สสส.ผนึกกำลัง สมาคม-มูลนิธิ 57 แห่ง ร่วมลงชื่อยื่นหนังสือถึง กรมการปกครอง ก.มหาดไทย ขอให้ยกเลิกเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ. สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. .... ชี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพรวมกลุ่มประชาชนในสังคมประชาธิปไตย กระบวนการจัดทำไม่สอดคล้อง รธน. ออกกฎหมายเกินความจำเป็นเพิ่มภาระการดำเนินการ แถมกำหนดมาตรการลงโทษทางอาญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 นายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ยกเลิกการเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ. สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. ....เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ขณะที่จัดทำร่างฉบับนี้ขึ้นใหม่มาแทนที่ เป็นกระบวนการจัดทำกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 และยังเป็นการออกกฎหมายเกินความจำเป็น และเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการของสมาคมหรือมูลนิธิเกินสมควร ขณะที่การกำหนดมาตรการลงโทษทางอาญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรด้วย
หนังสือฉบับนี้ ระบุว่า ตามที่กรมการปกครองได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. …. ที่เป็นการยกเลิกความ ในส่วนที่ 2 สมาคม และส่วนที่ 3 มูลนิธิ มาตรา 78 ถึง มาตรา 136 ในหมวด 2 นิติบุคคล ลักษณะ 2 บุคคล แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และความในหมวด 2 ความผิดเกี่ยวกับสมาคมและมูลนิธิ มาตรา 49 ถึงมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 และกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย นั้น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กร สมาคม มูลนิธิ ดังปรากฏชื่อท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอแสดงความกังวลและเสนอความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. …. ดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1. การยกเลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวดที่ว่าด้วยสมาคมและมูลนิธิ และจัดทำร่างฉบับนี้ขึ้นใหม่มาแทนที่ เป็นกระบวนการจัดทำกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ที่กำหนดว่าเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฉบับนั้นทุกรอบระยะที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย ทั้งให้รัฐพึงตรากฎหมายเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน แต่การจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ..... ดังกล่าวไม่มีการประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวดที่ว่าด้วยสมาคมและมูลนิธิและไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนสมาคมหรือมูลนิธิก่อนแต่อย่างใด นอกจากนี้ เป็นการออกกฎหมายเกินความจำเป็น และเป็นการเพิ่มภาระการดำเนินการของสมาคมหรือมูลนิธิเกินสมควร
2. ร่างกฎหมายนี้ มีเนื้อหาขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 ประกอบมาตรา 42 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 22 อีกทั้งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ขัดต่อหลักนิติธรรม เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิ เกินสมควรแก่เหตุ ไม่มีเหตุผลความจำเป็นและกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
2.1 การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจในการควบคุมคุณสมบัติของบุคคลที่ประสงค์จะเป็นกรรมการสมาคมหรือมูลนิธิตามร่างมาตรา 17(5) ที่มีการระบุว่า กรรมการสมาคมหรือมูลนิธิจะต้องไม่เป็น “ผู้มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือไม่เหมาะสมที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของสมาคมและมูลนิธิหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นปรปักษ์กับการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย และอาจเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลยพินิจในการตีความหมายอย่างกว้าง โดยอาศัยเพียงแค่การใช้ “ข้อสงสัย” เท่านั้น การระบุถ้อยคำเช่นนี้ในกฎหมายย่อมทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวางได้ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบอันขัดต่อหลักนิติธรรม
2.2 การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมวัตถุประสงค์ หรือการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ โดยสั่งถอนชื่อสมาคมและมูลนิธิเมื่อปรากฏภายหลังว่ามีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ หรือการสั่งให้กรรมการยุติการปฏิบัติหน้าที่ และแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นการชั่วคราว ซึ่งควรเป็นอำนาจทบทวนตรวจสอบของศาลมากกว่าจะเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่
2.3 การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมการรับเงินอุดหนุน หรือเงินบริจาคจากต่างประเทศ เป็นสิทธิของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมคุ้มครอง หรือทำให้เกิดผลการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสันติวิธีที่จะร้องขอ รับ และใช้ทรัพยากรเพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการรับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ สิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มาตรา 13 (UN Declaration on Human Rights Defenders) ค.ศ. 1998 ที่ประเทศไทยรับรอง อีกทั้ง การทำธุรกรรมทางการเงินจากต่างประเทศต้องผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งถูกควบคุมโดยธนาคารแห่งประทศไทยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเข้มงวด นอกจากนี้สมาคมและมูลนิธิอยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบที่รัดกุมอยู่แล้ว เพราะมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องเสนอรายงานการดำเนินงานรวมทั้งรายงานการเงินที่มีการตรวจสอบบัญชีทุกปีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเพิ่มข้อกำหนดตามร่างพระราชบัญญัติที่เสนอจึงเป็นการควบคุมการรับเงินจากต่างประเทศที่ซ้ำซ้อนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและเกินความจำเป็น2.4 การให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าไปในอาคาร หรือบริเวณที่ทำการสมาคมหรือมูลนิธิ เพื่อตรวจสอบการดำเนินกิจการของสมาคมหรือมูลนิธิโดยไม่มีหมายค้นของศาล เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในเคหสถาน ซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 และมาตรา 33 และกติกาว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17
2.5 การกำหนดมาตรการลงโทษทางอาญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่ได้สัดส่วน อาทิ การดำเนินกิจการของกรรมการสมาคมหรือมูลนิธิ การไม่แจ้งเลิกสมาคมหรือมูลนิธิต่อนายทะเบียน กรรมการสมาคมหรือมูลนิธิไม่เสนอรายงานการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน การไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบกิจการของสมาคมหรือมูลนิธิ
สำหรับรายชื่อสมาคมและมูลนิธิที่ร่วมลงนาม ในหนังสือฉบับนี้ มีจำนวน 57 แห่ง ประกอบไปด้วย
1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
2. สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
3. สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม
4. สมาคมเครือข่ายช่วยเหลือทางกฎหมายเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA-LAW)
5. สมาคมพราว
6. สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
7. สมาคมคนทาม
8. สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ (สอพ.)
9. สมาคมฟื้นฟูระบบนิเวศชุมชนอีสาน
10. สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ (สปส.)
11. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)
12. สมาคมส่งเสริมภาคประชาสังคม
13. สมาคมผู้บำรุงพันธุ์แกะปัตตานี
14. สมาคมเครือข่ายพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้
15. มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย
16. มูลนิธิเพื่อการศึกษา
17. มูลนิธิคนเพียงไพรภาคเหนือ
18. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
19. มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
20. มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม
21. มูลนิธิวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
22. มูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า
23. มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย
24. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
25. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
26. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
27. มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
28. มูลนิธิสื่อประชาธรรม
29. มูลนิธิวายไอวาย
30. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
31. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
32. มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา Foundation for Education and development (FED)
33. มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.)
34. มูลนิธิรักษ์เด็ก (มรด.)
35. มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF)
36. มูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม
37. มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส)
38. มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
39. มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก
40. มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
41. มูลนิธิศักยภาพชุมชน
42. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
43. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
44. มูลนิธิคนตัวดี
45. เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ ( MovED)
46. โครงการกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อชุมชน (G' law)
47. Book Republic
48. กลุ่มรุ้งอรุณ จังหวัดลำปาง
49. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
50. สมัชชาคนจน
51. เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group)
52. กลุ่มทำทาง
53. กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม
54. สหพันธ์คนงานข้ามชาติ
55. พรีเชียสพลาสติกแบงค็อก (Precious Plastic Bangkok)
56. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
57. โพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย