ตัวเลขปี 2559 เกษตรกรยังคงสูญเสียสิทธิในที่ดินและไม่มีที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก และข้อมูลพบ มีผู้มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนขอรับการจัดที่ดินทำกินจาก ส.ป.ก. จำนวน 370,676 ราย ตรวจสอบเบื้องต้นเป็นผู้มีคุณสมบัติจำนวน 333,246 ราย และยังมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา
หลังจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ออกมาเคลื่อนไหวโดยขีดเส้น 7 วัน ให้น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโดยใช้หลักฐาน ภ.บ.ท.5 ในเขต ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี รวม 682 ไร่ ต้องส่งคืนที่ดิน พร้อมเอาสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมดนั้น (อ่านประกอบ:ไร้คุณสมบัติเพราะเป็น ส.ส.! ส.ป.ก.สั่ง‘ปารีณา’คืนที่ดินฟาร์มไก่ 682 ไร่ใน 7 วัน /กรมป่าไม้แถลง แจ้งความ ‘ปารีณา’ รุกป่า 46 ไร่ ยันหลักฐานชัด - 'ทวี’บุกขอความเป็นธรรม
เพื่อทำความเข้าใจ บทบาท หน้าที่ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดิน และเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินแก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีที่ดิน แต่ไม่เพียงพอแก่การครองชีพ
งานวิจัยของ ดร. รุ่งทิพย์ จันทร์ธนะกุล และคณะ สำนักบริหารวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง ธนาคารที่ดินคืออะไร -บทสรุปจากการศึกษาโครงการศึกษา “กระบวนการดำเนินงานธนาคารที่ดิน” ตอนหนึ่งได้ระบุถึงบทเรียนการดำเนินงานและผลการดำเนินงานของหน่วยงานในประเทศไทยที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดิน
หนึ่งในนั้น คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.
โครงสร้างการบริหาร ส.ป.ก. ดำเนินงานปฏิรูปที่ดินภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คปก. ในส่วนราชการบริหารส่วนกลาง และในส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค มีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) กำกับดูแลการปฏิบัติงาน ส.ป.ก.จังหวัด
ส่วนโครงสร้างการบริหารองค์กรภายใน ส.ป.ก. จะแบ่งออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ส.ป.ก. ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี ช่วง พ.ศ. 2556 –2560 เป็นจำนวนระหว่าง 1,691 - 1,924 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า งบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบบุคลากร รองลงมา คือ งบดำเนินงาน งบลงทุน และงบรายจ่ายอื่น ตามลำดับ
สำหรับผลการดำเนินงานของ ส.ป.ก. ในส่วนการจัดที่ดินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและโครงการศึกษากระบวนการดำเนินงานธนาคารที่ดิน ผู้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พบว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2518 –2561 มีการดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบ 72 จังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการสมุทรสาคร และสมุทรสงคราม) โดยมีผู้ได้รับการช่วยเหลือแล้วจำนวน 2,825,873 ราย เป็นเนื้อที่จำนวน 3,616,974 แปลง คิดเป็นจำนวนรวม 35,856,897 ไร่
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของ ส.ป.ก. คือ การที่งบประมาณส่วนใหญ่ของ ส.ป.ก. อยู่ที่งบบุคลากร (ส.ป.ก. มีอัตรากำลังทั้งสิ้น 2,269 ตำแหน่ง) โดยงบประมาณด้านอื่นๆ มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยจึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ส.ป.ก. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดซื้อที่ดินเอกชนที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนน้อยเกินกว่าจะดำเนินงานให้เกิดประสิทธิผลได้ เนื่องจากราคาที่ดินในตลาดการซื้อขายที่ดินมีราคาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ และมีเหตุผลให้ ส.ป.ก. ไม่ตัดสินใจใช้เงินกองทุนฯ เข้าซื้อที่ดินในราคาสูงเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์และทำสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม
รวมทั้งการจัดซื้อที่ดินของเอกชน ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนระเบียบปฏิบัติของหน่วยราชการ เนื่องจากในการจัดซื้อที่ดินเอกชนของ ส.ป.ก. มีขั้นตอนการดำเนินงานมาก ทำให้ ส.ป.ก. มักดำเนินการจัดซื้อที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ว่า หากเป็นการจัดซื้อที่ดินที่อยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินก็ต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานและมีหลายขั้นตอนซึ่งอาจพบอุปสรรคระหว่างการดำเนินงานได้มาก
นอกจากนั้น กรณีที่กฎหมายได้ให้อำนาจเวนคืนที่ดินได้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้โดยอนุโลม แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ส.ป.ก. ยังมิได้ใช้มาตรการเวนคืนที่ดินแต่อย่างใด อุปสรรคดังกล่าวทำให้ ส.ป.ก. ให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและผู้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองได้อย่างล่าช้า
ทั้งนี้ ในงานงานวิจัยของ ดร. รุ่งทิพย์ ยังได้ระบุถึงตัวเลขปี 2559 พบว่า เกษตรกรยังคงสูญเสียสิทธิในที่ดินและไม่มีที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก และมีผู้มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนขอรับการจัดที่ดินทำกินจาก ส.ป.ก. จำนวน 370,676 ราย ตรวจสอบเบื้องต้นเป็นผู้มีคุณสมบัติจำนวน 333,246 ราย
ที่สำคัญ ยังมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา...
ที่มา:https://www.alro.go.th/alro_th/images/banner/555/01.jpg
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/