แม้เครื่องเล่นดังกล่าวจะสามารถเล่นคนเดียวได้ แต่ก็สามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง หากผู้เล่นชนะก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเครื่องเล่น โดยสภาพของเครื่องเล่นดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เล่นเท่านั้น
กรณีเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เข้ายื่นหนังสือถึง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้แก้ปัญหาตู้คีบตุ๊กตาที่ตั้งอยู่เต็มห้างสรรพสินค้า ชวนเด็กและเยาวชนเล่นการพนัน หลังสำรวจพบ 75 ห้างดังมีเครื่องเล่นตู้คีบตุ๊กตากว่า1,300 ตู้ มีพฤติการณ์ชวนเด็ก เยาวชนเล่นการพนันด้วยการติดข้อความบิดเบือนความจริง เช่น ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ, สินค้านี้ไม่ใช่เครื่องมือการพนัน มีไว้เพื่อการขายสินค้าเท่านั้น และข้อความบอกลักษณะของตู้คีบถูกและผิดกฎหมาย หลอกให้ผู้เล่นสับสนและเข้าใจผิด
ขณะเดียวกัน ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาชี้ขาดแล้ว ตู้คีบตุ๊กตาเป็นการพนัน และกรมการปกครองมีนโยบายไม่ให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตให้มีการเล่นการพนันดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ. 2549 (อ่านประกอบ: เยาวชนร้อง“ครูหยุย” กระทุ้งรัฐจัดการตู้คีบตุ๊กตาเกลื่อนเมือง ระบุศาลฯ ชี้ขาดเป็นพนันชัดเจน)
ขณะที่หลายคนยังสงสัย กับแค่ตู้คีบตุ๊กตา กดสนุกๆ จะเป็นการพนันอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นคำพิพากษา พบว่า เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2547 ชี้ขาดเรื่องนี้มาแล้ว โดยพิพาษาจำคุกและปรับเจ้าของตู้คีบตุ๊กตา ขณะที่ผู้เล่น ไม่มีความผิด
-----------------------------------------------------
โจทก์ (พนักงานอัยการประจำศาลแขวงราชบุรี) ฟ้อง เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมเครื่องหยิบจับตุ๊กตาอัตโนมัติ 1 เครื่อง และคูปองแลกรางวัล 1 ใบ ซึ่งเป็นเครื่องมือและทรัพย์สินที่ใช้ในการเล่นการพนันดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 , 5 , 6 , 10 , 12 ป.อ. มาตรา 83 , 33 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสอง (จำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าเล่น จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องเล่น) ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการเขต 7 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหยิบจับตุ๊กตาอัตโนมัติของกลางเป็นเครื่องเล่นไฟฟ้าอัตโนมัติ ผู้เล่นต้องหยอดเหรียญ 10 บาท แล้วกดปุ่มให้เครื่องคนตุ๊กตา จากนั้นจึงจับคันโยกเลื่อนหาตำแหน่งเพื่อคีบตุ๊กตา ซึ่งมีเวลาให้เพียง 45 วินาที หากคีบตุ๊กตาได้ผู้เล่นก็จะได้ตุ๊กตาตัวที่คีบได้ไปเป็นของตน
เมื่อพิจารณาตุ๊กตาในตู้เครื่องเล่นของกลางตามภาพถ่ายหมาย จ. 4 แล้วเชื่อว่า มีมูลค่าเกินกว่าตัวละ 10 บาท หากผู้เล่นคีบได้ก็ต้องถือว่าผู้เล่นเป็นผู้ชนะได้ตุ๊กตามูลค่ามากกว่า 10 บาท ของจำเลยที่ 2 ไป ผู้เข้าเล่นจึงน่าจะเข้าเล่นเพราะต้องการได้ตุ๊กตาซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 10 บาท เป็นแรงจูงใจให้เข้าเล่น หากคีบไม่ได้ถือว่าเป็นผู้แพ้จะได้เพียงคูปองไปใช้แลกปากกา ดินสอ ยางลบ และไม้บรรทัด ตามที่จำเลยที่ 2 จะจัดไว้ให้เลือก ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 10 บาท หากไม่แลกก็สามารถเก็บสะสมคูปองให้ครบ 10 ใบ เพื่อแลกตุ๊กตาตัวใหญ่ 1 ตัวได้
เครื่องเล่นดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเครื่องเล่นซึ่งใช้พลังไฟฟ้าโดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ดัน ยิง โยก หมุน หรือวิธีอื่นใดซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ไม่ว่าจะโดยมีการนับแต้มหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่ก็ตาม ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2530) ออกตามความใน พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 อันเป็นการเล่นพนันตามบัญชี ข. หมายเลข 28 เพราะแม้เครื่องเล่นดังกล่าวจะสามารถเล่นคนเดียวได้ แต่ก็สามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง หากผู้เล่นชนะก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเครื่องเล่น โดยสภาพของเครื่องเล่นดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เล่นเท่านั้น
เมื่อตามมาตรา 4 วรรคสอง ของ พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 ระบุว่าจะจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อมได้ต่อเมื่อรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องเล่นและได้ประโยชน์จากเงินที่ผู้เล่นใช้หยอดใส่ลงในเครื่องเล่นของกลางก่อนลงมือเล่น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนันดังกล่าวขึ้นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เข้าเล่นนั้น หากจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นเครื่องเล่นพนันดังกล่าวขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีความผิด จำเลยที่ 1 จะมีความผิดต่อเมื่อทราบว่าเครื่องเล่นของกลางดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นขึ้น การที่เครื่องเล่นของกลางตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าโดยเปิดเผย บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าสามารถเข้าเล่นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นเครื่องดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง , 12 (2) จำคุก 1 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 , 30 ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/