โรคติดต่อไม่เรื้อรัง คร่าชีวิตคนไทย 4 แสนคน/ปี สูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1.6 ล้านล้าน! กมธ.สธ.วุฒิสภาเปิดผลการศึกษา 'สร้างเสริมสุขภาวะ ป้องกันก่อนรักษา' จี้รัฐตั้งงบฯ นำนโยบายป้องกัน สร้างแรงจูงใจดูแลสุขภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมวุฒิสภา มีวาระการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมีการรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง สร้างเสริมสุขภาวะ ป้องกันก่อนรักษา ซึ่งคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ที่มีนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ พิจารณาเสร็จแล้ว
นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะอนุกรรมาธิการ ในคณะอนุกรรมาธิการสร้างเสริมสุขภาวะป้องกันก่อนรักษา กล่าวถึงสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 3 ใน 4 ของคนไทย โดยปัจจัยเสี่ยงมาจาก 5 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.บุหรี่ 2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ -3.อาหารที่มีรสชาติหวาน มัน เค็ม 4. กิจกรรมทางกาย และ5.มลภาวะทางอากาศ
สำหรับการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีนั้น นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า ทำอย่างไรให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษามีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี มีการควบคุมให้มีการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และขยายไปถึงสถานประกอบการ ในชุมชน อีกทั้งระบบกฎหมาย ต้องเข้ามาควบคุมกำกับ โดยเฉพาะเครื่องมือทางภาษี เช่นเดียวกับภาษีความหวาน ซึ่งวัตถุประสงค์การจัดเก็บภาษีไม่ได้เน้นเรื่องของรายได้แต่ต้องการให้ผู้ประกอบการปรับลดสูตรความหวานลง
“หลังมีการเก็บภาษีความหวาน วันนี้คนไทยบริโภคน้ำตาลลดลงอย่างชัดเจน จากเดิม 26 ช้อนชาต่อวัน เหลือ 24 ช้อนชาต่อวัน เราอยากเห็นภาพแบบนี้ในประเด็นการลดการบริโภคโซเดียมของคนไทย ความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ กฎหมายต้องเข้ามาเป็นเครื่องมือให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย”
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ อภิปรายตอนหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำประเทศสมาชิกลดการบริโภคโซเดียมในประชากรให้ได้อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2568 เพื่อลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมีการแนะนำมาตรการหลายมาตรการ เช่น มาตรการด้านราคา มาตรการที่รัฐเข้าไปสนับสนุนอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้มีราคาถูกลง ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ มีความเค็ม ก็ใช้มาตรการทางภาษี ปัจจุบันมี 5 ประเทศบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีความเค็ม
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังแนะนำให้ใช้มาตรการ การกำหนดปริมาณโซเดียมสูงสุดในอาหารสำเร็จรูป มาตรการปรับสูตรอาหารสำหรับร้านอาหาร พัฒนาเครื่องวัดความเค็ม และมาตรการจัดซื้อจัดจ้างอาหารในองค์กรของรัฐ กำหนดหวาน เค็ม มันไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นต้น
ด้านนายพิศาล มาณวพัฒน์ ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวถึงสาระสำคัญในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง สร้างเสริมสุขภาวะ ป้องกันก่อนรักษา ว่า โรคNCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย หรือประมาณ 4 แสนคนต่อปี คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1.6 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 97 ของ GDP
“ความสูญเสียเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นวิกฤติที่สังคมไทยรู้สึกว่า เป็นเรื่องปกติไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง”ประธานอนุกรรมาธิการฯ ระบุ
ทั้งนี้ ในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง สร้างเสริมสุขภาวะ ป้องกันก่อนรักษา นายพิศาล กล่าวว่า มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐบาล ดังนี้
1.ขอให้ตั้งงบประมาณเพื่อทำเรื่องป้องกันโรค NCDs โดยเฉพาะ กำหนดกรมผู้รับผิดชอบหลักกรมเดียว เป็นเจ้าภาพ กำหนดตัวชี้วัดที่ผล
2. ยกระดับการรณรงค์ต้านหวาน เค็ม มัน ลากโยงถึงความเสี่ยงของโรคมะเร็ง
“การณรงค์ต้านหวาน เค็ม มัน ต้องกระชากความรู้สึกให้ได้ผลถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วงการแพทย์ และองค์กรนานาชาติ แถลงชัดเจน การบริโภคน้ำตาลเกินมาตรฐาน ทำให้น้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน และเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งถึง 13 ชนิด มะเร็งที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด”
3. นำนโยบายสุขภาพดีมีคืน ลงสู่การปฏิบัติ โดยใช้มาตรการภาษี สร้างแรงจูงใจ โยงตัวเลขสุขภาพ ชีพจร การก้าวเดิน ค่าดัชนีมวลกาย ค่าน้ำตาล โซเดียม ไขมันในเลือด คำนวณเป็นแต้มสะสม เพื่อรับสวัสดิการ เงินประชานิยมต่างๆ
“กระทรวงการคลัง ต้องคิดจัดเก็บภาษีที่ดึงดูด และไม่สนับสนุนให้คนบริโภคอาหารเครื่องดื่มที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ภาษี VAT ที่จัดเก็บร้อยละ 7 ขณะนี้ ซึ่งหากรัฐบาลประกาศ สินค้าอาหารสำเร็จรูป หรือเครื่องดื่มใดได้ สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ บนผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม รัฐบาลจะไม่เก็บ VAT นี่จะเป็นการใช้เครื่องมือทางภาษีลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระยะยาว
ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมีแอพลิเคชั่นหมอพร้อม อยากให้ปรับปรุงเป็นแอพฯ เป็น สุขภาพดีมีคืน ให้คำนวณเป็นแต้ม เพื่อให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือแจกเงินดิจิทัล ปรับเงินสวัสดิการต่างๆ เหมือนประเทศสิงคโปร์ทำ Health Promotion Board (HPB) รณรงค์ให้ประชาชนสิงคโปร์มีสุขภาพดีขึ้น มีการแจกนาฬิกาแอปเปิ้ล แจกเงินตามก้าวเดินของผู้สูงอายุ และมีแรงจูงใจอื่นๆ เช่น ให้แพทย์สั่งอาหารสุขภาพ ลดหวาน เค็ม มัน แทนการจ่ายยาลดโซเดียมในเลือด ลดไขมัน น้ำตาลในเลือด”
4.การดูและสร้างเสริมสุขภาพต้องเริ่มตั้งแต่ทารกในครรภ์และต้นน้ำ
และ 5.กระจายอำนาจ สนับสนุนท้องถิ่นและชุมชนบริหารจัดการภารกิจป้องกันโรค NCDsในตลาด โรงเรียน วัด ชมรมผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ มติที่ประชุมวุฒิสภา ได้เห็นชอบด้วยกับรายงาน พร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการและมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป