หากดูอัตราการกระจายตัวของยาเสพติดแต่ละประเภท พบว่า เมทแอมเฟตามีนและกัญชา มีกระทำความผิดกระจายตัวทั่วประเทศ ขณะที่พืชกระท่อมมีการกระทำความผิด "กระจุก" ตัวที่ภาคใต้เป็นส่วนมาก
ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาปลดล็อก "พืชกระท่อม" ออกจากบัญชียาเสพติด โดยคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน นัดประชุมครั้งแรก วันที่ 18 ธันวาคมนี้
หนึ่งในหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ นอกจากศึกษาข้อกฎหมายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้ในการควบคุมพืชกระท่อมแล้ว ยังพิจารณาให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ แนวทางแก้ไขปัญหาการใช้พืชกระท่อม รวมทั้งผลดีผลเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน หากยังคงพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้ถึงประเด็นนี้ว่า หากมีการปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดจะทำให้ผู้กระทำผิดในคดีอาญาตามกฎหมายฉบับเดิมหายไปกว่า 1 หมื่นคดี ซึ่งเป็นคดีการครอบครองพืชกระท่อม และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ที่พบว่า ปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) ประเภทยาเสพติดที่ขึ้นสู่ศาลชั้นต้น 3 อันดับสูงสุด อันดับหนึ่ง คือ เมทแอมเฟตามีน ที่กระทำผิดมากที่สุดแล้ว รองลงมา คือ พืชกระท่อม และกัญชา
ดูเฉพาะ “พืชกระท่อม” มีอันดับเพิ่มจากอันดับ 3 ในปี 2552 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในปีปัจจุบัน
และหากดูอัตราการกระจายตัวของยาเสพติดแต่ละประเภท พบว่า เมทแอมเฟตามีนและกัญชา มีกระทำความผิดกระจายตัวทั่วประเทศ ขณะที่พืชกระท่อมมีการกระทำความผิด "กระจุก" ตัวที่ "ภาคใต้" เป็นส่วนมาก
ส่วนการกระทำความผิดฐานเสพ และฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย ขึ้นสู่ศาลอย่างกระจายตัวทั่วประเทศ ในขณะที่การกระทำความผิดฐานครอบครองขึ้นสู่ศาลอย่าง "กระจุก" ตัวที่ "ภาคใต้" เป็นส่วนมาก
ยิ่งไล่ดูจังหวัดที่มีข้อหาพืชกระท่อมมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
1.จังหวัดนครศรีธรรมราช 6,391 ข้อหา
2.จังหวัดสุราษฎร์ธานี 6,161 ข้อหา
3.จังหวัดภูเก็ต 4,701 ข้อหา
4.จังหวัดสงขลา 4,446 ข้อหา
5.กรุงเทพมหานคร 3,169 ข้อหา
รมว.ยุติธรรม ยังระบุด้วยว่า องค์การสหประชาชาติ ไม่ได้กำหนดใบกระท่อมเป็นยาเสพติด ในหลายประเทศสามารถซื้อขายกันได้อย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งมีการส่งออกด้วย ขณะที่มีผลการวิจัยทางการแพทย์ว่า ใบกระท่อมสามารถนำมาทำเป็นยารักษาโรคได้ มีประโยชน์ในการแก้ปวด แก้ไข้ แก้บิด ท้องเสีย
หนึ่งในองค์กรที่สนับบสนุนการใช้ประโยชน์จากกระท่อมและกัญชาในทางการแพทย์ นั่นคือ แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ให้ข้อมูลถึงพืชกระท่อม ซึ่งจัดเป็นพืชพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการใช้ประโยชน์จากกระท่อมสูงสุด และมีหลักฐานการใช้ประโยชน์มายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังที่บันทึกไว้ในเสภาขุนข้างขุนแผน ตอนที่ 27 กล่าวถึงการกินกระท่อมทำให้มีแรง สู้งาน ออกศึกได้
ส่วนการใช้กระท่อมในวิถีพื้นบ้านนั้น อ้างอิงจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของ ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวไร่ชาวนา แถบนั้นนิยมเคี้ยวกระท่อมเป็นยาชูกำลัง ทำให้ทนต่องานกลางแจ้ง ทนร้อน ทนแดดและทำให้หลับสบาย ทุกบ้านมีปลูกไว้ใช้ประโยชน์หลากหลาย หญิงคลอดบุตรก็ใช้ ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัว มีกำลังกลับคืน ใช้ใบต้มน้ำเดือดดื่มเป็นประจำ
จะเห็นว่า วิถีพื้นบ้านใช้กระท่อมดูแลตนเองกันมาช้านาน แม้บางครั้งการใช้กระท่อมมีโอกาสติด ไม่ได้กินจะไม่มีแรง ทำงานไม่ได้ ปวดกระดูก กระวนกระวาย หาวนอน แต่ชาวบ้านยืนยันว่า เลิกกระท่อมนั้น เลิกง่ายกว่าเลิกเหล้าเลิกบุหรี่หลายเท่านัก
การปลดล็อกพืชกระท่อม พ้นจากบัญชียาเสพติดต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนนั้น นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว แนวประชดประชันนิดๆ โดยคาดว่า กว่าจะปลดล็อกพืชกระท่อมได้ คงอีกประมาณศตวรรษหน้า ถึงจะปลดกระท่อมได้ หากรัฐจริงใจ ต้องการปลดจริงๆ ข้อมูลการศึกษามีอยู่แล้ว ฉะนั้น ภาครัฐไม่ควรทำแบบกัญชา ทำเป็นปลดล็อก แต่ใช้ลำบากยากเย็นแสนเข็ญจนถึงไม่ให้ใช้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/