เอฟทีเอว็อทช์จี้ผู้แทนเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี RCEP อย่ายอมรับมาตรการทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มข้นเกิน TRIPs
วันที่ 16 มิถุนายน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) เปิดเผยว่า เอฟทีเอว็อทช์ได้ทำหนังสือถึงนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจาการค้าความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP ในประเด็นที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน เนื่องจากแม้การเจรจารอบที่ผ่านมาในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ข้อเสนอที่เป็นข้อผูกมัดเรื่องการขยายอายุสิทธิบัตรและการผูกขาดข้อมูลทางยาจะถูกยกไว้ไม่นำมาเจรจาต่อ แต่ภาคประชาสังคมยังมีความกังวลในเนื้อหาของบทว่าการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพราะมีเนื้อหาความกว้างขวางและข้อผูกมัดที่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (WTO’s TRIPs Agreement) และขัดต่อปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของยาชื่อสามัญและการเข้าถึงยาของประชาชน
ทั้งนี้ เอฟทีเอว็อทช์มีข้อเสนอไปยังหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจาฯทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.ประเด็นเรื่องมาตรการชายแดน (Border Measure) ซึ่งร่างความตกลง RCEP อนุญาตให้จับยึดยาที่อยู่ระหว่างการขนส่งเพียงต้องสงสัยว่าจะละเมิดสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และข้อมูลการทดลองเพื่อขึ้นทะเบียนยา ถือว่ามีเนื้อหาและข้อผูกมัดที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลง TRIPs ซึ่งอนุญาตเฉพาะกรณีที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์เท่านั้น ไม่รวมถึงการละเมิดสิทธิบัตรและข้อมูลการทดลองเพื่อการขึ้นทะเบียนยา
ขณะเดียวกัน ร่างความตกลง RCEP ยังอนุญาตให้จับยึดสินค้าทั้งที่อยู่ระหว่างการขนส่งและส่งออก ซึ่งเป็นการคุ้มครองที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลง TRIPs ที่ระบุให้สามารถยึดจับได้ในกรณีนำเข้าเท่านั้น ทางเอฟทีเอว็อทช์จึงมีข้อเสนอว่าประเด็นเรื่องมาตรการชายแดนในการเจรจาความตกลง RCEP ไม่ควรมีเนื้อหาและข้อผูกมัดเกินไปกว่าความตกลง TRIPs และต้องไม่ครอบคลุมถึงการบังคับใช้กับการละเมิดสิทธิบัตร การคุ้มครองข้อมูลการทดลองเพื่อขึ้นทะเบียนยา การละเมิดเครื่องหมายการค้าโดยไม่ตั้งใจ และสินค้าที่ส่งออกหรืออยู่ในระหว่างการขนส่ง
2.ประเด็นเรื่องค่าเสียหายในกรณีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในบทว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของ RCEP ระบุให้ศาลต้องมีคำตัดสินในเรื่องค่าเสียหายตามที่ผู้ทรงสิทธิ์เรียกร้องเท่านั้น ซึ่งอาจมีมูลค่าที่เกินเลยและไม่สมเหตุผล ศาลอาจไม่สามารถมีคำตัดสินในเรื่องค่าเสียหายเป็นอย่างอื่นได้ ในกรณีที่เป็นยาที่จำเป็นเพื่อรักษาชีวิตประชาชน ศาลควรที่จะมีคำตัดสินที่อะลุ่มอะล่วยได้ โดยให้บริษัทยาชื่อสามัญจ่ายค่าใช้สิทธิ์หรือค่าเสียหายในจำนวนที่สมเหตุสมผล ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่าค่าเสียหายควรเป็นดุลยพินิจของศาล และควรจะจำกัดเฉพาะในกรณีการปลอมเครื่องหมายการค้าที่จงใจและการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าเท่านั้น และต้องไม่รวมถึงการละเมิดในเรื่องสิทธิบัตร การคุ้มครองข้อมูลการทดลองเพื่อขึ้นทะเบียนยา และการละเมิดเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้ตั้งใจ
3.ประเด็นเรื่องระยะเวลาการจับยึด ซึ่ง RCEP ระบุระยะเวลาที่อนุญาตให้มีการยึดจับยาชื่อสามัญที่ต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือการคุ้มครองข้อมูลการทดลองฯ ที่ยาวนานเกินไป จะเปิดช่องให้บริษัทยาผู้ทรงสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในการสกัดกั้นการแข่งขันของยาชื่อสามัญและเป็นอุปสรรคประวิงเวลาการขนส่งทำให้ผู้ป่วยได้รับยาและการรักษาล่าช้าออกไปหรืออาจเสียชีวิตก่อน ดังนั้นเสนอให้ตัดเนื้อหานี้ออกจากร่างความตกลง RCEP
4.ประเด็นเรื่องมาตรการคุ้มครองการสาธารณสุข โดยในบทว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเน้นแต่ในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด แต่ในร่างความตกลง RCEP ไม่ได้ระบุถึงมาตรการคุ้มครองการสาธารณสุขไว้มากพอในอันที่จะส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกนำมาตรการยืดหยุ่นตามความตกลง TRIPs มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเสนอว่าควรระบุมาตรการคุ้มครองการสาธารณสุขของความตกลง TRIPs ทั้งหมดไว้ในความตกลง RCEP และต้องไม่มีข้อเสนอที่เป็นข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลง TRIPs ในเนื้อหาการเจรจา
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ในภาพรวมแล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นจากบทว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในร่างความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP จะทำให้ผู้ทรงสิทธิ์ในสิทธิบัตรสามารถฟ้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนมหาศาลจากบริษัทยาชื่อสามัญและขัดขวางการส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทางได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะสร้างความหวั่นเกรงจนบริษัทยาชื่อสามัญจนไม่กล้าหรือเลิกล้มความพยายามที่จะผลิตยาจำเป็นออกมาแข่งขันในตลาด และจะทำให้เกิดการผูกขาดและผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นเอฟทีเอว็อทช์จึงขอให้ผู้แทนการเจรจาการค้าความตกลงเขตการค้าเสรี RCEP มีท่าทีไม่รับข้อเสนอในบทว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลง TRIPs และไทยควรสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีจุดยืนร่วมกันในเรื่องการลงทุนที่คำนึงถึงความเป็นอิสระของประเทศในการออกหรือบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นสำคัญ