"...เรื่องดังกล่าวมาผ่าน 19 ปี จนมาถึงในปี 2568 เกิดเหตุการณ์ ‘ทุนใหญ่’ ฟ้อง ‘นักวิชาการด้านสื่อ’ ซึ่งสวมหมวกเป็น กสทช. ถึงการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคอีกครั้ง แต่คราวนี้แตกต่างจากกรณีของ ‘สุภิญญา’ เมื่อศาลพิพากษาจำคุก ‘ดร.พิรงรอง’..."
กลายเป็นเรื่องสะเทือน ‘แวดวงสื่อสารมวลชน’ พลันที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน อดีตอาจารย์ประจําภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ถูกบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องร้องในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 โดยในคำพิพากษาตอนหนึ่ง ระบุข้อเท็จจริงว่า มีการออกหนังสือเตือนทีวีดิจิทัลมีโฆษณาแทรก และมีเจตนากลั่นแกล้งให้กิจการของบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้รับความเสียหาย
- ศาลฯให้ประกันตัว ‘พิรงรอง’ หลังโดนคุก 2 ปี คดีทรูฟ้อง ม.157 ปมออกหนังสือเตือนโฆษณา
- สรุป! คำพิพากษาคุก 2 ปี ‘พิรงรอง’ คดีทรู จะล้มยักษ์ มุ่งกลั่นแกล้งให้เสียหาย
- 'พิรงรอง Effect' : กฎหมาย กสทช.ล้าหลัง ไม่ตอบโจทย์-ไร้อำนาจคุม OTT
ในข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าว คงต้องรอคำพิพากษาฉบับเต็มเพื่อดูการชี้แจงอย่างเป็นทางการของ ‘ดร.พิรงรอง’ เสียก่อน เนื่องจากในเอกสารข่าว (Press Release) ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของศาลสรุปมาให้นั้น มิได้ระบุถึงข้อโต้แย้ง หรือข้อต่อสู้ของจำเลย อย่างไรก็ดีขณะนี้ ‘ดร.พิรงรอง’ ได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
แต่สิ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบ หรือลืมไปแล้ว เคยเกิดกรณี ‘ทุนใหญ่’ ฟ้องร้อง ‘นักวิชาการด้านสื่อ’ เช่นกัน โดยเมื่อปี 2549 ในช่วงโค้งสุดท้ายของ ‘รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2’ กลุ่ม ‘ชินคอร์ป’ ของเครือข่ายตระกูล ‘ชินวัตร’ ได้ฟ้องร้อง ‘สุภิญญา กลางณรงค์’ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน อดีต กสทช. เมื่อครั้งสวมหมวกเป็น เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณามาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เล่าย้อนไปถึงช่วงบรรยากาศปลายรัฐบาล ‘ทักษิณ 2’ ที่ถูกภาคประชาสังคม และแวดวงสื่อมวลชน วิพากษ์วิจารณ์ถึงหลายโครงการของรัฐบาลส่อเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชัน ส่อมีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงอาจเข้าข่าย ‘แทรกแซง’ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยหนึ่งในหัวหอกนักวิชาการด้านสื่อซึ่งศึกษาค้นคว้าวิจัย และออกมาพูดเรื่องดังกล่าวมีชื่อของ ‘สุภิญญา กลางณรงค์’ รวมอยู่ด้วย
จุดเริ่มต้นของคดี มาจาก “สุภิญญา” ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ในประเด็นความร่ำรวยขึ้นของธุรกิจเครือ ‘ชินคอร์ป’ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลที่เอื้อผลประโยชน์ให้ 3 ธุรกิจในเครือ คือธุรกิจดาวเทียม ธุรกิจโทรทัศน์ และธุรกิจมือถือ ส่งผลให้กลุ่ม ‘ชินคอร์ป’ ยื่นฟ้องคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาท และฟ้องทางแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท
ในคำพิพากษาฉบับย่อที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ระบุว่า สุพจน์ วาทิตต์พันธ์ ที่ปรึกษาบริษัทในเครือชินคอร์ป ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะเลขาธิการ คปส. บริษัท ไทยเจอร์นัลกรุ๊ป จำกัด (เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์) โรจ งามแม้น (นามปากกา เปลว สีเงิน) ประธานกรรมการบริหารบริษัท กรรณิการ์ วิริยะกุล กรรมการบริหาร และทวีสิน สถิตย์รัตนชีวิน บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และตามพ.ร.บ.การพิมพ์
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 อ้างประกอบดังกล่าว จะเห็นพฤติการณ์แห่งคดีมีอยู่อย่างไร อันจะวินิจฉัยได้ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อการให้ข่าวหรือไม่อย่างไร เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นกรรมการบริษัทโจทก์ (ชินคอร์ป) แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการโดยไม่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นกรรมการอยู่ด้วยก็ตาม บริษัทโจทก์ก็ยังมีญาติของพันตำรวจโททักษิณ เป็นกรรมการอยู่ ทั้งบริษัทโจทก์ดำเนินการอันเป็นธุรกิจอันเป็นกิจการสาธารณะ
ส่วนจำเลยที่ 1 เคยศึกษาและวิจัยปัญหาอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้ตลอดมา อีกทั้งในขณะที่จำเลยที่ 1 ให้ข่าว จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นรองเลขาธิการ คปส.มีวัตถุประสงค์ค้นคว้าวิจัยปัญหานี้อยู่ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ให้ข่าวจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นตามข้อมูลที่ได้มาจากบริษัทโจทก์ จากการศึกษาวิจัยของจำเลยที่ 1 และข้อมูลจากบุคคลภายนอก ซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียกับบริษัทโจทก์ และการให้ข่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต มิได้มุ่งประสงค์จะใส่ความบริษัทโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้บริษัทโจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่อย่างใด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3)
ศาลพิเคราะห์จากพยานโจทก์และจำเลยทั้งห้าแล้ว วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ให้ข่าวตามข้อมูลที่ได้มาจากบริษัทโจทก์ จากการศึกษา วิจัยของจำเลยที่ 1 และข้อมูลจากบุคคลภายนอก ซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียกับริษัทโจทก์และจำเลยที่ 1 การให้ข่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต มิได้มุ่งประสงค์จะใส่ความบริษัทโจทก์ โดยประการที่น่าจะทำให้บริษัทโจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะและติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนพึงกระทำ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ลงพิมพ์โฆษณา มีข้อความตรงกับที่จำเลยที่ 1 ให้ข่าวทุกประการ มิได้มีการเสริมปรุงแต่ง ให้ผิดแผกไปจากข้อความเดิม ย่อมชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำไปโดยสุจริต มิได้มีประสงค์จะใส่ความบริษัทโจกท์โดยประการที่น่าจะทำให้บริษัทโจทก์ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังบริษัทโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่มีความผิดตามฟ้องอีกเช่นกัน พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5
ภายหลังคำพิพากษาดังกล่าวไม่กี่วัน ‘สุภิญญา’ พูดผ่านเวทีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่จัดเสวนาเรื่อง ‘สื่อชนะ ประชาชนชนะ กรณีศึกษา : สุภิญญา-ไทยโพสต์ ชนะชินคอร์ป’ เพื่อสรุปบทเรียนเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเธอระบุว่า เราเองก็ไม่แน่ใจว่า ที่สู้กันมานี้มันเป็นชัยชนะของประชาชน ของสื่อหรือเปล่า ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำให้สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่
“ถ้าห้ามคิดได้ด้วยเขาคงห้าม แต่โชคดีที่ความคิดมันห้ามกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยที่สุด มันก็เป็นชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของทั้งสองสิ่งนี้” สุภิญญา ระบุ
บรรทัดฐานการตัดสินของศาลในคดีดังกล่าว ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในการ ‘ปกป้องเสรีภาพสื่อ’ จากการทำหน้าที่ จนสุดท้าย ‘รัฐบาลทักษิณ 2’ ถูกมวลชนม็อบพันธมิตรฯชุมนุมขับไล่ และนำไปสู่เหตุการณ์ รัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 จนกลายเป็น ‘จุดเปลี่ยนการเมืองไทย’ ไปตลอดกาล
@ สุภิญญา กลางณรงค์
ขณะที่ ‘สุภิญญา’ ภายหลังยอมรับและแสดงความเสียใจต่อสาธารณะ ในบทบาทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรฯ จึงประกาศลดบทบาทความเคลื่อนไหว ยุติการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คปส. หลังครบวาระ และไปดำรงตำแหน่งรองประธาน คปส. แทน
เหตุการณ์หลังจากนั้น ‘สุภิญญา’ ยังคงทำหน้าที่นักวิชาการสื่อสารมวลชน เคยเข้าไปดำรงตำแหน่ง อนุกรรมาธิการของวุฒิสภา ในยุค ‘สว.แต่งตั้ง’ หลังรัฐประหาร หลังจากนั้นในปี 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็น 1 ใน กสทช. โดยปฏิบัติหน้าที่มาถึงปี 2560 กระทั่งเจ้าตัวประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกศาลฎีกาพิพากษาว่ามีความผิดจากคดีปีนรั้วสภา ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการรวม 10 คน เพื่อคัดค้านการตรากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังรัฐประหารเมื่อปี 2550
ปัจจุบัน ‘สุภิญญา’ ยังคงปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนอยู่ โดยได้รับเชิญเป็นผู้ร่วมเสวนาตามเวทีต่าง ๆ
เรื่องดังกล่าวมาผ่าน 19 ปี จนมาถึงในปี 2568 เกิดเหตุการณ์ ‘ทุนใหญ่’ ฟ้อง ‘นักวิชาการด้านสื่อ’ ซึ่งสวมหมวกเป็น กสทช. ถึงการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคอีกครั้ง แต่คราวนี้แตกต่างจากกรณีของ ‘สุภิญญา’ เมื่อศาลพิพากษาจำคุก ‘ดร.พิรงรอง’
อย่างไรก็ดีบริบทของทั้ง 2 คดียังแตกต่างกัน กล่าวคือ กรณี ‘สุภิญญา’ ถูกฟ้องในฐานะประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ ‘ทุนใหญ่’ ส่วน ‘ดร.พิรงรอง’ ถูกฟ้องในฐานะ ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ มีอำนาจกำกับดูแล ‘กลุ่มทุนสื่อ’
ดังนั้นการถอดบทเรียนระหว่าง 2 คดีคงแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือ ‘ทุนใหญ่’ ยังคงมีบทบาทกำหนดทิศทางในสังคมไทย ไม่ต่างอะไรกับเมื่อ 19 ปีก่อน?
กับความเจ็บปวดของผู้บริโภค ที่ยังคงวนเวียนให้เห็นอยู่ในสังคมไทยเหมือนเดิม