อย.ออกประกาศฉลากจีเอ็มโอแบบใหม่ ต้องแสดงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะมีส่วนประกอบน้อยหรือมาก เริ่มปี 2568 หลังเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายผู้บริโภคผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง 7 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ รองหัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรของผู้บริโภคกว่า 144 องค์กร ผลักดันเพื่อให้มีการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอาหารจีเอ็มโอ (GMOs : Genetically Modified Organism) หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม มาตั้งแต่ปี 2559 โดยพยายามผลักดันให้ฉลากจีเอ็มโอมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 431) พ.ศ. 2565 เรื่อง อาหารที่ได้สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2565 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ฉบับใหม่ขึ้นมาและมีการบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป ทุกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอต้องแสดงฉลาก
“การที่ อย.ออกประกาศเรื่องการแสดงฉลากในผลิตภัณฑ์จีเอ็มฉบับใหม่ออกมานั้นนับว่าเป็นความสำเร็จของเครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค เพื่อผลักดันให้ฉลากของผลิตภัณฑ์ที่มีจีเอ็มโอ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค” น.ส.มลฤดี กล่าว
น.ส. มลฤดี กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป ทุกฉลากอาหารในประเทศไทยต้องแสดงฉลากตามประกาศฉบับใหม่ที่ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ได้แก่ พืช สัตว์ จุลินทรีย์ ที่มีการตัดต่อ ตัดแต่ง ดัดแปร หรือเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมหรือผสมผสานสารพันธุกรรมใหม่จากวิธีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่และใช้บริโภคเป็นอาหาร รวมถึงที่ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากพืชหรือสัตว์ที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอ ตั้งแต่ร้อยละ 5 ต้องระบุข้อความว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” ไว้ที่ฉลาก ซึ่งรวมถึงส่วนประกอบอาหารตามสูตรที่กำหนดแม้จะไม่มีส่วนประกอบหลักที่เป็นจีเอ็มโอ แต่หากว่ามีการปนเปื้อนจำนวนที่น้อยกว่า 5% ก็ต้องระบุไว้ในฉลากเช่นกัน นอกจากนี้ยังให้ผู้ประกอบการต้องแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม พื้นสีเหลืองตัวอักษรสีดำ โดยมีข้อความว่าภาษาอังกฤษ “GMO” บนฉลากผลิตภัณฑ์หรือผ่านโปรแกรมแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย ในส่วนของฉลากเก่ายังใช้ได้ถึง ธันวาคม 2567
ขณะที่ในประกาศฉบับเก่านั้นพบปัญหาสำคัญของผู้บริโภค คือ การที่ฉลากไม่ชัดเจนและไม่สามารถมองไม่เห็นฉลากที่ระบุว่า ‘อาหารนั้นมีส่วนประกอบจากการดัดแปรพันธุกรรม’ อีกทั้งฉลากยังมีขนาดที่เล็กเกินไป ซึ่งส่วนนี้เครือข่ายทั้งภาคประชาชนและผู้บริโภคเห็นว่าจะทำให้ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิพื้นฐานในการเลือกซื้อสินค้า (Right to Choose) ตามสิทธิผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไป ขอให้ผู้บริโภคร่วมกันดูฉลากอาหาร GMOs ใหม่ ถ้าพบเห็นมีการใช้ฉลากแบบเก่า สามารถแจ้งเบาะแสไปที่ อย. ที่เบอร์สายด่วน 1556 หรือแจ้งเบาะแสมาที่สภาผู้บริโภคได้ตามช่องทาง ดังนี้
- เตือนภัยผู้บริโภค : https://crm.tcc.or.th/portal/inform.php
- ร้องเรียนออนไลน์ : https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain
- อีเมล : [email protected]
- โทรศัพท์ : 02 239 1839 กด 1
- เฟซบุ๊กอินบ็อกซ์ : สภาองค์กรของผู้บริโภค
- Line Official : @tccthailand ลิงก์ https://lin.ee/uhDyO1U
ทั้งนี้ ในปี 2559 จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการดังนี้
1. อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือวัตถุเจือปนอาหารที่ผลิตมาจากจุลินทรียที่ไม่ทำให้เกิดโรค ที่ดัดแปรพันธุกรรมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยที่กำหนด โดยเฉพาะความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์
2. ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 215 พ.ศ. 2545 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค โดย
-
2.1. กำหนดให้อาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มโอ หรือวัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตมาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ได้แก่ เมล็ดพืชดัดแปรพันธุกรรม และอาหารหรือวัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตมาจากจุลินทรียที่ไม่ทำให้เกิดโรคที่ดัดแปรพันธุกรรม ต้องผ่านประเมิน ความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยง ต้องกำหนดอย่างละเอียด ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปรับปรุงใหม่
-
2.2. กำหนดให้อาหารทุกชนิดและวัตถุดิบที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม เป็นอาหารที่ต้องมีฉลากที่ชัดเจน โดยต้องมีการแสดงฉลากว่า มาจากเทคโนโลยีจีเอ็มโอ ในทุกกรณีที่ตรวจพบแทนที่ของเดิมที่ระบุเฉพาะส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ เหมือนในประเทศญี่ปุ่นที่จะต้องระบุ GMO-used
-
2.3. ให้ฉลากมีสัญลักษณ์จีเอ็มโอในรูปสามเหลี่ยมที่ชัดเจนและเห็นได้ชัด ดังที่มีการดำเนินการในประเทศบราซิล
-
2.4. ขอให้ยกเลิกข้อห้ามการใช้ข้อความ‘ปลอดอาหารดัดแปรพันธุกรรม’ หรือ ‘ไม่ใช่อาหารดัด แปรพันธุกรรม’หรือ ‘ไม่มีส่วนประกอบของอาหารดัดแปรพันธุกรรม’ หรือข้อความ อื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน โดยให้ผู้ประกอบการนำสินค้าของตนเองไปรับการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ก่อนการนำข้อความดังกล่าวมาโฆษณาบนฉลาก
3. กำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบหลังการอนุญาตจำหน่าย (Post-Marketing) และ ตรวจสอบอาหารที่ประกาศว่า อาหารปลอดการดัดแปรพันธุกรรม (non-GM)
4. เร่งรัดพัฒนาระบบการรายงานความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร (Food Alert System for Thai Consumers) และให้มีการเปิดเผยข้อมูลการทดสอบความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร แก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง
5. ข้อเสนอต่อ กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ หากมีการดำเนินการในอนาคตขอให้ยึดหลักการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขต้องมีบทบาทสำคัญเป็นหน่วยงานในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยึดหลักป้องกันไว้ก่อน และในกฎหมายนี้จำเป็นต้องมีมาตรการชดเชยเมื่อได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มทั้งหมด