สภา มสธ.ส่งหนังสือด่วนถึง รมว.อว.ขอความเป็นธรรมปมถูกพาดพิงปัญหาแต่งตั้งอธิการบดี ขาดธรรมมาภิบาล เเจงปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายทุกข้อ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2568 ดร. นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์อุปนายกสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเรื่อง ขอติดตามทราบข้อเท็จจริงและขอความเป็นธรรมกรณีการกล่าวพาดพิงมติคณะกรรมการการอุดมศึกษา ลงวันที่ 27 ม.ค. 2568 มีรายละเอียดดังนี้
ตามหนังสือที่อ้างถึงมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ขอทราบข้อเท็จจริงกรณีการกล่าวพาดพิงมติคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งเผยแพร่ข่าวในสื่อออนไลน์ของสำนักข่าวอิศรา และสำนักข่าวผู้จัดการ เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 มีข้อความตอนหนึ่งว่า บุคคลที่ปรากฏในภาพข่าวนั้น ได้กล่าวว่า “...ขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการการอุดมศึกษาฯ ได้มีมติแล้วว่า สภา มสธ. ขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง แต่กลับมีความพยายามส่งคนเข้าไปล็อบบี้เพื่อเปลี่ยนแปลงมติ อันยิ่งทำให้กระบวนการบริหารงานสถาบันอุดมศึกษาไทยเสื่อมเสียและอาจมีผลกระทบกระเทือนถึงบุคคลสำคัญได้...” ซึ่งการให้ข้อมูลต่อสำนักข่าวดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญที่มีชั้นความลับของทางราชการที่อาจเกิดความเสียหายต่อสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยจึงได้ขอทราบข้อเท็จจริงกระบวนการตรวจสอบตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา และประสงค์ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับทางราชการ
สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ขอเรียนว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชยังไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงกรณีการกล่าวพาดพิงมติคณะกรรมการการอุดมศึกษาดังกล่าวข้างต้น จากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และหากเป็นความจริงตามที่บุคคลในภาพข่าวกล่าวอ้าง ย่อมไม่เป็นธรรมและเป็นการพิจารณาดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย
เนื่องจาก สภามหาวิทยาลัยยังไม่มีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในประเด็นข้อร้องเรียนหรือข้อกล่าวหาก่อนที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาจะพิจารณามีมติทั้งนี้ ตามมาตรา 30 แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
และล่าสุด สภามหาวิทยาลัยได้มีหนังสือตามที่อ้างถึงแจ้งการเริ่มกระบวนการสรรหาอธิการบดีรายใหม่ภายหลังจากที่ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ถอดถอนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมถอดถอน นายชัยเลิศ พิชิตพรชัย พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2559 พร้อมทั้งได้สรุปประเด็นปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมาที่ไม่สามารถเสนอขอโปดเกล้าฯ ถอดถอนอธิการบดีรายเดิมและเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีรายใหม่ได้ เพราะเหตุที่มีประเด็นปัญหาข้อร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในคดีถอดถอนอธิการบดีรายเดิม และคดีการสรรหาอธิการบดีรายใหม่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองที่ยังไม่ยุติเป็นที่สุดทั้งสองคดี
โดยในระยะเวลาที่ผ่านสภามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่มีมติโดยสรุปว่า ให้สภามหาวิทยาลัยรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีการถอดถอนอธิการบดีรายเดิมก่อนที่จะดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีรายใหม่ เนื่องจากในขณะนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดยังไม่ได้มีคำพิพากษาเป็นที่ยุติ และการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ถอดถอนอธิการบดีรายเดิมและการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีรายใหม่ต้องเสนอมาตามลำดับขั้นตอน และสภามหาวิทยาลัยยังได้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง แนวปฏิบัติในการเสนอเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา ซึ่งกำหนดว่า การเสนอเรื่องเกี่ยวกับการขอพระราชทานพระมหากรุณาในเรื่องต่างๆ ส่วนราชการต้องพึงระมัดระวังตรวจสอบกลั่นกรองว่าได้ดำเนินการในเรื่องนั้นๆ ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องแล้ว รวมทั้งหากเป็นเรื่องที่มีข้อร้องเรียนว่า มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือแนวทางปฏิบัติได้กำหนดไว้ ก็สมควรได้ตรวจสอบหรือดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่ยุติเสียก่อน รวมทั้งเรื่องที่เสนอต้องไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาล อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
นอกจากนี้ สภามหาวิทยาลัยยังได้ดำเนินการตามข้อกำชับสั่งการตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่เวียนแจ้งซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการเสนอเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณา โดยแจ้งสรุปว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมายังมีส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เสนอเรื่องที่มีประเด็นปัญหากรณีที่มีข้อร้องเรียนที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลว่า มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวทางปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ อันเป็นเหตุให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถดำเนินการนำความกราบบังคมทูลพระมหากรุณาต่อไปได้
ดังนั้น เพื่อให้การขอพระราชทานพระมหากรุณาในเรื่องต่างๆ สามารถดำเนินการนำความกราบบังคมทูลได้อย่างถูกต้อง เรียบร้อย ไม่เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จึงให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติของหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัดต่อไป
อีกทั้ง สภามหาวิทยาลัยยังได้ดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อสั่งการตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กรณีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกที่มีแนวทางปฏิบัติว่า การเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีรายใหม่ แทนอธิการบดีรายเดิมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง เห็นควรที่จะดำเนินการในเรื่องถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีให้แล้วเสร็จเสียก่อนที่จะดำเนินการเสนอเรื่องเพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีรายใหม่ให้ดำรงตำแหน่ง เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอน
สภามหาวิทยาลัยขอเรียนว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาสภามหาวิทยาลัยไม่ได้เพิกเฉยต่อการดำเนินการเสนอโปรดเกล้าฯ ถอดถอนอธิการบดีและเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ประสบปัญหาในประเด็นปัญหาที่มีข้อร้องเรียนและมีการพิจารณาคดีต่อศาลปกครองที่ยังไม่ยุติเป็นที่สุดทั้งคดีถอดถอนอธิการบดีและคดีการสรรหาอธิการบดีดังกราบเรียนข้างต้น
ปัจจุบันได้มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ บ. 128/2567 ระหว่าง รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ฟ้องสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ,นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ถูกฟ้องคดีที่1-2 ซึ่งเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยในการประชุม ที่มีมติทบทวนมติของสภามหาวิทยาลัยในการประชุม ที่เลือก รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณธรรม เป็นผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดี และมีมติให้เพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยเดิมดังกล่าว และมีมติให้ยกเลิกประกาศสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เรื่อง รายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี
เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยพบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์การกระทำเกี่ยวกับคุณสมบัติและความเหมาะสมของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดีที่ประจักษ์ชัดเจนเปลี่ยนแปลงไปโดยมีพยานหลักฐานสนับสนุนว่า รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณธรรม ขาดคุณสมบัติและไม่มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ในเรื่องไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และมีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ก่อนที่จะเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และไม่สามารถเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไปได้ จึงมีผลให้รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณธรรม กลายเป็นผู้ไม่ได้รับการเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี
สภามหาวิทยาลัยจึงไม่มีหน้าที่จำต้องเสนอชื่อ รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณธรรม เพื่อเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีต่อสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อีกต่อไป และรองศาสตราจารย์ ดร.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ยังได้มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของสภามหาวิทยาลัยดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองกลางได้พิจารณาคำขอทุเลาการบังคับตามมติสภามหาวิทยาลัยแล้ว วินิจฉัยโดยสรุปว่า การที่สภามหาวิทยาลัยในการประชุม กรรมการเสียงข้างมาก 8เสียง มีมติทบทวนมติของสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมที่เลือก รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณธรรม เป็นผู้ได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดี ที่มีมติ จึงไม่น่าจะปรากฏเหตุว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ศาลจึงมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามมติสภามหาวิทยาลัยดังกล่าว
สภามหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับ โดยวินิจฉัยแล้วว่ามติสภามหาวิทยาลัยดังกล่าวไม่น่าจะปรากฏเหตุว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ทำให้มติสภามหาวิทยาลัยยังมีผลใช้บังคับตามกฎหมายอยู่ และขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ หรือคณะกรรมการการอุดมศึกษา เกี่ยวกับประเด็นปัญหาการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงต้องถือตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย แนวปฏิบัติในการเสนอเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาและการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครองที่ยุติเป็นที่สุดเสียก่อน
สภามหาวิทยาลัยจึงกราบเรียนมาเพื่อขอติดตามทราบข้อเท็จจริงและขอความเป็นธรรมกรณีการกล่าวพาดพิงมติคณะกรรมการการอุดมศึกษาและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของกระทรวง การอุดมศึกษาฯ ในเรื่องดังกล่าว หากมีการดำเนินการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของสภามหาวิทยาลัยโดยไม่เป็นไปตามการพิจารณาใช้ดุลพินิจ บนพื้นฐานกฎหมาย แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและการดำเนินการ กระบวนการยุติธรรมทางศาล สภามหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องถวายฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรมต่อไป เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่การจัดการศึกษาและการบริหารราชการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและแจ้งข้อเท็จจริงให้ทราบด้วย