'สมศักดิ์' รมว.สธ. ตอบกระทู้ประชุมสภา แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ชี้ต้องแก้ทั้งระบบ ผลิตแพทย์เพิ่มควบคู่ลดจำนวนผู้ป่วย ไม่เช่นนั้นเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ตอบกระทู้ถามสด ที่ตั้งถามโดย น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี สส.อุบลราชธานี เขต 4 พรรคเพื่อไทย กรณีแนวทางแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ให้ความสนใจในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก ให้เร่งรัดแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน และได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาบุคลากรขาดแคลนและกระจายตัวไม่เหมาะสมส่งผลต่อการให้บริการรักษาคนไข้ เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากต้องแก้เป็นระบบ
"ส่วนแนวการแก้ไขปัญหาระยะสั้น คือ การนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการ ระยะกลาง เช่น ส่งเสริมป้องกัน ลดป่วยโรค NCDs และระยะยาว คือ ผลิตแพทย์และกระจายแพทย์ลงพื้นที่ ดังนั้น การแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เราจะแก้เฉพาะการเพิ่มแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลดจำนวนผู้ป่วยลง" นายสมศักดิ์ ระบุ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากสถิติมีประชาชนใช้บริการในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขถึง 304 ล้านครั้งต่อปี โดยอัตราส่วนปัจจุบันแพทย์ 1 ต่อ 922 และมีเป้าหมายจะต้องเพิ่มแพทย์ให้ได้ 1 ต่อ 650 จากจำนวนแพทย์ที่มีอยู่ 31,074 คน ต้องเพิ่มอีก 71,616 คน ถ้าหากเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์อย่างเดียวและไม่ลดจำนวนคนป่วยเลยเพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่พอ และต้องใช้เวลาอีก 10 ปี จำนวนแพทย์จึงจะทำได้ครบตามเป้า
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตัวเลขของการใช้จ่ายในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากอดีตจนถึงปัจจุบันมีการใช้จ่ายมากกว่า 50% เราจะมุ่งทำให้คนป่วยลดลง และลดการไปรักษาพยาบาล ลดการแออัดแล้ว จึงจัดโครงการคนไทยห่างไกลโรคติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เราใช้สโลแกน NCDs ดีได้ด้วยกลไก อสม. NCDs ถือเป็นภาระหนักของระบบสาธารณสุขไทย เสียชีวิตปีละ 400,000 คน
ปัจจุบันคนป่วยในระบบการรักษาเฉพาะ NCDs 33 ล้านคน แบ่งเป็น เบาหวานเพิ่มขึ้นปีละ 300,000 คน มะเร็งเพิ่มขึ้นปีละกว่า 140,000 คน งบประมาณปี 2560 ของ สปสช.จำนวน 127,651 ล้านบาท ใช้รักษา NCDs สูงถึง 62,138 ล้านบาท ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้คนไทยเข้าโรงพยาบาล ปีละ 304 ล้านครั้ง สูญเสียทางอ้อม 1.1 ล้านล้านบาท สูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี NCDs เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินการใช้นโยบายป้องกันเพิ่มเติม และมั่นใจว่า ไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มเติมมีแต่จะใช้งบประมาณน้อยลง ถ้าเราสามารถลดคนป่วยได้ ตัวเลขที่กล่าวมาแล้ว ความแออัดในโรงพยาบาลก็จะลดลง
“วันนี้เรารณรงค์ให้มีการคิดคำนวณที่เรียกว่านับคาร์บ ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วย แม้แต่แพทยสภาเห็นพ้องต้องกันเรื่องการลดจำนวนผู้ป่วยที่เกิดจากบริโภคอาหาร มีคนบอกว่าคนไทยทำนาต้องบริโภคข้าวเป็นหลัก ผมคิดว่าคนทำงานหนักต้องบริโภคแป้งข้าวมากๆ แต่คนทำงานเบาอ่านเขียนหนังสือ ต้องบริโภคคาร์โบไฮเดรตให้น้อย ใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เรารณรงค์ให้คนและบริโภคคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ไปแล้วเกือบ 20 ล้านคน เป้าหมายของเราจะรณรงค์ให้ได้ 50 ล้านคน ในวันที่ 30 กันยายน หรือมากกว่านั้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การรณรงค์นี้ ได้ให้ อสม. เป็นตัวช่วยหลัก วันนี้นับคาร์บ ได้เกือบ 20 ล้านคน ถ้านับได้ครบตามเป้าหมาย 50 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขเตรียม ให้รางวัล อสม.แล้ว โดยการตรวจสุขภาพให้ครบถ้วน ขณะที่พระภิกษุสงฆ์เจ็บไข้ได้ป่วยถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ตนและกระทรวงสาสุขได้ไปถวายความรู้ในเรื่องการบริโภค มั่นใจจะสามารถลดคนป่วยที่จะเข้าสู่การรักษาพยาบาลได้ ในระยะสั้นมีการพัมนาศูนย์ข้อมูล ใช้ดิจิทัลเข้ามา เทเลเมดิซีน การนัดคิวและแจ้งเตือนผ่านออนไลน์ มีระบบแพทย์ทางไกล ส่งยาผ่านเฮลท์ไรเดอร์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการสนับสนุนความเป็นอยู่ของแพทย์พยาบาล โดยแฟลต อาคารชุด ห้องพักบุคลากรนั้น ได้มีการของบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำคำขอทุกปี รวมทั้งสิ้น 1,890 คำขอ แต่ได้รับการจัดสรรประมาณ 1 ใน 3 หรือ ราว 601 คำขอ แบ่งเป็นบ้านพัก 529 หน่วย อาคารพักเจ้าหน้าที่ 19 หน่วย ห้องชุดครอบครัว 34 หน่วย อาคารพักแพทย์ พยาบาล 17 หน่วย หอพัก / อาคารพัก 2 นอกจากนี้ยังได้มีนโยบายที่จะของบประมาณจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาพัฒนาด้วย
@ ก.พ.เผยสธ.สูญเสียข้าราชการสูงสุด ลาออก 5,268 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟชบุ๊ก LIRT : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยข้อมูลการสูญเสียข้าราชการพลเรือนสามัญ สูงสุด 5 กระทรวง ปีงบประมาณ 2566 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 ระบุว่า
โดยพบว่า กระทรวงสาธารณสุข มีอัตราสูญเสียสูงสุด รวม 9,308 คน แบ่งเป็น เกษียณ 3,843 คน การลาออก 5,268 คน ผิดวินัย 9 คน และเสียชีวิต 188 คน
รองลงมาคือ กระทรวงมหาดไทย รวม 2,375 แบ่งเป็นเกษียณ 1,236 คน การลาออก 1,020 คน ผิดวินัย 55 คน และเสียชีวิต 64 คน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวม 1,606 คน แบ่งเป็นเกษียณ 904 คน การลาออก 616 คน ผิดวินัย 21 คน และเสียชีวิต 65คน
กระทรวงการคลัง รวม 1,585 คน แบ่งเป็นเกษียณ 931 คน การลาออก 604 คน ผิดวินัย 18 คน และเสียชีวิต 32 คน
กระทรวงคมนาคม รวม 806 คน แบ่งเป็นเกษียณ 499 คน การลาออก 280 คน ผิดวินัย 6 คน และเสียชีวิต 21 คน