง โดยเราเลือกที่จะไม่เคารพกฎหมายด้วยเช่นกัน เราเลือกจะกระทำความผิดทั้งที่รู้ว่าผิด โดยอ้างว่า คนอื่นก็ทำกัน เขาทำกันหมด รู้กันหมดแล้ว ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้สิ่งนี้ต่างอะไรกับการเดินถืออาวุธปืนเถื่อนจ่อหัวคนอื่น โดยอ้างว่าเด็กคนนั้นก็ใช้ปืนเหมือนกัน..."
เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุการณ์เด็กชายวัย 14 ปี พกอาวุธปืนเข้าก่อเหตุยิงกราดผู้คนในห้างสรรพสินค้ากลางกรุง
ภาพและประวัติของเด็กชายวัย 14 ปี ได้ถูกเผยแพร่และส่งต่อไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว พร้อมด้วยความเห็นในเชิงลบและการคาดการณ์ที่ไม่มีใครรู้ได้ว่าอยู่บนข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด
การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ถูกคาดหวังอีกครั้ง ให้ทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว แม่นยำ มีข้อมูลเชิงลึกที่สังคมกระหายใคร่รู้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคงไว้มาตรฐานการทำงานที่มีจรรยาบรรณวิชาชีพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้เป็นสถานการณ์การรายงานข่าวที่เกี่ยวพันใน 2 มิติสำคัญ คือ
1. การรายงานข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง
(แนบลิงค์ https://www.facebook.com/photo/?fbid=825494239367239&set=a.749154657001198 )
2. การนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กที่มีผลต่อครอบครัวและสังคม
(แนบลิงค์ https://www.isranews.org/article/infographic/107360-info_child.html )
ในมิติแรก คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการป้องกันการลอกเลียนแบบเหตุความรุนแรง และลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้เกี่ยวข้อง โดยขอให้งดเว้นการเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และแรงจูงใจในการก่อเหตุของผู้กระทำผิด การสื่อความในลักษณะที่ทำให้ผู้ก่อเหตุดูเท่ ดูเก่ง รวมถึงการรายงานเน้นจำนวนผู้เสียชีวิต/ผู้บาดเจ็บ เปรียบเทียบว่าครั้งนี้ตาย/บาดเจ็บกี่คน มากกว่าหรือน้อยกว่าครั้งก่อนเท่าไหร่
พร้อมแนะนำแนวทางการแชร์ข่าวโดยย้ำเรื่องของการไม่ทำให้ผู้ก่อเหตุดูเป็นคนพิเศษ มีตัวตน มีพื้นที่ กลายเป็นที่ดูเท่ ดูน่ายกย่อง อัพเดตเหตุการณ์ตามจริง ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์ และขอให้เน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา
จากมิติแรกนั้น ประเทศไทย มีบทเรียนสถานการณ์ความรุนแรงมาหลายครั้ง เราเริ่มมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบในการส่งต่อความรุนแรงในเชิงจิตวิทยากันพอสมควร
แต่สำหรับมิติที่สอง การรายงานข่าวและการแชร์ข่าวค่อนข้างเผชิญความท้าทายอย่างมาก
แม้ว่าประเทศไทยจะลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) มาตั้งแต่ปี 2535 และส่งผลสืบเนื่องให้มีการบัญญัติกฎหมายที่กำหนดให้ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเด็กทั้งทางร่างกาย จิตใจ ผลประโยชน์ของเด็ก โดยครอบคลุมถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กในทุกกรณี
ยกตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนี้ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”
โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งนับเป็นความผิดอาญา
คำถามของสังคมที่ตามมาก็คือ ...ทำไมเราต้องปกป้องคนที่ก่อเหตุรุนแรง...
และคำถามต่อมาคือ ...ห้ามแชร์หรือรายงานชื่อเด็ก ภาพ คลิปที่เห็นหน้าเด็กชัดเจนในตอนนี้จะทันหรือ ในเมื่อทุกอย่างกระจายจนรู้ทั่วกันหมดแล้ว...
ทั้งนี้ สังคมต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า การรายงานข่าวเด็กหรือการแชร์ข้อมูลอย่างระมัดระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิของบุคคลใดก็ตาม เป็นคนละประเด็นกับการปกป้องคนผิด เพราะผู้กระทำความผิดยังคงต้องได้รับโทษตามกฎหมายตามฐานความผิดที่ได้กระทำไป ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เราจะโพสต์หน้าเขาหรือไม่ หรือสื่อจะรายงานประวัติครอบครัวหรือไม่
แต่การที่เราโพสต์หน้า ชื่อ ประวัติส่วนตัวโดยไม่ได้มีเป้าหมายในการเตือนภัย เฝ้าระวัง (ซึ่งพ้นจากขอบข่ายนี้เนื่องจากผู้ก่อเหตุถูกจับกุมแล้ว) และส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อขุดคุ้ย เหยียดหยาม และประณาม ถือเป็นความผิดในทางละเมิด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้เป็นเด็กที่ได้รับการปกป้องสิทธิตามกฎหมาย ภายใต้หลักคิดของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ให้คำนึงถึงว่า “เด็กโดยเหตุที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ทั้งทางร่างกายและจิตใจจึงต้องการพิทักษ์และการดูแลเป็นพิเศษ”
ดังนั้น หากพิจารณาในมุมที่ว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับการก่ออาชญากรรมซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่รุนแรง โดยเราเลือกที่จะไม่เคารพกฎหมายด้วยเช่นกัน
เราเลือกจะกระทำความผิดทั้งที่รู้ว่าผิด โดยอ้างว่า คนอื่นก็ทำกัน เขาทำกันหมด รู้กันหมดแล้ว ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้
สิ่งนี้ต่างอะไรกับการเดินถืออาวุธปืนเถื่อนจ่อหัวคนอื่น โดยอ้างว่าเด็กคนนั้นก็ใช้ปืนเหมือนกัน
....แล้วทางออกของการสร้างสังคมที่ดีนับจากนี้ เราจะอยู่บนพื้นฐานของอะไร...
การทำในสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่เป็นบรรทัดฐาน สิ่งที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่เรื่องของการปกป้องคนผิด
สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกใจในภาวะที่สังคมกำลังเจ็บปวดเหลือเกิน
แต่เรากำลังพยายามสร้างโลกที่เราหวังว่ามันจะต้องดีขึ้นมิใช่หรือ