หลังเหตุการณ์อุบัติภัยเขื่อนแตก ชาวบ้านในลาวเกือบ 5,000 คนยังคงเป็นผู้ไร้บ้าน ต้องอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว อาศัยอาหารที่ได้รับแจกมาเพียงน้อยนิด และเงินช่วยเหลือรายวันประทังชีวิต บ้างต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว บ้านเรือน และที่ดินทำกิน ทั้งยังต้องพบกับเหตุการณ์สะเทือนใจอีก นั่นคือ ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือเยียวยาสิทธิขั้นพื้นฐาน
ครบรอบหนึ่งปี เหตุการณ์เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขา โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียเปียน-เซน้ำน้อย ตั้งอยู่แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทรุดตัวลง ส่งผลให้เกิดน้ำทะลักลงแม่น้ำเซเปียน และเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน คร่าชีวิตผู้คนร่วมร้อย
ภัยพิบัติดังกล่าว ได้ชื่อว่า เป็นอุบัติเหตุเกี่ยวข้องกับเขื่อนครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของลาว และมีข้อกล่าวหาบ่งชี้ไปที่ความบกพร่องในการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งองค์กรที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ได้แก่ International Rivers, Inclusive Development International, Laos Dam Investment Monitor, Interantiaon Federation for Human Rights เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดเวทีรำลึกครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมเสวนาถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งเปิดเผยถึงความเสี่ยงและต้นทุนเขื่อนที่ไม่เคยถูกพิจารณา
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 เกิดเหตุสันเขื่อนเซเปี่ยน-เซน้ำน้อย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแตก สร้างความเสียหาย ทำให้น้ำทะลักไหลท่วม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนหลายพันหลังรวมทั้งพื้นที่ทำมาหากิน อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปไกลถึงตอนเหนือของประเทศกัมพูชา การไหลบ่าของน้ำทำลายพืชผลและทรัพย์สินซึ่งอยู่ห่างไกลกว่า 80 กิโลเมตร
หลังจากเหตุการณ์อุบัติภัยเขื่อนแตกนั้น ชาวบ้านในลาวเกือบ 5,000 คนยังคงเป็นผู้ไร้บ้านจากภัยพิบัติดังกล่าว ต้องอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราว และอาศัยอาหารที่ได้รับแจกมาเพียงน้อยนิดและเงินช่วยเหลือรายวันประทังชีวิต บ้างต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว บ้านเรือน และที่ดินทำกิน อีกทั้งยังต้องพบกับเหตุการณ์สะเทือนใจอีก นั่นคือ การไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือเยียวยาสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีอาหารที่เพียงพอ และยังต้องดำรงชีวิตอย่างไร้ศักดิ์ศรีในที่พักพิงชั่วคราว
มีรายงานว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานเดิมได้ ขณะเดียวกันไม่มีอนาคตที่แน่นอน ความเสียหายด้านทรัพย์สินยังคงไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาใดๆ จนถึงปัจจุบันไม่มีใครรับผิดชอบต่อภัยพิบัติ
มีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่า ผู้พัฒนาและผู้สร้างเขื่อนแห่งนี้ บกพร่องทั้งในเรื่องของการออกแบบโครงการ มีความพยายามในการลดต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งกลายเป็นคำถามถึงความประมาทเลินเล่อของผู้พัฒนาโครงการฯ
หลังจากการเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลลาวประกาศทบทวนนโยบายพลังงานไฟฟ้าของประเทศ การตรวจสอบนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ แต่ก็มีขอบเขตที่แคบ เพราะมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยของเขื่อนและไม่รวมการตรวจสอบปัญหาเชิงระบบที่กว้างขึ้นในภาคโรงไฟฟ้าพลังน้ำของลาว ผลกระทบเต็มรูปแบบของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอยู่ และที่วางแผนไว้
จวบจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่มีพยานหลักฐานมากขึ้นที่บ่งชี้ว่า บริษัทผู้พัฒนาและสร้างโครงการนี้ กล่าวคือบริษัท SK Engineering and Construction จากเกาหลีใต้ น่าจะมีส่วนทำให้เขื่อนแตก ด้วยการพยายามลดต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไร ผลการสอบสวนอย่างเป็นอิสระตามคำสั่งของรัฐบาลลาวระบุว่า เขื่อนแตกเพราะเหตุสุดวิสัย หรือถือว่า เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง สวนทางกับสื่อมวลชนของเกาหลีรายงานว่า บริษัท SK Engineering and Construction ได้ดัดแปลงการออกแบบโครงการอย่างมาก รวมทั้งลดระดับพนังเขื่อนย่อยที่แตก เพื่อลดต้นทุน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า เขื่อนที่แตกถูกสร้างอยู่บนหลุมยุบ บริษัท SK Engineering and Construction ได้ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ
ถึงแม้ว่าบริษัท SK Engineering and Construction จะกระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่เขื่อนแห่งนี้ไม่ได้สร้างขึ้นและไม่ได้รับเงินทุนก่อสร้าง 1.02 พันล้านเหรียญฯ จากบริษัทเกาหลีเพียงแห่งเดียว ยังมีอีก 3 บริษัทที่เข้าร่วมทุนกับบริษัท SK Engineering and Construction เป็นกลุ่มบริษัทเอกชนที่สนับสนุนเงินทุนจำนวน 306 ล้านเหรียญฯ ให้กับโครงการนี้ ได้แก่ บริษัท Korea Western Power บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ Lao Holding State Enterprise ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลลาว นอกจากเป็นผู้ร่วมพัฒนาโครงการแล้ว บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ยังทำหน้าที่ที่ปรึกษาการก่อสร้าง ดังนั้นจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัท SK Engineering and Construction รัฐบาลลาวไม่ได้เป็นเพียงผู้พัฒนาโครงการผ่าน Lao Holding State Enterprise เท่านั้น แต่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการกำกับดูแลโครงการซึ่งตั้งอยู่ในพรมแดนของตัวเอง
ส่วนหน่วยงานอื่นๆ มีส่วนสนับสนุนโครงการนี้ตั้งแต่ต้น ธนาคารไทย 4 แห่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนโครงการ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นผู้ปล่อยเงินกู้จำนวน 714 ล้านเหรียญฯ ให้กับโครงการนี้
สำนักงานกฎหมายซึ่งเป็นผู้จัดทำโครงสร้างเงินกู้ เปิดเผยต่อสาธารณะถึงรายละเอียดการทำงานอยู่เบื้องหลังของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ในการผลักดันโครงการนี้ รวมทั้งการทำสัญญาว่าจะสนับสนุนเงินทุนก่อสร้างในขั้นตอนต่อไป
ในด้านของรัฐบาลเกาหลีและไทยที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้ รัฐบาลเกาหลีให้เงินกู้กับรัฐบาลลาวเพื่อพัฒนาโครงการ และเป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นในบริษัทซึ่งพัฒนาเขื่อนนี้ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของหน่วยงานหลักที่จะรับซื้อไฟฟ้า เป็นเจ้าของหนึ่งในธนาคารซึ่งปล่อยกู้ และเป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นบริษัทผู้พัฒนาโครงการจากไทย โครงการที่มีขนาดและความเสี่ยงมากขนาดนี้ จำเป็นต้องมีการทำประกันภัยด้วยวงเงินมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองบริษัทผู้พัฒนาโครงการและธนาคารผู้ปล่อยกู้ แต่วงเงินประกันที่ครอบคลุมความเสียหายถึง 50 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นการทำประกันกับบริษัท AIG จากสหรัฐอเมริกา บริษัท Samsung Fire & Marine และบริษัท Korean Re จากเกาหลีใต้ ยังให้ประโยชน์คุ้มครองบุคคลที่สามด้วย
ชาวบ้านลาวที่พลัดถิ่นจำนวนมากและต้องมาสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง มักไม่ทราบว่า มีการทำประกันเช่นนี้อยู่ แต่ถึงแม้ว่าจะรู้ แต่การทำเรื่องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจากบริษัทประกันภัยในประเทศ ก็อาจเป็นการกระทำที่เสี่ยงภัยอย่างยิ่ง
ฉะนั้น หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้เกิดโครงการมากน้อยแตกต่างกัน และต่างได้รับผลกำไรจากโครงการนี้ ในบางกรณี อาจได้รับประโยชน์ในระยะยาว ตามหลักกฎหมายและกรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ เพื่อประกันให้เกิดการเยียวยาอย่างเพียงพอ
1. รัฐบาลลาวและกัมพูชาควรดูแลให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตก สามารถเข้าถึงการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นผล ทั้งที่ผ่านกระบวนการของศาลและ/หรือการร้องเรียนอื่น ๆ รัฐบาลลาวควรดูแลให้มีการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวให้ดีขึ้นโดยทันที และอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถเดินทางกลับไปบ้านเกิดของตนเองตามที่ต้องการได้
2. รัฐบาลเกาหลีและไทย ควรให้บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
3. บริษัท SK Engineering and Construction และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ควรจัดตั้งกองทุนและกำหนดกระบวนการเรียกร้องความเสียหาย รวมถึงมีกระบวนการฟื้นฟูชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างเต็มที่
4. บริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาโครงการนี้ และเจ้าหนี้อย่างธนาคารของไทย ควรมีส่วนสนับสนุนเงินสำหรับกองทุน และการจัดทำกระบวนการร้องขอค่าชดเชย
5. บริษัท เอออน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยของโครงการนี้ รวมทั้งบริษัท AIG, Korean Re, Samsung Fire & Marine และ Asia Capital Re ควรร่วมมือกับลูกค้าที่ทำประกันภัย ได้แก่ บริษัทผู้พัฒนาโครงการนี้ จัดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกันภัย เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงโดยตรงต่อเงินประกัน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นวงเงินเพื่อรับผิดชอบความเสียหาย
กล่าวโดยสรุป ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการเขื่อน ทั้ง 4 บริษัท ควรใช้ศักยภาพของตนในการดูแลให้มีการชดเชยเยียวยาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอย่างเพียงพอ