ครม. เห็นชอบ ถอนข้อสงวนข้อ 22 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯของยูเอ็น ตาม พม.เสนอ ส่งผลให้รัฐต้องรับเด็กลี้ภัย-ครอบครัว มาดูแลเท่าเทียมกับเด็กที่เป็นพลเมืองไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ต่อองค์การสหประชาชาติต่อไป ตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
นางรัดเกล้า กล่าวว่า สาเหตุของการตั้งข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ในช่วงที่ประเทศไทยพิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ปี 2531-2535 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป พยายามชักนำรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ ให้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ทำให้เกิดความเข้าใจว่าหากไม่มีข้อสงวน ข้อ 22 จะทำให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการจัดหาที่พักพิงและการดูแลผู้ลี้ภัยในการตั้งถิ่นฐานถาวรที่ไม่เป็นไปตามการดำเนินการตามกรอบกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรมได้ จึงเป็นเหตุผลให้ประเทศไทยยังคงตั้งข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ ไว้
พม.ได้จัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ความพร้อมของประเทศไทยต่อการถอนข้อสงวน รวมถึงความพร้อมของประเทศไทยในการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ให้เป็นไปภายใต้กรอบการดำเนินการรองรับการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งด้านกลไก มาตรการ กฎหมาย พันธกรณี กติกา และตราสารระหว่างประเทศที่ประเทศไทยรองรับ (เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งมีข้อบทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเด็กลี้ภัยอยู่ด้วย)
ส่งผลให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของประเทศไทยเป็นมาตรการที่เหมาะสมตามอนุสัญญาฯ ข้อ 22 เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งให้ความคุ้มครองเด็กทุกคนอย่างครอบคลุมและไม่เลือกปฏิบัติ
แม้ว่าประเทศไทยจะยังมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับการถอนข้อสงวน ข้อ 22 บางประการ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลระบุตัวตนเด็ก การกำหนดบริการด้านสาธารณสุขที่ชัดเจนในประเด็นการเข้าถึงบริการ ระบบคัดกรอง แนวทางการส่งต่อบริการ รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง แต่ประเทศไทยได้ดำเนินการขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนบริการสำหรับเด็กที่ได้การรับรองสิทธิตามข้อ 22 โดยจะได้มีการตอบสนองต่อข้อห่วงใยในประเด็นต่างๆ เพื่อยกระดับการดูแลเด็กทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับแผนปฏิบัติการการถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ จะกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการ ตัวชี้วัดหลัก และกรอบระยะเวลาอย่างเป็นขั้นตอนในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิเด็กที่ได้รับการรับรองสิทธิตามข้อ 22 ของอนุสัญญาฯ เพื่อยกระดับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อ 22 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กฯ ระบุว่า รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า เด็กที่ร้องขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัย หรือที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยตามกฎหมายหรือกระบวนการภายในหรือระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีบิดามารดาของเด็กหรือบุคคลอื่น ติดตามมาด้วยหรือไม่ก็ตาม จะได้รับการคุ้มครองและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่เหมาะสมในการได้รับสิทธิที่มีอยู่ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้ และในตราสารระหว่างประเทศอื่น ๆ อันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรมซึ่งรัฐดังกล่าวเป็นภาคี
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ทำงานด้านสิทธิเด็ก กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีเพิกถอนข้อเสนอดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไทยต้องรับเด็กที่ลี้ภัยมา รวมถึงครอบครัว มาดูแลเท่าเทียมกับเด็กที่เป็นพลเมืองไทยตามกฏหมายระหว่างประเทศ จากปัจจุบันที่รัฐบาลรับเด็กซึ่งลี้ภัยอยู่แล้วแต่เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม เท่านั้น