ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก 4 ตำรวจห้วยขวาง คนละ 5 ปี ตั้งด่านเรียกเงินดาราสาวไต้หวันครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าริบเงินของกลาง 27,000 บาท ยกฟ้อง 2 คน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำพิพากษา ในคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ยื่นฟ้อง ร้อยตำรวจเอก ย. กับพวกรวม 6 คน ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวางที่ถูกดำเนินคดียัดบุหรี่ไฟฟ้าเรียกเงิน อัน อวี๋ฉิง หรือ ชาลีน อัน ดาราสาวไต้หวัน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ,เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ,เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่วาการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83,149, 157 พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 5,13 พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่26) พ.ศ.2560 มาตรา 7 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 172, 173
คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 จำเลยทั้ง 6 ซึ่งเป็นตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าสถานทูตจีน จำเลยที่ 5 สังเกตเห็นรถยนต์มีลักษณะต้องสงสัยจึงส่งสัญญาณให้จอดเพื่อให้จำเลยที่ 4,6 ทำการตรวจต้น โดยมีจำเลยที่ 1-3 อยู่ร่วมกันในบริเวณดังกล่าวพบว่ากลุ่มคนโดยสารมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง 3 อัน ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้ามฯตาม พรบ.ศุลกากรฯ และเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถแสดงหนังสือเดินทาง หรือหลักฐานอื่นใดว่าได้เดินทางเข้ามาในประเทศโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
จากนั้นจำเลยที่ 1-6 ได้ร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเป็นเงินสดจำนวน 27,000 บาท จากนาย ป. ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนต่างชาติข้างต้นเพื่อให้ไม่ต้องถูกดำเนินคดี นาย ป. จึงจำยอมส่งมอบเงิน จำนวน 27,000บาท ให้กับจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 1,2 จึงสั่งให้ปล่อยตัวนาย ป. กับพวกออกจากจุดตรวจไปโดยไม่ดำเนินการตามกฎหมายกับนาย ป. กับพวกแต่อย่างใด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้ง 6 ระทำความผิดหรือร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนาย ป. ผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานสำคัญเบิกความสอดคล้องกับบันทึกคำให้การที่ได้ให้การไว้ต่อหนักงานสอบสวนได้ความว่า ในคืนวันเกิดเหตุพยานกับเพื่อนถูกเจ้าหนักงานตำรวจที่ตั้งจุด ตรวจอยู่บริเวณหน้าสถานทูตจีนตรวจค้นตัว จากการตรวจค้นตัวพยานและเพื่อนพบบุหรี่ไฟฟ้า 3 อัน และเมื่อถูกขอตรวจดูหนังสือเดินทางในกลุ่มของพยานมีเพียงคนเดียวที่พกพาหนังสือเดินทางฉบับจริง ส่วนที่เหลือมีภาพถ่ายในโทรศัพท์เคลื่อนที่ เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่า พยานกับพวกทำผิดกฎหมายคือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง และไม่พกพาหนังสือเดินทางต้องถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจอาจถูกควบคุมตัวไว้ 2 - 3 วัน หรืออาจถูกจำคุก พยานพยายามพูดคุยต่อรองให้เจ้าหนักงานตำรวจปล่อยตัวพยานกับพวก จนในที่สุดเจ้าพนักงานตำรวจได้บอกให้พยานจ่ายเงินกรณีที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง 3อัน อันละ 8,000บาท และพยานกับพวก 3คน ไม่พกหนังสือเดินทางอีก 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัว
พยานจึงจ่ายเงินจำนวน 27,000 ให้เจ้าพนักงานตำรวจคนดังกล่าวไป และพยานสามารถจดจำใบหน้าเจ้าพนักงานตำรวจที่เข้ามาพูดคุยต่อรองกับพยานได้ 3คน คือ จำเลยที่ 2-4 นอกจากนี้ขณะที่มาเบิกความเป็นพยานที่ศาล นาย ป. ได้ซี้ตัวจำเลยที่ 2-4ผ่านระบบประชุมทางจอภาพได้ถูกต้องแม่นยำ ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะอ้างว่าขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่รถยนต์สายตรวจห่างออกไป 30 เมตร ไม่ได้เข้ามาพูดคุยหรือรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ปรากฎข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ว่า ขณะตรวจค้นตัวนาย ป. จำเลยที่ 3เดินไปเพื่อรายงานให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการทราบ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 บอกว่า ให้จำเลยที่ 2 ใช้ดุลยพินิจตัดสินใจได้เพราะจำเลยที่ 2เป็นหัวหน้าชุดเหมือนกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้า
ชุดปฏิบัติการย่อมต้องรับรู้และรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้
ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4เป็นผู้ตรวจค้นตัวกลุ่มผู้เสียหาย ประกอบกับการที่ นาย ป. ตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 4 ที่ขออนุญาตศาลถามว่า ระหว่างที่นาย ป. พูดคุยเจรจาอยู่กับจำเลยที่ 2,3 นั้นจำเลยที่ 4 เดินไปเดินมาและบางครั้งก็เข้ามาพูดกับนาย ป. กับพวกว่าคนสิงคโปร์เดินทางเข้าประเทศไทยต้องขอวีซ่า จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 รับรู้และมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,157 และ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฯมาตรา 172,173 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1-4 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และพรป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 193
ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่จำต้องปรับบท มาตรา 157 และมาตรา 172ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกสำหรับจำเลยที่ 5,6ปรากฎข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุจำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด้านหน้าสุดของจุดตรวจ มีหน้าที่คัดกรองรถต้องสงสัยเพื่อส่งต่อให้เจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ด้านหลังห่างกันประมาณ 35 เมตร จำเลยที่ 5เป็นผู้เรียกให้รถยนต์คันที่ผู้เสียหายทั้ง4นั่งมาเพื่อขอตรวจค้น เมื่อส่งสัญญาณให้รถคันดังกล่าวจอดแล้ว ดาบตำรวจ อ. ได้รับรถคันดังกล่าวไปดำเนินการต่อโดยที่จำเลยที่ 5 ได้ปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดที่รับผิดชอบต่อไปไม่ได้เดินไปที่จุดตรวจที่อยู่ด้านหลังจนกระทั่งเลิกจุดตรวจ จากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่จะบ่งซี้ว่าจำเลยที่ 5 เข้าไปมีส่วนร่วมใกล้ชิดในการกระทำผิดที่เกิดขึ้น
ส่วนกรณีจำเลยที่ 4 ให้การไว้ว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค.66 เวลา 0.45 จำเลยที่ 5 ได้นำเงินสดจำนวน 3,000บาท มามอบให้แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นเงินอะไร เห็นว่า ลำพังเพียงข้อเท็จจริงเรื่องเงินนี้ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าเป็นเงินอะไรได้มาอย่างไรจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงส่วนนี้เพียงอย่างเดียวมาพิสูจน์ความถูกผิดของจำเลยที่ 5 ได้
ส่วนจำเลยที่ 6 ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 6 รับผิดชอบประจำอยู่ตรงจุดตรวจทำหน้าที่ตรวจค้นรถและตัวบุคคลคู่กับจำเลยที่ 4โดยจำเลยที่ 6 เป็นคนแจ้งให้กลุ่มผู้เสียหายลงจากรถและทำการตรวจค้น ระหว่างนั้นผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิงได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพ จำเลยที่ 4,6 จึงห้ามไม่ให้ถ่ายภาพและ ขอให้ลบข้อมูลออกจนเกิดการโต้เถียงกัน จนจำเลยที่ 2,3 ได้เดินเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มผู้เสียหายแทน
จำเลยที่ 6 จึงแยกตัวออกมาทำการตรวจค้นรถอยู่บริเวณฝั่งเกาะกลางถนนห่างออกไปประมาณ 30เมตร จนถึงเวลา 3.15 น.จึงเดินกลับมาที่เดิมซึ่งไม่เห็นกลุ่มผู้เสียหายแล้ว เห็นว่า จากพยานหลักฐานที่ปรากฎไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 6 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามฟ้องเช่นเดียวกัน
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 173 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83การกระทำของจำเลยที่ 1-4เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุกคนละ 5 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 5-6 ริบเงิน 27,000บาท ที่จำเลยที่ 1-4ได้มาจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการคดีนี้ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
หากจำเลยที่ 1-4ไม่สามารถส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวได้เพราะเหตุว่าโดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น หรือการติดตามเอาคืนจะกระทำได้โดยยากเกินสมควร หรือมีเหตุสมควรประการอื่นให้จำเลยที่ 1-4ร่วมกันชำระเงิน 27,000
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ดำเนินกระบวนพิจารณาจำนวน 8 นัด รวมระยะเวลานับตั้งแต่วันฟ้อง (31 มี.ค. 66) ถึงวันอ่านคำพิพากษาเป็นเวลา 7 เดือน 8 วัน
รูปปกจาก คมชักลึก