สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ว่า ภายหลังจาก ต.ยางขี้นก มีน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่ปี 2521 ส่วนราชการมีการบริหารจัดการเรื่องงานโครงสร้าง ถนนหนทางสะดวกขึ้น ระบบชลประทานสะดวกขึ้น มีการสร้างพนังกั้นน้ำจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำไหลไม่สะดวก และท่วมขังนาน และครั้งนี้ถือว่าท่วมหนักกว่าปี 2521 หลายเท่า
ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับอิทธิพลโซนร้อน “โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ประกอบกับมรสุมตัวออกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินสไลด์ในหลายพื้นที่
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สรุปพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 32 จังหวัด รวม 176 อำเภอ 909 ตำบล 6,568 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 378,409 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 29 ราย โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยเฉพาะใน 5 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
ผลกระทบหนักสุดอยู่ที่อุบลราชธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ตอนใต้ที่ต้องรับมวลน้ำจากแม่น้ำสองสายก่อนจะไหลระบายลงแม่น้ำโขง หลายพื้นที่เริ่มสู่สภาวะปกติ ยังคงเหลือพื้นที่ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบที่ยังคงมีน้ำท่วมขังในเขตชุมชน แต่จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดที่ปริมาณน้ำที่มาสมทบน้ำมูลลดน้อยลง ก็น่าจะช่วยให้การระบายน้ำสู่แม่น้ำโขงคล่องตัวมากขึ้น คาดว่า ในเขตชุมชนเมืองน้ำจะแห้งโดยเร็ว
นับตั้งเกิดวิกฤตมาจนถึงปัจจุบันหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนได้เร่งเข้าให้การช่วยเหลือในทุกรูปแบบ และที่ขาดไม่ได้คือส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และข้างเคียงต่างเร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือลูกบ้านและเพื่อนบ้านอย่างทันท่วงทีด้วยจิตอาสา ซึ่งปัจจุบันสุดสถานการณ์ได้เริ่มคลลี่คลาย ปริมาณน้ำเริ่มลดลงต่อเนื่อง บ้างพื้นที่เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
อ.เขื่องใน จ.อุบลราชานี เป็นพื้นที่วิกฤตน้ำท่วมหนักตั้งแต่วันที่ 2-7 ก.ย.ที่ผ่านมา เพราะน้ำจากลำน้ำมูล น้ำชี และลำน้ำเซบาย หนุนท่วมสูง ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดแล้ว ชาวบ้านสามารถสัญจรไปมาได้ แต่ยังมีถนน และคอสะพาน ถูกน้ำกัดเซาะขาดบางช่วง และพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่าร้อยละ 80
นายเทียน แผลงฤทธิ์ นายก อบต.ยางขี้นก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า หน่วยราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับแกนนำ องค์กรในชุมชน ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยแต่งตั้งคณะทำงาน ตั้งศูนย์อำนวยการ คอยประสานงาน อำนวยความสะดวก จัดเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์ และระดมความช่วยเหลือ เพราะชาวบ้านขาดเรือในการสัญจร ทำให้ส่วนหนึ่งติดอยู่ในพื้นที่ออกมาไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่า เรือของทางราชการมีจำนวนจำกัด การช่วยเหลือจึงอาจล่าช้าไปบ้าง ชุมชนที่รู้ตัวก่อนว่าน้ำจะท่วม ก็มีการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงล่วงหน้า
นอกจากนี้ ยังมีองค์กร มูลนิธิจากภายนอกเข้ามาช่วยบริจาคสิ่งของช่วยเหลือร่วมด้วย โดยขอให้ อบต. หรือแกนนำชุมชนช่วยประสานชี้เป้าพื้นที่เดือดร้อนหนักให้เพื่อช่วยอพยพผู้เดือดร้อนมาที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
นายก อบต.ยางขี้นก เปิดเผยอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ว่า ภายหลังจาก ต.ยางขี้นก มีน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่ปี 2521 ส่วนราชการมีการบริหารจัดการเรื่องงานโครงสร้าง ถนนหนทางสะดวกขึ้น ระบบชลประทานสะดวกขึ้น มีการสร้างพนังกั้นน้ำจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำไหลไม่สะดวก และท่วมขังนาน และครั้งนี้ถือว่าท่วมหนักกว่าปี 2521 หลายเท่า
“โชคดีที่คนอีสาน อยู่กันในลักษณะเครือญาติ ตำบลไหนเดือดร้อน ตำบลที่อยู่ใกล้ก็จะช่วยเหลือ เช่น มีโรงทาน ฝากอาหารการกินกับเรือไปแจกให้ผู้ประสบภัย ซึ่งหลังจากนี้คงเป็นการเร่งฟื้นฟู เยียวยา และส่งเสริมอาชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เร็วที่สุด เนื่องจากอาชีพของคนอีสานส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับเกษตร” นายก อบต.ยางขี้นก กล่าว
ด้าน นางสุขกาย ผลนาค ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สร้างถ่อ อ.เขื่องใน เปิดเผยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า พื้นที่ของ ต.สร้างถ่อ น้ำท่วมเกือบทั้งตำบล 17 หมู่บ้าน ช่วงน้ำท่วมหนักพบว่า บางจุดมีน้ำท่วมสูงเกือบ 4 เมตร ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ทางเกษตรที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดเช่นกัน ตอนนี้น้ำเริ่มแห้งไปแล้วหลายจุด ชาวบ้านเริ่มกลับเข้าไปฟื้นฟูบ้านได้แล้ว แต่ยังมีอีก 2 หมู่บ้าน ที่ถูกน้ำท่วมขังโดยรอบ กลายเป็นติดเกาะ ซึ่งทางอบต.ก็จัดทีมเข้าไปช่วยทั้งเครื่องอุปโภค บริโภคและการแจกสารส้มเพื่อทำน้ำสะอาดจากน้ำบาดาลมาใช้ไปก่อน พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลืออุทกภัยขึ้นที่สำนักงาน อบต. ในการรองรับครอบครัวที่เดือนร้อนให้มาพักอาศัยเป็นการชั่วคราวเพื่อรอน้ำลด โดยมี 20 ครอบครัวที่ยังไม่มสามารถกลับเข้าที่อยู่อาศัยได้ โดยหลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติก็จะเข้าไปส่งเสริมด้านอาชีพ สร้างรายได้ เพราะพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย น่าจะกระทบต่อปัจจัยการครองชีพมากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม ปลัด อบต.สร้างถ่อ ยังได้กล่าวอีกว่า แม้ อบต.จะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อม ขนข้าวของขึ้นที่สูง ล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะมา 1 วัน แต่พบว่า ชาวบ้านไม่ให้ความสนใจ เพราะไม่เชื่อว่าน้ำจะท่วมได้ เพราะในพื้นที่ไม่เคยเกิดอุทกภัยมาก่อน ซึ่งหลังจากภัยพิบัติครั้งนี้น่าจะช่วยให้ชาวบ้านตระหนักมากขึ้น และทาง อบต.ก็จะต้องเข้าไปให้ความรู้สร้างความตระหนักการรับมือในอนาคต
วิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายทั้งรัฐและเอกชน และที่สำคัญต้องมีทีมศักยภาพสูงเข้าให้การช่วยเหลือ ร่วมแรงร่วมใจกับหน่วยงานในพื้นที่ในการบรรเทาจนสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงโดยเร็ว
เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ นับเป็นทีมแรกๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือ เพราะด้วยศักยภาพและประสบการณ์ในการรับมือภัยพิบัติมานับครั้งไม่ถ้วนทำให้ ขั้นตอนการช่วยเหลือบรรเทา “ทั่วถึง ถูกจุด ถูกขั้นตอน” จ่าโทโกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ภาคใต้ ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า ทางชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วของเครือข่าย ได้ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา และพยายามเข้าไปในชุดที่ได้รับความเดือดร้อนหนัก ตั้งแต่ จ.ยโสธร มาถึงขณะนี้อยู่ที่ จ.อุบลราชธานี
ภารกิจหลัก อยู่ 2-3 ภารกิจหลัก และเนื่องจากภาคอีสานมีพื้นที่กว้างมาก เป็นเนินโนนมีน้ำล้อมรอบ เมื่อน้ำขึ้นก็จะขึ้นเร็วมาก ชาวบ้านจึงติดเกาะอยู่ด้านในต้องนำถุงยังชีพและข้าวกล่องที่กลุ่มแม่ชีและชาวชุมชนเข้ามาช่วยจัดการ เข้าไปแจกให้ผู้ประสบภัย พร้อมทั้งขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย หรือในรายที่หนักก็ส่งโรงพยาบาล
จ่าโทโกเมศร์ บอกว่า ยังมีผู้ป่วยที่ยังต้องขนย้ายอยู่ตลอด บางชุมชนอยู่ไกล 7-8 กิโลเมตร และไม่มีเรือสักลำไว้ขนส่งลำเลียงผู้ประสบภัย ซ้ำบางตำบลสื่อสารอะไรกับโลกภายนอกไม่ได้เลย
จ่าโทโกเมศร์ ยังให้ความเห็นด้วยว่า ผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อบต.รวมถึงกลุ่มจิตอาสา มีพลังและความตั้งใจที่ดีในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ยังทำอะไรไม่ค่อยถูก เพราะขาดประสบการณ์ เช่น เรือถูกใช้วิ่งวันละ 2-3 เที่ยว เช้า-เย็น แล้วจอดทิ้งไว้ เพราะไม่ได้ตั้งงบประมาณค่าน้ำมัน ขณะที่มูลนิธิต่างๆ ที่เข้าไปช่วยเหลือก็มีงบประมาณจำกัดแต่ละกรณี เมื่องบหมด และไม่ได้รับการสนับสนุนต่อจากหน่วยงานในท้องถิ่นก็เดินทางกลับ แถมระบบข้อมูลยังล้มเหลว ไม่มีข้อมูลชัดเจนตั้งแต่ระดับอำเภอลงมา ไม่ได้เปิดศูนย์บัญชาการตำบล ทั้งที่สถานการณ์นับจากนี้คาดว่าน้ำยังจะท่วมหนักในพื้นที่ จ.อุบลราชธานีต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 20-25 วัน
เครือข่ายท้องถิ่น บ้านพี่เมืองน้อง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้การช่วยเหลือบรรเทาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากสามารถบรรจุความรู้และประสบการณ์ พัฒนาศักยภาพในการมือภัยพิบัติทุกรูปแบบให้กับทุกท้องถิ่น จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง ซึ่งนี่จะกลายเป็นโครงข่ายที่แข็งแรง สามารถช่วยเหลือได้โดยไม่ต้องรอภาครัฐ
ดร.ศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น ให้ข้อมูลถึงพื้นที่ ต.บ้านแฮด ไม่รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพราะน้ำมาไม่ถึง อย่างไรก็ตามได้จัดทีม “จิตอาสา” เพื่อไปช่วยเหลือเขต อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งปริมาณน้ำท่วม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับความเสียหาย
"เราเข้าไปช่วยเหลือ เช่น การแจกจ่ายของยังชีพ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง และหลังน้ำลดก็เข้าไปช่วยฟื้นฟูบ้านเรือนที่เสียหาย"นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด ระบุ และว่า ถามว่าทำไมเราต้องไปช่วยเหลือ เพราะเราเป็นเหมือนบ้านพี่เมืองน้อง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ เราจึงต้องไปช่วยเหลือกัน และแน่นอนว่า เรื่องของ “จิตอาสา” เป็นกระบวนการที่เรามุ่งเน้นในการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับสังคม ดังจะเห็นได้จากการที่เรามีกิจกรรม “อาสาทำดี” มาต่อเนื่อง เรามีศักยภาพ เรามีเครือข่ายทั่วประเทศ ฉะนั้นหากพี่น้องเราประสบปัญหาเดือดร้อน เราก็ต้องช่วยกัน การที่เราไปช่วยเหลือก็จะช่วยลดภาระ และไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้การบรรเทาและเยียวยาเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว”
ด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ในฐานะที่ให้การสนับสนุนเครือข่ายชุมชนน่าอยู่มากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ระบุถึงความเป็นห่วงพี่น้องทางภาคอีสานที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทางเครือข่ายยังไม่ได้ประเมินความเสียหายได้ชัดเจนว่า มีพื้นที่ไหนบ้าง แต่ที่สามารถทำได้ในขณะนี้ คืออยากให้พื้นที่ประสบภัยช่วยชี้เป้าให้กับเครือข่ายจัดการภัยพิบัติจากตำบลเกาะขันธ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้ได้นำอาสาสมัครจำนวนหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่แล้ว
"หลังจากน้ำลดแล้ว เราต้องสำรวจอย่างจริงจัง และคงมีการพูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ในเบื้องต้นนี้อยากขอร้องให้พื้นที่ถูกน้ำท่วมช่วยแจ้งข่าว หรือชี้เป้าให้กับหน่วยกู้ภัยของเครือข่ายเราด้วย เพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที" ผู้อำนวยการแผนสร้างเสริมสุขภาวะ สสส. กล่าวย้ำ
อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นภาคอีสานอาจสร้างความเจ็บปวดให้กับคนในพื้นที่ แต่น้ำใจที่หลั่งไหลเข้าไปช่วยก็จะช่วยบรรเทาเยียวยาให้ทุกอย่างดีขึ้น และยังเป็นการตอกย้ำให้ทุกคนได้ตระหนักว่าภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ต้องใส่ใจและรับมือ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/