ราชบัณฑิตยสภาจัดเสวนา เสนอทางออกยุคเอไป เผยประเทศไทยสามารถพัฒนา เอไอ ไปไกล หากได้รับความร่วมมือ ชี้ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา จัดเสวนาวิชาการร่วมกับ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยุคเอไอมาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม (Arrival of AI Era: Is Thailand Ready?)
ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ราชบัณฑิต นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานเปิดเสวนากล่าวว่า ความจริงแล้วเรื่อง AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์นั้นมีการพูดถึงมาแล้วตั้งแต่ ปี ค.ศ.1950 โดยอลัน ทัวริง และมีจัดการประชุมขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ ปี ค.ศ. 1956 ซึ่งตอนนั้นมีการคาดการณ์กันว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้าคอมพิวเตอร์จะมีความฉลาดเหมือนกับสมองของมนุษย์ และสามารถพิสูจน์ได้ว่าคอมพิวเตอร์นั้นสามารถเอาชนะมนุษย์ได้ในการแข่งขันหมากรุก เมื่อปี ค.ศ. 1997
ปัจจุบันเอไอได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ในทางการแพทย์ เอไอได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้านการวินิจฉัยโรคและการรักษาโรค เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ แต่ผู้ป่วยนั้นมีจำนวนมาก เอไอจึงเข้ามามีบทบาทในการรักษา การวินิจฉัยโรคที่ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ดร.สิระ ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวะกรรมศาสตร์ได้มีการทำงานร่วมกันในการพัฒนาโมเดลต่างๆ เพื่อใช้ในทางการแพทย์ และภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19นั้น ทำให้แพทย์ทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงได้พัฒนาเอไอมาช่วยในการรักษาผู้ป่วย มีการนำAI มาใช้ในการดูแลผู้ป่วยแบบ Home Isolation ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีการนำ Federated Learning เข้ามาช่วยในการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มโรงพยาบาลต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาล เนื่องจากข้อมูลของผู้ป่วยนั้นเป็นความลับ ไม่สามารถเผยแพร่ได้ ซึ่งเอไอนั้นสามารถทำนายระดับความรุนแรงของโรคได้อย่างแม่นยำ ถึงกระนั้นการนำเอไอมาใช้อย่างแพร่หลายในทางการแพทย์นั้นยังคงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโมเดลให้มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ Founder and CEO บริษัท ListenField, Japan กล่าวถึงการประยุกต์ใช้เอไอในภาคเกษตรว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมถึง 1ส่วน3 โดยใช้พื้นที่กว่า 40% ของประเทศ แต่ค่า GDP ของภาคเกษตรกรรมนั้นมีเพียง 8%เท่านั้น ภาคเกษตรกรรมใช้ทรัพยากรมหาศาล แต่ผลลัพธ์ที่ได้น้อยมาก
ดังนั้นจึงต้องนำเอไอมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต โดยมีการนำเอไอเข้ามาช่วยในด้าน Scan ใช้เอไอในการตรวจสอบดิน เพราะดินเป็นส่วนสำคัญของการเกษตร , Monitor การนำเอไอมาช่วยในการบริหารจัดการ และ Prediction การนำเอไอมาช่วยในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ
ทางด้าน ศ.ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิตและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันนั้นจะเห็นได้ว่า หลายภาคส่วนได้มีการนำเอไอมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้สามารถแบ่งบุคคลออกเป็น 3 กลุ่ม คือ มหาวิทยาลัย รัฐบาลและประชาชน
-
มหาวิทยาลัยพร้อมและตื่นตัวมา 20 กว่าปีแล้ว แต่งานส่วนใหญ่มักเน้นประยุกต์ algorithms ที่มีอยู่แล้วกับสาขาต่างๆ ไม่มีการพัฒนาปัญหาใหม่ที่เป็นแก่นแท้ของสาขา ปัญหาเชิงทฤษฎี algorithms ใหม่ และที่สำคัญ นักศึกษานั้นมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่อ่อน ขณะที่คณิตศาสตร์เป็นรากฐานของการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ
-
รัฐบาลตื่นตัวและพร้อมแล้ว สังเกตได้จากการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำร่างแผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์สถาบันวิชาการป้องกันประเทศกองบัญชาการกองทัพไทยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์กับจุดเปลี่ยนของสงครามในอนาคต
-
ประชาชนนั้นเคยใช้เอไอแต่ไม่รู้ว่าเอไอคืออะไร บางคนอาจใช้ในทางที่สร้างความเดือดร้อน บางคนไม่รู้เบื้องหลังว่าโปรแกรมทำงานอย่างไร และบางคนกลัวว่าเอไออาจจะมาแย่งงานทำ ดังนั้นรัฐต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องนี้ เพราะต้องเตรียมรับมือกับการเข้ามาของเอไอในอนาคต
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา และรองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุถึงความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเข้าสู่ยุคเอไอว่า ประเทศไทยได้มีการตื่นตัวแล้ว มีการเปิดหลักสูตรใหม่ผ่านการจัดการศึกษาหลักสูตร Sandbox โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการผลิตกำลังคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน เพื่อให้การผลิตกำลังคนตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงาน การผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีทักษะที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และมีความสามารถในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง
ดังนั้นหลักสูตร Sandbox นั้นจึงเป็นความหวังของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผอ.กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ NECTEC อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย กล่าวว่า ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ.2565-2570 พิจารณาจากบริบทความพร้อมและการประยุกต์ใช้เอไอในประเทศไทยใน 4 ด้าน คือ
-
ด้านกำลังคน ขาดศูนย์กลางเพื่อรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กำลังคนที่มีความสามารถไม่เพียงพอ และศักยภาพทางเทคโนโลยีมีจำกัด
-
ด้านการประยุกต์ใช้งานของภาคธุรกิจ การใช้งานเอไอในภาคธุรกิจยังจำกัด งานวิจัยและนวัตกรรมในประเทศไทยยังไม่พร้อมไปสู่การใช้งาน ความปลอดภัยในการประยุกต์ใช้งานยังไม่เพียงพอ มาตรการส่งเสริมการใช้งานยังไม่เพียงพอ
-
ด้านจริยธรรม กฎหมาย กฎระเบียบและมาตรฐาน หลักเกณฑ์จริยธรรมเอไอยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ขาดกฎหมายและกฎระเบียบที่เหมาะสม ขาดการวางแผนและเตรียมความพร้อมทางด้านสังคมในมิติต่างๆ
-
ด้านปัจจัยสนับสนุนของประเทศ ขาดศูนย์กลางในการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ ขาดยุทธศาสตร์เอไอประเทศ และขาดโครงสร้างพื้นฐานรองรับการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้งานระดับประเทศ