วาทะกรรม “ชาวเขาทำลายป่า” ถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัวแก่กลุ่มชาติพันธุ์และนำไปสู่อคติและถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ปัจจุบันทรัพยากรป่าถูกบุกรุกทำลายกว่า 8.6 ล้านไร่ มีผู้บุกรุกกว่า 8 แสนคน เป็นชาวไทยพื้นที่สูง 80% ชาวไทยพื้นที่ราบ 10% และนายทุน 10% คิดเป็นค่าเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4.69 แสนล้านบาท โดยคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ในกรณีการใช้ไม้สร้างที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงและปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินเป็นความขัดแย้งในสังคมที่เกิดจากระบบกฎหมายและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับป่าไม้ ไม่เปิดช่องทางรับรองสิทธิ์ให้กลุ่มชาติพันธ์บนพื้นที่สูงไม่ว่ารูปแบบใด
สังคมในปัจจุบันกำลังตื่นตัวกับปัญหาทรัพยากรป่าไม้เสื่อมโทรมและปัญหาสภาพแวดล้อม ดังนั้นจึงมีพลังขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่อยู่เบื้องหลังและมีอิทธิพลต่อกระบวนพิจารณาคดี โดยอาจแสดงผ่านนโยบายของรัฐ สื่อ กระแสสังคม ส่งผลให้รูปแบบการพิจารณาคดีในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มุ่งดำเนินการเพื่อเอาผิดกับผู้ที่ถูกกล่าวหา มากกว่าการอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย โดยในทางปฏิบัติพบว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการประกันตัวได้ตามกฎหมาย เพราะขาดหลักทรัพย์และเอกสารทางราชการ อีกทั้งพบว่า ฎีกาได้วางบรรทัดฐานไว้ชัดเจนว่า จำเลยมีความผิดแม้เป็นการกระทำโดยไม่เจตนา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปัจจุบัน เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้” แก่นายเล่าฟั้ง บัณพิตเทิดสกุล ซึ่งเป็นชนชาติพันธุ์ผ่านทุนวิจัยของฝ่ายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ โดยมี รศ. ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ภาควิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม
ศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล
นักวิจัยได้รวบรวมงานเขียนกรณีศึกษาจากการลงพื้นที่ และจากเอกสารที่ประกอบด้วยเอกสารบทความวิชาการ เอกสารเกี่ยวกับคดีที่จะใช้เป็นข้อมูลในการวิจัย และเอกสารข้อมูลและสถิติต่าง ๆ ข่าวที่นำเสนอคดีหรือประเด็นปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ของกลุ่มชาติพันธุ์
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เนื่องจากการใช้สิทธิหรือได้รับสิทธิ์ตามที่กฎกำหนดไว้นั้นมีเงื่อนไข ซึ่งต้องอาศัยความรู้ในระเบียบกฎหมาย หรือมีทนายความให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาที่บางคนไม่มีความรู้และขาดคำแนะนำ จึงทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามบทบัญญัติกฎหมายได้จริง
เมื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์ด้วยมุมมองของทฤษฎีชาติพันธุ์แนววิพากษ์ นักวิจัยมีความเห็นว่า กฎหมายและนโยบายถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการจัดสรรและปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจและชนชั้นนำ การพิจารณาพิพากษาลงโทษพลเมืองที่หนัก
“กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีโลกทัศน์และวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้จริง ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เผยให้เห็นอคติหรือการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่แฝงอยู่ในระบบกฎหมาย ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะตัวบทกฎหมายแล้วจะไม่สามารถเห็นว่า เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะมีกฎหมายรับรองสิทธิไว้หมดแล้ว แต่อคติหรือการเลือกปฏิบัติถูกออกแบบไว้อย่างเป็นระบบ”
กฎหมายบัญญัติไว้ในลักษณะที่เป็นแบบแผนทางการทั่วไปหรือเป็นแบบแผนพิธีการที่เจ้าหน้าที่เพียงทำตามหน้าที่ให้ครบถ้วน โดยไม่ได้สนใจต่อผลที่จะทำให้สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกเคารพอย่างจริงจัง ละเลยที่จะให้ความสนใจต่อลักษณะความเป็นคนที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคมจนกลายเป็นอุปสรรคเฉพาะตัวของกลุ่มชาติพันธุ์
นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมทางโครงสร้างสังคมไทยที่ยังแบ่งแยกคนออกเป็นประเภทและมีสถานะทางสังคมไม่เท่าเทียมกันผ่านมโนทัศน์ความเป็น “คนไทย” เป็นคนไทยไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เสียเปรียบในสิทธิและอำนาจ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจและการจัดสรรผลประโยชน์แห่งรัฐ เข้าไม่ถึงหรือถูกกีดกันสิทธิและโอกาสในส่วนแบ่งผลประโยชน์แห่งชาติ และถูกแย่งชิงทรัพยากร เนื่องจากชนชั้นนำและผู้มีอำนาจใช้อำนาจออกระเบียบจัดสรรผลประโยชน์ในทรัพยากรผ่านตัวบทกฎหมาย หรือดำเนินการนโยบายไปในทางเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผู้มีอำนาจ ซึ่งในที่สุดคนชายขอบก็ถูกเบียดขับออกไป
กฎหมายหรือนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจ ผู้มีอำนาจในสังคมยังชี้นำสังคมในการจัดการทรัพยากรบนพื้นที่สูงว่า ควรเป็นพื้นที่ปลอดคน โดยเฉพาะชุดความรู้ที่ว่า “ป่าเป็นพื้นที่ที่ต้องปลอดคน” เท่านั้น พร้อมกับปิดกั้นชุดความรู้อื่น ๆ ของสังคมเกี่ยวกับป่า การจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำในสิ่งที่เป็นการใช้ชีวิตปกติของเขานั้นเป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองโดยใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเข้าไปธำรงรักษาไว้
วาทะกรรม “ชาวเขาทำลายป่า” ถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัวแก่กลุ่มชาติพันธุ์และนำไปสู่อคติและถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมหรือปราบปรามอย่างเข้มงวดเพื่อทำให้รัฐมีอำนาจและความชอบธรรมทางการเมืองในการเข้าไปควบคุม จัดการหรือกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้ โดยใช้เครื่องมือและกลไกทางกฎหมายและการเมืองที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเครื่องมือและกลไกปกติ
เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนหรือคนชายขอบสามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทีเป็นจริงได้ จึงจำเป็นต้องทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างน้อยใน 4 ประเด็น คือ
ประเด็นปัญหาคดีความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ เสนอให้จัดทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีที่ดินและป่าไม้ เพื่อมุ่งสร้างกระบวนการพิจารณาคดีป่าไม้และที่ดินมีมาตรฐาน ถูกต้อง เป็นธรรม ประหยัด และเกิดวิธีการพิจารณาคดีที่สามารถอำนวยความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง
ประเด็นปัญหาการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม ปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นรูปแบบสวัสดิการรัฐที่อำนวยการให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิและโอกาสเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความยากจนให้ได้ระดับ
ประเด็นปัญหาการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก ต้องสร้างมาตรการตรวจสอบและกลั่นกรองการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเรียกร้องสิทธิ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้กลไกทางกฎหมายดำเนินคดีแก่ชาวบ้านหรือผู้มีที่มีเจตนาโดยสุจริต
และประเด็นปัญหาการสอบสวนและฟ้องคดี ต้องทำการปฏิรูประบบการสอบสวนและฟ้องคดีโดยให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญกว่าทำหน้าที่สอบสวนคดีและพิจารณาสั่งคดี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/