แนวคิดเรื่องการแบ่งปันใช้พื้นที่ หรือ Land Sharing จึงเป็นเรื่องของผู้ที่อยากจะแบ่งกันปลูกบรรจบกับคนที่อยากจะทำการเกษตรอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ในเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนหลายแปลงที่โครงการสวนผักคนเมืองได้ปักหมุดไว้ อยากจะชวนกันมาปลูก
วิถีชีวิตและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของคนเมืองที่ยังต้องพึ่งพาปัจจัยอาหารจากภายนอก ยังไม่นับรวมถึงการผลิตอาหารที่ตั้งอยู่บนปัจจัยเสี่ย งทั้งสภาพภูมิอาหาร และภัยพิบัติต่างๆ ที่รุนแรงขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเป็นอยู่ของคนเมืองสั่นคลอน ไม่มีความมั่นคงอีกต่อไป
เกษตรในเมือง (Urban Agriculture) เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเพื่อตอบโจทย์แนวทาง “เมืองแห่งการเปลี่ยนแปลง” หรือ Transition Town ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งสนับสนุนให้มีการสร้างแหล่งอาหารภายในชุมชน เพื่อรับมือภัยธรรมชาติและความผันผวนทางเศรษฐกิจและพลังงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในอนาคต
นี่คือที่มาของ Land Sharing แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต อีกหนึ่งโมเดลของโครงการสวนผักคนเมือง ในการส่งเสริมเกษตรในเมืองเพื่อสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชน ด้วยการให้เครือข่ายและผู้สนใจเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้กลายเป็นแปลงเกษตรกรรม ผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับตนเองและแบ่งปันให้ชุมชน
ที่โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ ใกล้สี่แยกพงษ์เพชร อ.เมือง จ.นนทบุรี ได้เปลี่ยนที่ดินรกร้างใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง เนื้อที่ 124 ตารางวา มาทำแปลงผักขนาด 1 คูณ 2 เมตร จัดสรรให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองได้มาใช้ประโยชน์ ด้วยแนวคิด “ปลูก ปัน กิน”
“ตอนแรกที่ตรงนี้มีแต่เศษอิฐ เศษปูนที่พวกก่อสร้างเอามาทิ้งไว้ เราก็ช่วยกันปัดเก็บให้เรียบร้อย”
ดร.อมรา ปฐภิษโญบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ บอกถึงสภาพพื้นที่ก่อนเริ่มดำเนินการ
หลังจากนั้นพบปัญหาต่อมา คือ ดินเสื่อมสภาพ แข็ง จนไม่น่าจะปลูกอะไรขึ้นได้ จึงเริ่มด้วยการ “ห่มดิน” คือ เอาฟางข้าวมาปกคลุมดินไว้ให้กลายเป็นปุ๋ยและสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน ใส่ขี้วัว และปุ๋ยอินทรีย์ ทิ้งไว้ระยะหนึ่ง พอดินเริ่มกลับมามีสภาพดีขึ้นก็จัดสรรปันออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ พืชหวังผล พืชหวังยา พืชไร่ และแปลงผัก
แปลงผักถูกแบ่งออกเป็นจำนวน 25 แปลง และความพิเศษของการจัดสรรพื้นที่แห่งนี้ คือ การออกแบบแปลงผักทั้งหมดเป็นวงกลม เพื่อให้สามารถดูแลแปลงผักขนาด 1 คูณ 2 ตร.ม.ได้ง่ายและทั่วถึง
จากนั้นให้เด็ก และผู้ปกครองมาช่วยกันปลูกและดูแลผลผลิตของตัวเองเพื่อนำไปเป็นอาหารกลางวัน ส่วนหนึ่งก็เอากลับไปรับประทานที่บ้าน
ในส่วนแปลงที่จัดสรร หรือ “แชร์” ให้ผู้ปกครองนั้น ทางโรงเรียนจะเก็บค่าเช่าเดือนละ 650 บาท
“นอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เด็กทานผักแล้ว ยังเป็นห้องเรียนธรรมชาติให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ และวิธีการที่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ตรงนี้อยู่ได้นาน นั่นคือ การแบ่งปันพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม เพราะโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” ผู้อำนวยการโรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ เล่าถึงที่มาของแนวคิด “ปลูก ปัน กิน”
เด็กแต่ละห้องของโรงเรียนแห่งนี้ จะมีแปลงผักเป็นของตัวเอง มีการแบ่ง และจัดสรรเวรกันมาทำ ตั้งแต่การปลูก การดูแล การรดน้ำ และเก็บ
นายสุวรรณ โกวิทวงศา ผู้ปกครองที่มาใช้ประโยชน์แปลงผักดังกล่าว บอกว่า เด็กๆ มาอยู่แบบนี้ได้เห็นการกระบวนการเรียนรู้การปลูกผัก ได้เห็นคุณค่าและเกิดความคุ้นชิน จะช่วยให้กินผักได้
ส่วนแนวคิดการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างในเมืองมาทำเกษตรนั้น ผู้ปกครองคนท่านนี้ ให้ความเห็นว่า การปลูกผักมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย ต้องอาศัยความสนใจของคนแต่ละคน ต่อให้มีพื้นที่ ก็ไม่ตื่นตัวอยากจะทำ แต่ถ้าคนสนใจ แล้วรวมกลุ่มกันทำอย่างจริงจัง คนอื่นที่เห็นว่ามีประโยชน์ก็จะสามารถดึงคนมาร่วมกันได้
เรื่องการแบ่งปันใช้พื้นที่ หรือ Land Sharing จึงเป็นเรื่องของผู้ที่อยากจะแบ่งกันปลูกบรรจบกับคนที่อยากจะทำการเกษตรอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ในเขตเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนหลายแปลงที่โครงการสวนผักคนเมืองได้ปักหมุดไว้ อยากจะชวนกันมาปลูก
ที่เป็นรูปเป็นร่างนอกเหนือจะโรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์แล้ว พื้นที่ย่านคลอง 6 อ.ธัญญบุรี จ.ปทุมธานี เนื้อที่กว่า 30 ไร่ เป็นที่ตั้งของ “ค่ายอาสาพัฒนาชนบทกลุ่มเสรีชน ม.รามคำแหง” โดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงชื่อ “เสรีชน” ใช้เป็นสถานที่สร้างเสริมประสบการณ์โดยปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทักษะ อาชีพให้กับสมาชิก และเป็นรายได้เสริม ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกในการขับเคลื่อนกิจกรรมกลุ่ม
"พิเชษฐ์ หนูมาก" รุ่นพี่ค่ายอาสาพัฒนาชนบทกลุ่มเสรีชน เล่าถึงความเป็นมาว่า จากการที่ออกค่ายได้พบเจอวิถีชีวิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะวิถีเกษตร และตนก็เชื่อว่า ความมั่นคงทางอาหารจะเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต แม้สมาชิกกลุ่มแต่ละคนจะได้ชื่อว่าเป็นลูกเกษตรกร แต่ไม่เคยทำ ไม่มีความรู้ในการทำเกษตร กระทั่งมีโครงการของ “สวนผักคนเมือง” จึงเป็นโอกาสของกลุ่มในการที่จะมีพื้นที่เกษตรกรรมเป็นของตัวเอง จึงตระเวนหาที่ว่างตามชานเมือง จนมาได้ที่ดินผืนนี้
เมื่อได้ที่ดินแล้วทางกลุ่มไม่รีรอ รีบช่วยกันปรับพื้นที่ทำแปลงผักขึ้นใหม่ ทำคอกเลี้ยงหมู เล้าเป็ด-ไก่ ในส่วนของกล้วย มะม่วง ไผ่ มะนาว และบ่อปลาที่มีอยู่เดิมก็ไปดูแลเพิ่มเติม ซึ่งไม่ง่ายอย่างที่คิด ครั้งแรกก็ล้มเหลว เมื่อผักชุดแรกทุกคนช่วยกันปลูกแคะแกรน ไม่งอกงามอย่างที่วาดฝัน
“เรามีความรู้แค่ว่า หว่านเมล็ดแล้วรดน้ำ ผักก็จะงอก ออกมาให้กิน แต่ไม่ใช่เลย ครั้งแรกที่ผลผลิตออกมา คือ กินไม่ได้ ต้นเล็ก แกรน ขึ้นเป็นหย่อมๆ จึงได้ปรึกษาทางโครงการ ทำให้รู้ว่า ต้องมีการเตรียมดิน มีการให้ปุ๋ย มีการดูแลและบำรุงอย่างไร จึงได้เอามาปรับปรุงและแก้ไข เดี๋ยวนี้ดีขึ้นแล้ว” พิเชษฐ์ บอก
ผลผลิตของทางสวนเกษตรเสรีชนส่วนหนึ่ง นอกจากไว้บริโภคในกลุ่มแล้ว อีกส่วนจะกระจายไปสู่ผู้บริโภคที่เป็นพี่น้องย่านรามคำแหง และเริ่มมีพรีออเดอร์จากสวนผักคนเมืองบ้างแล้ว
เมื่อถามว่า สวนเกษตรเสรีชนจะช่วยกระตุ้นให้คนหันสนใจการปลูกผักไว้กินเองได้หรือไม่นั้น พิเชษฐ์ มองว่า ปัจจุบัน คนรักสุขภาพมากขึ้น ก็น่าจะมีคนสนใจกันมากขึ้น บางคนคิดว่า ซื้อกินได้ แต่หลายคนเริ่มตระหนักโดยเฉพาะความปลอดภัยจากสารเคมี เขาก็จะไขว่คว้าและเรียนรู้ในการผลิตผักปลอดสารไว้กินเอง
พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอีกเป็นจำนวนมาก หากครึ่งหนึ่งถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเช่นที่โรงเรียนเล็กโกเมศอนุสรณ์ และสวนเกษตรเสรีชน คนเมืองกรุงก็น่าจะมีคลังอาหารขนาดใหญ่ที่ช่วยเพิ่มความมั่นทางอาหาร และพร้อมที่จะก้าวสู่ “เมืองแห่งการเปลี่ยนแปลง” ในอนาคต