สำหรับจีน ฮ่องกงเป็นแค่สัญญลักษณ์ที่ต้องการให้อยู่กับจีน เพราะหนึ่งประเทศ และเป็นความอัปยศจากสงครามฝิ่น
สถานการณ์การประท้วงที่ฮ่องกงเป็นเวลาหลายเดือน จากการชุมนุมอย่างสงบ ก็ทวีความรุนแรงขึ้นนั้น ในเวทีอภิปรายหัวข้อ “มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้” ณ โรมแรมอโนมา แกรนด์ ถนนราชดำริ กทม. ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ China Media Group (CMG) โดยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย
ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงงาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้เทียบนัยสำคัญของจีนกับฮ่องกง และนัยสำคัญฮ่องกงต่อจีน ให้ได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ เริ่มต้นชี้ว่า ในอดีตฮ่องกง คือทุกสิ่งทุกอย่างของจีน ค.ศ.1980 เศรษฐกิจฮ่องกง 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน ในวันนั้นฮ่องกงเป็นเมืองท่าและจีนยังปิดประเทศ ที่ฮ่องกงร่ำรวยก็เพราะอังกฤษใช้ความเป็นสีเทาของฮ่องกง และเป็นนายหน้าให้การค้าขายของจีน
ฉะนั้น ร้อยเปอร์เซ็นต์การส่งออกและนำเข้าของจีน จึงทำผ่านฮ่องกง
แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้ ลดลงเหลือ 3 เปอร์เซนต์ เศรษฐกิจฮ่องกงเหลือแค่ 3 เปอร์เซนต์ของเศรษฐกิจจีน,การส่งออกของจีนผ่านฮ่องกงเหลือแค่ 15 เปอร์เซนต์
ผศ.ดร.ปิติ ชวนให้คิดต่อ วันนี้ฮ่องกงยังสำคัญกับจีนอยู่หรือไม่?
ลองมาดูมิติอื่นๆ อีก เช่น เศรษฐกิจพิเศษของจีน ตรงข้ามฮ่องกงคือเซินเจิ้น ตั้งแต่ปี 2017 จีดีพีของเซินเจิ้นเมืองเดียว แซงฮ่องกงไปแล้ว
1 ใน 3 จีดีพีของเซินเจิ้นมาจากบริษัทไฮเทค ทั้งโดรน DJI เทนเซ็นต์ (Tencent) หัวเว่ย อยู่เซินเจิ้น
" 14 เปอร์เซนต์จีดีพีของเซินเจิ้นมาจากภาคการเงิน อย่างซิตี้แบงก์ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ มีตลาดหลักทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก เมืองท่าของเซินเจิ้นอันดับ 3 ของโลก
ดังนั้นสำหรับจีน ฮ่องกงเป็นแค่สัญญลักษณ์ที่ต้องการให้อยู่กับจีน เพราะหนึ่งประเทศ (one-China policy) และเป็นความอัปยศจากสงครามฝิ่น"
นักวิชาการ จุฬาฯ ชี้ว่า การกลับมาของฮ่องกงเป็นการบอกว่า จีนได้รับการเติมเต็มอำนาจอธิปไตย
สิ่งเดียวที่จีนยังพึ่งฮ่องกงอยู่ ผศ.ดร.ปิติ บอกว่า คือ เรื่องตลาดเงินตลาดทุน เพราะยังใช้กฎระเบียบของโลกตะวันตก ระดมทุนง่ายกว่า สภาพคล่องเยอะกว่า อีกทั้งกฎหมายของต่างชาติก็รับได้มากกว่า
ส่วนฮ่องกงต้องพึ่งพาจีนอะไรบ้างนั้น ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาฯ ยกตัวอย่างแค่น้ำกับไฟ น้ำที่คนฮ่องกงกินและใช้ 70 เปอร์เซนต์มาจากจีน และฮ่องกงต้องซื้อในราคาแพงมาก ไฟฟ้าที่ฮ่องกงใช้ 1 ใน 4 ยังต้องซื้อจากจีน ฉะนั้น สิ่งที่สื่อและผู้เสพข่าวในเมืองไทยต้องระวัง อย่านำหลายๆ เรื่องมาปนกัน เช่น เรื่องบ้านกรงหมา ความเหลื่อมล้ำการกระจายรายได้ การใช้พื้นที่ คนยากจนเมือง มีมาตั้งแต่อังกฤษปกครองแล้ว
"อย่าลืมว่าอังกฤษไม่เคยให้ประชาธิปไตยแก่ฮ่องกง เวลาสังคมไทยเห็นคนประท้วง เห็นคนโกรธสามารถเอาทุกเรื่องมารวมกันได้หมด"
ด้านนายโจ ฮอร์น พัทธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy 613 วิเคราะห์เสริมถึงสถานการณ์ที่ฮ่องกง พร้อมกับเชื่อว่า ไม่น่าจะคลี่คลายก่อนวันชาติจีน 1 ตุลาคม
เขามองว่า สิ่งที่ทำให้คนออกมาประท้วง เพราะคนฮ่องกงคิดว่า ไม่มีอนาคต ไม่มีโอกาสซื้อบ้าน เป็นปัญหาชีวิต มีสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ก็ต้องถามว่า ผู้บริหารฮ่องกงมีส่วนหรือไม่ ทำไมคนอยู่บ้านกรงหมา ทำไมเทนเซ็นต์ อาลีบาบา บริษัททำการค้าขายระหว่างจีนกับโลกถึงไม่อยู่ฮ่องกง ทำไมฮ่องกงไม่สามารถทำตัวเป็นศูนย์กลางโลจิสติก หรือศูนย์กลางของนวัตกรรมได้ ทำไมผู้บริหารฮ่องกงปล่อยโอกาสแบบนี้แล้วให้จีนแผ่นดินใหญ่เอาไป เพราะผู้นำฮ่องกงบริหารผิดพลาดใช่หรือไม่ บริหารแบบเจ้าสัวอสังหาริมทรัพย์บริหารประเทศ
"อสังหาฯ ราคาขึ้น ตลาดหุ้นดี แต่คนไม่มีที่อยู่อาศัย คนไม่มีอนาคตจึงลุกขึ้นมาประท้วง จึงเชื่อว่า การประท้วงครั้งนี้มีสาเหตุลึกๆ"
สุดท้าย นายโจ ฮอร์น ได้ตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาฮ่องกงต้องสอนประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง ไม่ใช่ สอนฮ่องกงเคยเป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริงไม่เคยเป็นประชาธิปไตย ถามว่า การศึกษาสอนได้อย่างไร จนทำให้ทุกคนลืม one country two systems สิ่งสำคัญ คนฮ่องกงต้องตั้งคำถามถึงผู้นำให้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานทูตจีนฯ ชี้ 'สงครามการค้า ไม่ทำให้ประเทศต้องปิดประตู'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/