กรมสอบสวนคดีพิเศษ บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ คืนผืนป่าต้นน้ำน่าน 300 ไร่ หลังเคยมีเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายภาคประชาชนปมความขัดแย้ง แต่แก้ไขปัญหาได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานโครงการร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อฟื้นฟูต้นน้ำอย่างมีส่วนร่วม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา บ้านปางยาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 แพร่ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน ปลัดอาวุโสอำเภอปัว ร่วมโครงการฯ
สืบเนื่องจากการเกิดปัญหาด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “ยุติธรรมสร้างสุข” ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2562 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้นำแนวคิดจากนโยบายดังกล่าว มาพิจารณาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ด้วยการบูรณาการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานทุกภาคส่วน
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายภาคประชาชน ว่ามีความขัดแย้งในพื้นที่ต้นน้ำปางยาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน จึงได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนเรื่องดังกล่าว และไม่พบว่ามีการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ จึงได้ยุติการสืบสวน แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีปัญหาความขัดแย้ง จึงได้นำแนวทางโครงการอำนวยความเป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ตามนโยบายยุติธรรมสร้างสุขเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้ นายอังสุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบและอำนวยความยุติธรรม ดำเนินโครงการฯ และให้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ อำเภอปัว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โครงการหลวง นักวิชาการ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โครงการฯ ได้ดำเนินการจนเกิดผล เป็นรูปธรรม มีการคืนพื้นที่ป่า 300 ไร่ เกษตรกรที่คืนพื้นที่ป่า ได้รับการปรับปรุงที่ดินทำกิน เป็นแปลงนาขั้นบันได ได้รับการส่งเสริมการปลูกไม้ผล และปศุสัตว์
จากการดำเนินการดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอขอบคุณกลุ่มชาวบ้านปางยาง ที่เสียสละคืนพื้นที่ ทำกิน และปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ อำเภอปัว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา โครงการหลวงบ้านปางยาง ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง แก้ไขปัญหาชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ต้องใช้สารอันตราย มาเป็นอาชีพการปลูกไม้ผลและปศุสัตว์ เพื่อเสริมสร้างรายได้ และที่สำคัญเกษตรกรบ้านปางยาง ได้มอบคืนพื้นที่ทำกินเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และมีข่าวเป็นที่น่ายินดีว่าชาวบ้านจากบ้านขุนกุน ตำบลภูคา แสดงความประสงค์จะสละพื้นที่ทำกินในพื้นที่ป่า เพื่อขยายผลการพัฒนาในลักษณะเดียวกับบ้านปางยาง