สื่อท้องถิ่นสหรัฐฯ ตีข่าวกรมแรงงานฯ มินิโซตาสั่งสอบโรงงานแปรรูปเนื้อสุกรรายใหญ่ HyLife Foods Windom ปมค่าแรงงานก่อนปิดกิจการเลิกจ้างพนง.นับพันคน ผู้เกี่ยวข้องในไทย โต้ข้อมูลคาดเคลื่อน จ่ายเงินครบแล้วย้ำบริษัทพร้อมทำตามหลักธรรมาภิบาล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ข่าว https://minnesotareformer.com เสนอข่าวกรมแรงงานและอุตสาหกรรมมินนิโซตาประจำรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการสืบสวนกรณีข้อครหาค่าจ้างแรงงานในโรงงานบริษัทแปรรูปเนื้อสุกร HyLife Foods Windom ซึ่งโรงงานนี้ตั้งอยู่ที่เมืองวินดอม รัฐมินนิโซตา และเพิ่งจะปิดกิจการถาวรไปพร้อมกับเลิกจ้างแรงงานจำนวนกว่า 1,000 คน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา
การสืบสวนดังกล่าวนั้นยังได้ขยายผลไปถึงกรณีการอนุมัติให้จ้างงานตามกฎหมาย กรณีการคุ้มครองแรงงานต่างชาติจากการเนรเทศอีกจำนวนกว่า 500 คน ซึ่งแรงงานต่างชาติจำนวน 500 คนที่ว่านี้เป็นผู้ที่ได้รับวีซ่าชั่วคราว และถูกว่าจ้างจากบริษัท Hylife Windom
ทางกรมแรงงานฯ ประจำรัฐมินนิโซตา ได้มีการส่งจดหมายไปถึงกระทรวงความมั่นคงมาตภูมิของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งให้กับทางกระทรวงได้รับทราบ พร้อมกับขอให้กระทรวงชะลอการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานที่ถูกบริษัท Hylife Windom ว่าจ้างนับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2564-ช่วงเวลาที่โรงงานได้ปิดตัวลงในเดือนนี้
ในจดหมายดังกล่าวยังได้อ้างถึงแนวทางของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการให้การดำเนินการเกี่ยวกับการแรงงานนั้นเลื่อนออกไป ให้มีการคุ้มครองแรงงานจากการเนรเทศเป็นการชั่วคราว และให้ใบอนุญาตทำงานแก่เหยื่อหรือพยานที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายแรงงาน
กรมแรงงานฯได้ขอให้กระทรวงฯ ได้เลื่อนการดำเนินการออกไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสองปี สำหรับการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับแรงงานประเภทวีซ่า H-2B (แรงงานผู้เชี่ยวชาญ/ไม่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน) ทุกคนที่ถูกว่าจ้างโดยบริษัท Hylife Windom ในช่วงเวลาที่กรมแรงงานฯ ได้ดำเนินการสืบสวน
โดยโครงการจ้างงานแรงงานประเภทวีซ่า H-2B นั้นเป็นโครงการที่อนุญาตให้บริษัทต่างๆสามารถว่าจ้างแรงงานต่างชาติได้เป็นการชั่วคราวเมื่อมีชาวอเมริกันไม่เพียงพอที่จะเติมเต็มความต้องการของบริษัท ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่าวีซ่า H-2B จะมีแค่หนึ่งปี แต่ก็สามารถต่ออายุได้ทุกปีนานถึงสามปี
ขณะที่ตอนนี้คนงานบางคนได้เริ่มกระบวนการขอต่อใบอนุญาต และเริ่มกระบวนการทางกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกส่งกลับประเทศแล้ว
“กรมแรงงานฯเชื่อว่าการใช้ดุลพินิจของอัยการและการออกเอกสารอนุญาตการจ้างงาน จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าคนงานที่ได้รับผลกระทบสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสืบสวนของกรมแรงงานฯ ได้อย่างเต็มที่และเป็นอิสระ และในทางกลับกันจะช่วยให้กรมแรงงานฯประสบความสําเร็จในการติดตามและสามารถดำเนินการเยียวยาที่เหมาะสมในเรื่องนี้” กรมแรงงานฯระบุ
ขณะที่สำนักข่าวสืบสวน Investigate Midwest ก็รายงานว่าได้รับสำเนาจดหมายลงวันที่ 6 มิ.ย. จากอดีตพนักงาน HyLife Foods Windom คนหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อเพราะกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อสถานการณ์เข้าเมืองของเขา
สำนักข่าวจึงได้ไปติดต่อทางกรมแรงงานฯ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสำเนาจดหมายและการสืบสวน อย่างไรก็ตามทางด้านของนายเจมส์ ฮอนเนอร์แมน โฆษกของกรมแรงงานฯ ตอบกลับมาว่า “ไม่มีข้อมูลสาธารณะที่จะสามารถตอบคำขอของสำนักข่าวได้”
ส่วนบริษัท HyLife Foods Windom ก็ไม่ได้ตอบคำถามของสำนักข่าวเช่นกัน
ในข่าวระบุว่าเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่โรงงานแห่งนี้ต้องปิดตัวลงทำให้วีซ่าของคนงานจำนวนนับร้อยคนนั้นถูกทำให้สิ้นสุดสถานะก่อนที่คาดการณ์ไว้ นี่ส่งผลทำให้บริษัท Hylife ต้องดำเนินการส่งตัวแรงงานซึ่งส่วนมากแล้วมาจากประเทศฟิลิปปินส์และเม็กซิโกกลับสู่ประเทศต้นทางภายในระยะเวลา 10 วัน
อย่างไรก็ตามแรงงานบางคนเลือกจะไม่กลับประเทศและพยายามหาช่องทางทางกฎหมายเพื่อจะได้ทำงานต่อในสหรัฐฯ
สำหรับข้อมูลของบริษัท HyLife Foods Windom นั้นพบว่าเป็นบริษัทย่อยของบริษัทแปรรูปเนื้อสุกรที่มีฐานของบริษัทใหญ่อยู่ที่เมืองมานิโทบา ประเทศแคนาดา โดยเป็นบริษัทที่มีกิจการขายเนื้อสุกรแปรรูปขนาดใหญ่ในแคนาดาและในสหรัฐอเมริกา
โดยบริษัท HyLife Foods Windom นั้นยื่นคำขอล้มละลายไปตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีบริษัท Premium Iowa Pork เข้ามาซื้อกิจการบริษัทต่อด้วยมูลค่า 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (487,340,000 บาท) อย่างไรก็ตาม บริษัทใหม่เลือกที่จะไม่รักษาแรงงานเอาไว้
ส่วนข้อมูลจากปี 2565 ระบุว่าบริษัท HyLife นั้นว่าจ้างแรงงานวีซ่า H-2B เป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับโรงงานแปรรูปเนื้ออื่นๆในสหรัฐอเมริกา
หมายเหตุ ข่าวต้นทางจาก:https://minnesotareformer.com
ขณะที่ แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Hylife ในประเทศไทย ชี้แจงสำนักข่าวอิศราระบุว่า ข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Hylife มีความคลาดเคลื่อน เพราะว่าได้มีการจ่ายแรงงานให้กับแรงงานต่างชาติในส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว
"จากกรณีดังกล่าวนั้นทางบริษัทไฮไลฟ์นั้นรับทราบข่าวแล้ว และขอยืนยันว่าทางบริษัทนั้นพร้อมจะปฏิบัติตามหลักการธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้อง" แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Hylife ในประเทศไทยระบุ