กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี แม้การฆ่าตัวตายจะไม่สูงมาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากอัตรา 4.94 ต่อประชากรแสนคนในปี 2560 เป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 ขณะที่กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 2.59 -กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 0.5
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ออกรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2562 โดยหนึ่งในความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ นอกจากเรื่องการจ้างงาน หนี้สินครัวเรือน การเจ็บป่วย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ แล้ว มีรายงาน สถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ นั่นก็คือ เยาวชนมีความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากขึ้น
สำหรับโรคซึมเศร้านั้น นับเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพ ที่จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ โดยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า
ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2562 จากรายงานการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมดที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษารวมทั้งประเทศ 9.47 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 65.75 ของจำนวนผู้ป่วยคาดประมาณจากความชุกทีได้จากการสำรวจทั้งหมด 1.44 ล้านคน
สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ยังไม่ได้รับการบริการดูแลช่วยเหลืออีกประมาณ 5 แสนคน
เมื่อพิจารณาตามเพศและอายุของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้ข้อมูลการสำรวจความชุดโรคซึมเศร้าของไทย พ.ศ.2551 พบว่า ผู้หญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 62 อยู่ในวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ร้อยละ 26.5 เป็นวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 11.5 เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี
ทั้งนี้ แม้ในกลุ่มเยาวชนจะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่าในกลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่นับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาปรเทศในอนาคต และพบว่า มีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากขึ้น
สำหรับสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้าในกลุ่มเยาวชน เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งจากการศึกษาภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ โดย ผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ พบว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจากภาวะของการเสียศูนย์ ซึ่งแต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน โดยตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะเสียศูนย์มาจาก 5 ปัจจัย คือ
(1) การถูกประเมิน เช่น ผลการสอบ
(2) เรื่องเศรษฐกิจ ภาวะการเงิน
(3) ความรัก ความสัมพันธแกับเพื่อน การยอมรับจากเพื่อน
(4) ความรู้สึกผิดกับคนที่มีความสำคัญ
และ (5) ความสูญเสียอย่างฉับพลัน
ทั้งนี้ สิ่งที่อยู่ภายในตัวของเด็กเองก็ส่งผลทำให้สถานการณแรุนแรงมากขึ้น อาทิ ประสบการณ์ของแต่ละคน รูปแบบการคิด
นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนในปัจจุบันมีความกดดันสูงต่อการแข่งขันรอบตัว และจากสภาพแวดล้อมและค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวกระตุ้นว่าต้องเก่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด หรือแม้แต่ความรักของพ่อแม่ที่คอยประคบประหงม ตามใจ ทำให้เด็กและเยาวชนขาดทักษะการสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง ไม่สามารถจัดการปัญหาเมื่อเกิดความผิดหวังในชีวิต ทำให้ทุกปัญหาสามารถกลายเป็นสาเหตุให้เกิดความกังวล ความเครียด จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้
จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่าแต่ละปีมีเยาวชนอายุ 10-24 ปีทั่วโลกตายสูงถึง 2.6 ล้านคน โดย 1 ใน 3 มีสาเหตุจากการฆ่าตัวตายที่มีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า
สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลกรมสุขภาพจิต พบว่า ในแต่ละปีจะมีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน โดยจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 4,000 ราย ในปี 2561 อัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.11 เพิ่มขึ้นจากอัตรา 6.03 ในปี 2560 โดยเพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิงกว่า 4 เท่า ช่วงอายุที่มีจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดของเพศชายอยู่ที่ 35-39 ปี ส่วนเพศหญิงจำนวนการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ที่ช่วงอายุ 50-54 ปี
สำหรับกลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี แม้การฆ่าตัวตายจะไม่สูงมาก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากอัตรา 4.94 ต่อประชากรแสนคนในปี 2560 เป็นอัตรา 5.33 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 ขณะที่กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 2.59 ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 0.5 ต่อประชากรแสนคน
ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับการให้บริการสายด่วนปรึกษาสุขภาพจิต 1323 ที่พบว่ากลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2561 จากการใช้บริการทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 14.6 และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 20.1
5 อันดับปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า และปัญหาครอบครัว
สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง เมื่อจำแนกตามประเภทของปัญหาพบว่า สัดส่วนของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ซึมเศร้า และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจเรื่องสุขภาพจิตของโครงการยูรีพอร์ตประเทศไทย ในช่วงเดือนกันยายน 2561 พบว่าในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี การเรียน/การสอบเป็นเรื่องที่สร้างความกดดัน ทำให้รู้สึกเครียดหรือกังวลมากที่สุด โดยกว่าครึ่งตอบว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเคยรู้สึกหดหู่ เศร้า สิ้นหวัง ท้อแท้
และ 1 ใน 4 เคยคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
แนวทางการปู้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งในระดับครอบครัว สถานศึกษา และสังคม โดย
1.ครอบครัวและคนใกล้ชิด ซึ่งอยู่ใกล้ปัญหาที่สุดต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ใส่ใจในครอบครัวตั้งแต่เด็ก ส่งผลให้บุตรหลานไว้วางใจ บอกเล่าปัญหาและครอบครัวสามารถช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งคอยสังเกตหากมีอาการเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าหรือฆ่าตัวตาย ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการดูแลและรักษาอย่างถูกวิธี จะทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว และหายขาดได้
2.สถานศึกษา ควรเข้ามามีบทบาทในการป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษามากขึ้น อาทิ การจัดครูแนะแนวไว้คอยสังเกตพฤติกรรรม ให้คำปรึกษาและคำแนะนำกับนักเรียน การจัดตั้งหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต
3.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะชีวิตในกลุ่มเยาวชนมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมการมองเห็นคุณค่าของตนเอง การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การจัดการอารมณ์และความเครียด เพื่อเป็นเกราะป้องกันปัญหา ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีแนวคิดที่จะลงนามความร่วมมือกับ 50 มหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษามากกว่า 10,000 คน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาวางมาตรการในการเฝ้าระวังดูแลภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย และจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ปัญหา