ปัญหาผู้ป่วยในโรงพยาบาล คือไม่มีใครที่ทำหน้าที่ประสานงานและตัดสินใจในระบบการส่งตัวผู้ป่วย และการวางแผนในภาพรวม การออกสื่อว่า พร้อม จึงยังตรงข้ามกับความเป็นจริง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตกวันละไม่ต่ำกว่า 30 ราย ตัวเลข ณ วันที่ 18 มีนาคม ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั้งหมด 212 ราย มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 7,546 ราย (อ่านประกอบ:สธ.พบผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' เพิ่ม 35 คน เกินครึ่งมีประวัติสัมพันธ์ผู้ป่วย)
กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงสาเหตุการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการคัดกรองที่ครอบคลุมไปยังกลุ่มคน และสถานที่ที่คาดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด ในรายงานการสอบสวนโรค ก็พบเช่นเดียวกันว่า ผู้ป่วยรายใหม่ที่พบมีประวัติเสี่ยง ไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ยังคงเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ไปในสถานที่ที่มีคนแออัด สังสรรค์ ไม่ลดกิจกรรมทางสังคม ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่กักกันตัวเองอย่างเคร่งครัด เมื่อป่วยทำให้นำโรคไปติดคนใกล้ชิดในครอบครัวเพื่อนสนิท
ที่สำคัญโรคนี้ มีความรุนแรงในกลุ่ม ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การระบาดของโรคในประเทศจะเป็นวงกว้าง จนไม่สามารถควบคุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีแผนและมาตรการรองรับ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีทั้งมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด การควบคุมและการจำกัดวงการแพร่ระบาด
ที่สำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล เตรียมความพร้อมเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศไว้แล้ว ทั้งของภาครัฐและเอกชน
ปัจจุบันนี้ ความพร้อมด้านการสาธารณสุขของไทย จากตัวเลขที่ระบุในมติครม. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 พบว่า จำนวนเตียง ผู้ป่วย COVID – 19 แบ่งเป็น โรงพยาบาล กทม.- มีห้องแยกผู้ป่วยเดี่ยว หรือห้องแยกโรคธรรมดา (Isolation room AIIR) 237 เตียง โรงพยาบาลต่างจังหวัด มี 2,444 เตียง
ส่วนห้องความดันลบ (AIIR) หรือห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อ โรงพยาบาล กทม. 136 เตียง โรงพยาบาลต่างจังหวัด มี 1,042 เตียง
ขณะที่ห้องแยกผู้ป่วยแบบรวมหลายเตียง หรือรพ.สนาม (Cohort Ward) โรงพยาบาล กทม. 143 เตียง โรงพยาบาลต่างจังหวัด มี 3,061 เตียง
เมื่อมาดูจำนวนจำนวนบุคลากรสาธารณสุข ณ วันนี้ บ้านเรามี แพทย์โรงพยาบาลรัฐ 29,449 คน โรงพยาบาลเอกชน 7,711 คน รวมแพทย์ทั้งหมด 37,160 คน ส่วนพยาบาลโรงพยาบาลรัฐ 126,666 คน โรงพยาบาลเอกชน 24,905 คน รวมจำนวนพยาบาลทั้งหมด 151,571 คน
กรุงเทพมหานคร แหล่งที่พบผู้ติดเชื้อมากสุด หากดูถึงการเตรียมรองรับผู้ติดเชื้อของกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตเป็นหัวหน้าทีมในการดำเนินการ โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชาชนที่อยู่ในมาตรการ Local Quarantine และ Home Quarantine ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง จำนวน 443 ราย
นอกจากนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในอนาคต อาทิ การเตรียม เรือนพักของโรงพยาบาลบางขุนเทียน (มีอาคารผู้ป่วยในที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 74 คน และหากสถานการณ์เข้าอยู่ระยะที่ 3 สามารถปรับเป็นโรงพยาบาลเฉพาะโรคที่สามารถรองผู้ป่วยได้ 273 คน) ศูนย์ฝึกอบรมหนองจอก (รองรับได้ 50 คน) ค่ายลูกเสือ (รองรับได้ 50 คน) และเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลในสังกัด 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญราษฎร์ประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร เอาไว้แล้ว
จากอู่ฮั่น ถึงอิตาลี
กรณีจำนวนผู้ป่วยพุ่งเกินระบบสาธารณสุขของหลายประเทศจะรองรับได้นั้น ที่ผ่านมาจะเห็นว่า เกิดขึ้นแล้วที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ศูนย์กลางการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนรัฐบาลจีนต้องสร้างรพ.สนามรองรับถึง 11แห่ง ก่อนจะทยอยปิดลงในที่สุด เมื่อจำนวนผู้ป่วยลดลง
ส่วนที่อิตาลี ที่วันนี้เป็นประเทศ โควิด-19 ระบาดหนักสุด พบผู้เสียชีวิตต่อวันเกินร้อยคน มีผู้ป่วยติดเชื้อใกล้แตะ 3 หมื่นรายอีกไม่นาน ก่อนหน้านี้ก็มีรายงานว่า เครื่องช่วยหายใจมีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และห้องไอซียูก็มีเตียงไม่พอด้วย
จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ในอิตาลี หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินไปเช่นนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า กลางเดือนเมษายนนี้ อิตาลีจะต้องจัดเตรียมห้องเพื่อไว้ดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเข้าขั้นวิกฤต (ห้องICU) ถึง 4,000 เตียง ขณะที่ทั้งประเทศ มีเตียง ICU (ICU beds) เพียง 5,200 เตียง
เฉพาะที่ แคว้นลอมบาร์เดีย ของอิตาลี มีรายงานว่า บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานหนักทั้งวันทั้งคืน ประมาณ 350 คน หรือ 20% ติดเชื้อนี้ บางคนก็เสียชีวิต จนรัฐบาลอิตาลีกำลังพิจารณาจ้างงานแพทย์เพิ่มขึ้น 20,000 คนและจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพิ่ม 5,000 ชิ้น
กลับมาที่ประเทศไทย นอกจากผู้นำประเทศจะเดินทางไปสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ และอนุมัติการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะยุติ รวมถึงให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการกักกันควบคุมโรคในระดับพื้นที่ และให้ อสม. ดำเนินการดูแล ติดตาม และรายงานการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ
ถามว่า เพียงพอแล้วหรือไม่
แหล่งข่าว ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันคนไข้ COVID19 เพิ่มจำนวนมากขึ้นจริง ในรพ.ที่เขาปฏิบัติหน้าที่อยู่ บุคลากรต้องตรวจคัดกรองผู้ป่วยถึงวันละ 500 ราย
"ทำแบบไม่อั้นด้วย และทำงานติดต่อกันมาหลายวัน"
ที่น่าหนักใจ สำหรับคนทำงาน เขาชี้ให้เห็นถึงปัญหา นั่นก็คือ การไม่มีระบบส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น ในเมื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ เริ่มมีจำนวนเตียงไม่พอแล้ว ไหนจะมีผู้ป่วยส่งต่อมาจากโรงพยาบาลอื่น รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน
"เราปฏิเสธไม่ได้ หลายๆ รพ. ไม่พร้อม ก็ให้คนไข้ไป หา รพ. เอง หิ้วกระเป๋ามาก็มี"
การที่ทางหน่วยงานรัฐ ไปประกาศว่า มีเตียงมากมายเพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิด-19 แต่เมื่อทำงานจริง กลับพบว่า ไม่มีผู้ประสานงาน ที่คอยรับผู้ป่วยไปยังเตียงที่บอกว่า มีเพียงพอเลย
วันนี้ทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสน หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง แต่มีผลบวก ที่ควรกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่กลับไม่มีแนวทางชัดเจนว่า จะให้เขาเหล่านั้น ต้องทำอย่างไร
บุคลากรทางการแพทย์ ท่านนี้ มีข้อเสนอ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่ต้องมีระบบติดตาม เชื่อว่า วิธีนี้จะสามารถลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ และรพ.ได้มาก และกันเตียงโรงพยาบาลไว้สำหรับเคสที่หนักมากจริง
ทั้งหมด ของปัญหาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก็คือไม่มีใครที่ทำหน้าที่ประสานงานและตัดสินใจในระบบการส่งตัวผู้ป่วย และการวางแผนในภาพรวม การออกสื่อว่า พร้อม จึงยังตรงข้ามกับความเป็นจริง
ที่มา:https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)30627-9/fulltext#seccestitle10