"การรับมือการแบน 3 สารพิษ เราไม่จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารทดแทน แต่สามารถเปลี่ยนวิธีการอื่นๆ โดยเขาไม่เดือดร้อนมากนักในระยะเริ่มต้น"
"การใช้สารเคมี หรือไม่ใช้สารเคมี เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเกษตรกร แต่เป็นเรื่องของผู้บริโภคโดยตรงที่จะมีสิทธิในการเลือกว่า จะกินอาหารปลอดภัย หรืออาหารที่มีสารเคมีตกค้าง นี่คือสิ่งที่อยากให้ทุกคนเข้ามาคุยกันว่าเราจะอยู่ในลักษณะนี้อีกนานหรือ ถ้ามีการแบน โอกาสที่ผู้บริโภคได้รับสารเคมีตกค้างลดลง หากไม่แบน สิ่งที่เราต้องทำหนักยิ่งกว่า คือการให้ความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ สารเคมีอยู่ใกล้ตัวแค่เอื้อมมือไปหยิบเข้าปากเท่านั้นเอง"รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยนเรศวร สรุปในเวที "ความจริงของ 3 สารจากคนทำงานสู่ผู้บริโภค" ณ ห้องชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ่านประกอบ:สธ.-เกษตรฯ คลิกออฟ ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร )
สอดคล้องกับ ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงด้านสารเคมี และมลพิษ โดยกลุ่มที่น่าห่วงสุด คือเด็กแรกเกิดที่เพิ่งคลอดออกมา เผชิญสารเคมีที่ตัวเองไม่ควรได้รับเลย หากเด็กทารกได้รับสารเคมีเหล่านี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท (อ่านประกอบ:งานวิจัยมหิดล พบพาราควอตตกค้างในขี้เทาทารกสูงเกินครึ่ง ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก)
ถึงวันนี้ หากไม่ให้เกษตรกรใช้สารเคมี เรามีสารทดแทนตัวอื่นให้เกษตรแล้วหรือไม่
มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย มีคำตอบ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย (กวอ.) ซึ่งเป็นเอกสารที่คณะกรรมการประกอบพิจารณาการไม่แบนพาราควอต และไกลโฟเซต คราวที่มีการลงมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ข้ออ้างที่บอกว่า ไม่มีทางเลือกในการควบคุมกำจัดวัชพืช ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ทั้งจากข้อมูลที่นำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เอง ที่คณะกรรมการฯ ละเลยไม่เลือกขึ้นมาใช้ในการพิจารณา และข้อมูลสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ
จากการวิเคราะห์โดยไบโอไทยจากข้อมูลของกวอ.พบว่า ในพืชสำคัญ 2 ชนิด คือ กรณีอ้อย และข้าวโพดนั้น มีวิธีการทดแทนที่ต้นทุนถูกว่าและแพงกว่า หากมีการแบนทั้งพาราควอต และไกลโฟเซต ก็สามารถเลือกวิธีการที่ต้นทุนถูกกว่าได้
การจำกัดวัชพืชในพืชทั้งสองชนิด จึงไม่น่ามีปัญหาแต่ประการใด
กรณียางพารา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหาวัชพืชในช่วงยางอายุน้อย 1-5 ปีแรกนั้น สามารถใช้การปลูกพืชคลุมดิน และการใช้เครื่องตัดหญ้า ในการจัดการวัชพืชได้
การศึกษาในพื้นที่จ.สงขลา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ 89% ใช้วิธีการจัดการวัชพืชโดยไม่ใช้สารเคมีอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ยากที่เกษตรกรจะปรับเปลี่ยนไปสู่วิธีการหลักที่ชาวสวนยางส่วนใหญ่ปฏิบัติอยู่ การปลูกยางพาราเชิงเดี่ยวนั้นมีปัญหาเรื่องราคาในระยะยาว ควรปรับการปลูกพืชนี้ไปสู่การทำสวนยางยั่งยืน โดยการปลูกพืชอาหารในขณะสวนยางยังเล็ก และเพิ่มการปลูกไม้ยืนต้น เพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ หรือไม้ผลผสมผสานจะดีกว่า
เช่นเดียวกับกรณีของปาล์มน้ำมัน ซึ่งปลูกในสภาพพื้นที่ใกล้เคียงกัน สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับยางพารา ส่วนกรณีเกษตรกรจะใช้สารทดแทนนั้น ข้อมูลล่าสุดพบว่า ราคาสารเคมีทดแทนนั้นมีราคาลดลงเหลือเพียง 2 เท่าของพาราควอต และข้อมูลจากการชี้แจงของตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตรต่อกมธ.วิสามัญเรื่องสารเคมี ยังพบว่า มีโอกาสที่สารดังกล่าวจะลดต่ำกว่าพาราควอตด้วยซ้ำ ไบโอไทยไม่สนับสนุนการใช้สารเคมีฯทดแทนในพืนที่ปลูกปาล์ม แต่เห็นว่าควรใช้พืชคลุมดิน เครื่องตัดหญ้า หรือจัดระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานจะดีกว่า
การที่เกษตรกรบางกลุ่มอ้างว่า การแบนพาราควอตจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศไทยก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากปัจจุบันมาตรฐานปาล์มน้ำมัน RSPO next นั้น กำหนดการห้ามใช้พาราควอตเป็นมาตรฐานบังคับแล้ว
ส่วนกรณีมันสำปะหลัง ซึ่งประสบปัญหาต้นทุนสูง และราคาผลผลิตตกต่ำอยู่เนืองๆ นั้น ในระยะยาวควรปรับไปสู่การปลูกมันสำปะหลังที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มมากกว่าผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือส่งออกเป็นเป็นวัตถุดิบราคาถูกเอทธิลแอลกอฮอล์ โดยรัฐบาลอาจช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรในการรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
โดยสรุป การแบนพาราควอตและไกลโฟเซตพร้อมกันสามารถทำได้ โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องสนับสนุน เรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชคลุมดิน การส่งเสริมให้เกิดอาชีพบริการเครื่องจักรกำจัดวัชพืช เช่นเดียวกับการให้บริการรถไถนา หรือรถเก็บเกี่ยวในข้าว/ข้าวโพด ทางเลือกในการใช้สารอื่นสำหรับเกษตรกรที่ยังไม่สามารถปรับไปสู่การใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช้สารเคมี
ในขณะที่รัฐบาลต้องมีงบประมาณสำหรับสนับสนุนเกษตรกรบางส่วน ไบโอไทยคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่มากนัก เช่น กรณีมันสำปะหลัง ซึ่งน่าจะเป็นพืชที่มีต้นทุนในการปรับตัวสูงขึ้น (จากข้อมูลของกวอ.) จะใช้งบประมาณสนับสนุนช่วงเปลี่ยนผ่านเพียง 500-700 ล้านบาท/ปีเท่านั้น
เมื่อรวมกับการสนับสนุนในพืชอื่นบางพืช งบประมาณเหล่านี้จะเป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวของต้นทุนผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการอนุญาตให้ใช้พาราควอตและไกลโฟเซตต่อไป
นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ยืนยันชัดถึงคำกล่าวอ้างที่ว่า การแบนสารพิษเป็นการทำลายความมั่นคงทางด้านอาหารนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่า ในประเทศที่แบนพาราควอต พบว่า ในประเทศที่แบนพาราควอต หลายๆ พืชปรากฎว่า ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีพาราควอตใช้หญ้าท่วมประเทศไทย จึงไม่เป็นความจริง
"การรับมือการแบน 3 สารพิษ เราไม่จำเป็นต้องสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารทดแทน แต่สามารถเปลี่ยนวิธีการอื่นๆ เช่น ใช้เครื่องจักรกล ให้แอปพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศ ระยะปลอดฝน โดยเขาไม่เดือดร้อนมากนักในระยะเริ่มต้น"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/