ในฐานะคนอยู่หน้างาน เรื่องโควิด-19 เป็นผลกระทบไปทุกประเทศทุกชาติในโลก ถ้าเราไม่อาศัยจังหวะนี้ในการทำงานร่วมกันก็ยากมากที่จะฟันฝ่าไปได้ เราจัดการประเทศเราได้ดี ประเทศเพื่อนบ้านไม่ดี สักวันก็จะกลับมาในประเทศเรา
ในช่วงที่มีข่าวแรงงานต่างชาติติดเชื้อโควิด-19 ถึง 42 คนในศูนย์กักกัน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลานั้น หนึ่งในทีมแพทย์ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจระดับประเทศครั้งนี้ และเป็นกำลังหลักร่วมกับโรงพยาบาลสะเดาจัดระบบและวางแผนการดูแล เพื่อทำเป็นโรงพยาบาลสนาม ทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดพื้นที่ภายในศูนย์กักกันให้สอดคล้องในหลักการควบคุมป้องกันการติดเชื้อ ดูแลระบบสุขาภิบาล การจัดการขยะ การส่งต่อผู้ป่วย โดยยึดหลักมนุษยธรรม ดูแลตามมาตรฐานทางการแพทย์ นั่นก็ นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
นพ.สุวัฒน์ บอกเล่าถึงการลงไปจัดการกับเรื่องนี้ ผ่าน FM 96.5 เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า กรณีที่แรงงานต่างชาติถึง 42 คน ถูกกักตัวอยู่ที่ศูนย์กักตัวฯ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ติดโควิด-19 เรื่องนี้ย่อมทำให้ประชาชนวิตกกังวลถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่มากก็น้อย
“หลังจากทราบข่าว ก็ได้ลงไปยังพื้นที่ทันที สภาพของศูนย์กักตัวนั้นใช้เป็นที่กักตัวชาวต่างชาติทั้งแรงงานต่างชาติ คนเข้าเมืองผิดกฎหมายและอื่นๆ เพื่อรอส่งตัวกลับประเทศต้นทาง และเนื่องจากช่วงนี้เกือบทุกประเทศปิดประเทศ ไทยจึงไม่สามารถส่งแรงานเหล่านี้กลับได้ จึงเกิดสภาพค่อนข้างแออัดอย่างมาก เมื่อมีสถานการณ์โควิด19 ก็ยิ่งมีความยุ่งยากมากขึ้นในการจัดการ"
นพ.สุวัฒน์ เล่าว่า ทีมสาธารณสุขต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งระดับปฏิบัติการและผู้บริหารราว 1 - 2 วัน เพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกันและร่วมกันตัดสินใจทุกกระบวนการ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยด้วย ท้ายที่สุด ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี และเริ่มจัดระบบโรงพยาบาลสนามกัน
“สภาพที่เขานอน เราต้องแปลงเป็น รพ.สนาม กระจายห้องหนาแน่นไปยังห้องที่เบาบางกว่า ใช้หลัก Social Distancing เท่าที่ทำได้ คนที่นอนพื้น เราเอาเบาะสนามของ รพ.มาให้ อาหารก็ต้องมีถาดหลุมให้เขา มีช้อนประจำตัว ทุกคนมีเสื้อรพ.สวมใส่ เราขอให้เอาชุดเดิมออกทั้งหมด เพราะ เชื้อโรคอาจติดเสื้อผ้าเขา”
ทุกวันนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินท์เอาโรบ็อทมาวัดไข้ให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ต้องให้พยาบาลไปวัดไข้เอง เรียกว่า ยกระดับที่เขาเป็นอยู่เดิมให้ดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นไปตามสภาพ และการตัดสินใจทุกอย่างต้องทำร่วมกับเจ้าหน้าที่ ตม.
นพ.สุวัฒน์ ย้ำว่า ทีมสาธารณสุขจะเข้ามาดูแลในช่วงเวลา 14 วันนี้ หลังจากนั้นจะส่งมอบการดูแลให้กับ ตม.ตามเดิม
“ในฐานะคนอยู่หน้างาน เรื่องโควิดเป็นผลกระทบไปทุกประเทศทุกชาติในโลก ถ้าเราไม่อาศัยจังหวะนี้ในการทำงานร่วมกันก็ยากมากที่จะฟันฝ่าไปได้ เราจัดการประเทศเราได้ดี ประเทศเพื่อนบ้านไม่ดี สักวันก็จะกลับมาในประเทศเรา
ผมคิดว่าแรงงานต่างชาติ ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย เขาเป็นคนคนหนึ่งและ ณ วันนี้เขามาอยู่ในผืนแผ่นดินไทย เราก็ทำหน้าที่ของพลเมืองไทยที่จะดูแลเขา ทำหน้าที่มนุษย์คนหนึ่งที่จะดูแลมนุษย์ด้วยกัน”
นพ.สุวัฒน์ มองว่า ชุมชนเป็นส่วนสำคัญมาก เราต้องให้ความมั่นใจกับชุมชนว่า เราจะจัดการข้างในเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับชุมชน ทุกอย่างจะจัดการเบ็ดเสร็จอยู่ในนี้ ถ้าต้องส่งต่อ ก็ต้องส่งด้วยรถ รพ.ที่ได้มาตรฐานทุกอย่าง ขยะทุกอย่างในเรือนจำนี้ถือเป็นขยะติดเชื้อ มีรถ รพ.เข้ามารับทำลาย ทุกอย่างต้องให้ชุมชนเข้าใจว่า ไม่มีอะไรเล็ดรอดไปในชุมชน
และในฐานะประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 12 ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานกับเครือข่ายประชาชนและชุมชน นพ.สุวัฒน์ ชี้ว่า “เครือข่าย กขป.ทำงานในแนวราบ ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันทำให้เวลาขอความช่วยเหลือ ช่วยให้ขับเคลื่อนได้ง่าย อีกทั้ง กขป.ได้ให้ความสำคัญกลุ่มคนชายขอบ แรงงานต่างชาติอยู่ก่อนแล้ว เรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ ช่วงนี้ใช้การประชุมออนไลน์กันเพื่อดูว่ารูปธรรมในพื้นที่ต่างๆ ทำอะไรกันบ้าง เช่น สามจังหวัดชายแดนใต้เน้นการดูแลคนยากไร้ ไม่มีงานทำ หรือกรณีที่เป็นโควิดหายแล้วจะกลับสู่ชุมชนได้ยังไง ถ้าพลังจากข้างล่างเข้มแข็งแล้วมีเครือข่ายไปหนุนเสริมให้เขามั่นใจ ทุกอย่างมันจะไปได้ดีและอยู่บนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจ
พร้อมกันนี้ ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ได้ยกกรณีตัวอย่างชาวมุสลิมเดินทางกลับจากปากีสถานว่า “วันแรกเรียกได้ว่า เป็นที่รังเกียจเลยสำหรับชุมชน พอกลับมากักตัวในมัสยิด สักพักก็ป่วยรับการรักษาที่ รพ. ระหว่างนั้นทีมแพทย์ทีมพยาบาล ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาค่อยๆ ไปตั้งวงล้อมคุยกับคนในชุมชน พูดจาประสาคนเป็นพี่น้องกัน จนเขาเข้าใจและรู้ว่าควรจัดการป้องกันอย่างไร
หลังจากคนไข้รักษาตัวจนหายดี พอกลับเข้าชุมชน ปรากฏว่า ชุมชนต้อนรับเขาอย่างดี "เขาน้ำตาซึมเลย จากวันแรกที่ไม่มีใครเอา ในวันนั้นชุมชนบอกว่ากลับมาเลย พวกเราจะช่วยกันดูแล” นพ.สุวัฒน์ เล่าทิ้งท้าย
สำหรับปัญหาที่สำคัญของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในมุมมองของ "อดิศร เกิดมงคล" ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ บอกว่า กรณีกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะที่ถูกกักในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดังที่พบกรณีการติดเชื้อที่สะเดา จังหวัดสงขลา 42 คน เป็นการพบในพื้นที่ห้องกักเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ปัญหาสำคัญในส่วนนี้คือ ห้องกักไม่ได้มีพื้นที่ที่กว้างขวางมากพอสำหรับคนจำนวนมากในการเว้นระยะห่างทางกายภาพ รวมทั้งมาตรการทางด้านสุขภาพในห้องกักอาจจะมีความแตกต่างและขาดมาตรการในการดูแลและป้องกันโรคเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ จะมีแนวทางการป้องกันได้อย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่
เขาเห็นว่า ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการรับบริการทางสุขภาพทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในการทำงาน การเข้าถึงการช่วยเหลือตามกฎหมายและตามนโยบายของภาครัฐ เพราะการขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จะนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางสุขภาพตามมา
ปัจจุบันกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จะมีกลไกการทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุขภาคประชาสังคม และตัวแรงงานข้ามชาติในการสร้างระบบอาสาสมัครด้านสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่เรียกว่า อสต. อยู่แล้ว มีล่ามหรือพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวในหลายๆ สถานพยาบาล เขาเห็นว่า นี่จะเป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังและส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพในภาษาของแรงงานโดยตรง เช่น มีการจัดระเบียบหอพักใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ เป็นต้น
ที่มาภาพประกอบ:https://www.facebook.com/somdej.nathawee1