"...ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ายอดผู้ติดเชื้อลดลงจากวัคซีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าประสิทธิภาพของวัคซีนต้องรอให้มีการฉีดครบ 2 โดสในประชากรที่มากเพียงพอ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากรที่ฉีดครบ 2 โดส จำนวน 16.1 ล้านคน และในภูมิภาคอาเซียน ฉีดแล้วประมาณ 2 ล้านโดส ทั้งนี้ยังมีตัวเลขสั่งจองอยู่อีก 9 พันล้านโดส ดังนั้นแล้วยังคงต้องใช้เวลา..."
....................................
สถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น เริ่มพบผู้ป่วยรายวัน - ผู้เสียชีวิตลดน้อยลง ขณะที่หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีน และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศการส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนโควิดในทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน
แล้วการวิเคราะห์ในมุมมองของกระทรวงสาธารณสุขไทย และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เป็นอย่างไร ?
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของทั่วโลกมีแนวโน้มดีขึ้น โดยหากเทียบกับ 2 สัปดาห์ก่อน พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกลดลง 28 % ผู้เสียชีวิตรายวันลดลง 20 % ขณะที่สถานการณ์การระบาดของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มดีขึ้นเช่นเดียวกัน มีผู้ติดเชื้อรายวันลดลง 43 % และผู้เสียชีวิตรายวันลดลง 29 %
"มีการให้ความเห็นทางวิชาการว่าการที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลง ไม่ได้เป็นผลจากวัคซีนเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากปฏิบัติตามมาตรการอื่นร่วมด้วย ซึ่งสหรัฐอเมริกามีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นแตกต่างจากปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การสวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่สาธารณะหรือไปติดต่อราชการมากขึ้น" นพ.เฉวตสรร
ส่วนอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย พบว่ามีภาพรวมน้อยกว่าภาพรวมทั่วโลก โดยภาพรวมทั่วโลกอยู่ที่ 2.21 % ขณะที่ประเทศไทยระลอกแรก อยู่ที่ 1.42% ระลอกที่สอง อยู่ที่ 0.11% ภาพรวมอยู่ที่ 0.33%
ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การโควิด (ศบค.) กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้วทั่วโลกจำนวน 186 ล้านโดส ซึ่งสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีประชากรฉีดไปแล้ว 57.4 ล้านโดส คิดเป็น 17.29% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
"ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ายอดผู้ติดเชื้อลดลงจากวัคซีน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าประสิทธิภาพของวัคซีนต้องรอให้มีการฉีดครบ 2 โดสในประชากรที่มากเพียงพอ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากรที่ฉีดครบ 2 โดส จำนวน 16.1 ล้านคน และในภูมิภาคอาเซียน ฉีดแล้วประมาณ 2 ล้านโดส ทั้งนี้ยังมีตัวเลขสั่งจองอยู่อีก 9 พันล้านโดส ดังนั้นแล้วยังคงต้องใช้เวลา" พญ.อภิสมัย กล่าว
ขณะเดียวกันสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานความเคลื่อนไหววัคซีนต้านโควิดทั่วโลกรายสัปดาห์ ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.พ.2564 ว่า มีผู้ผลิตวัคซีนอยู่ในขั้นระยะก่อนการศึกษาในคนทดลองในสัตว์ 89 แห่ง ทดลองในระยะที่หนึ่ง 37 แห่ง ทดลองในระยะที่สอง 27 แห่ง ทดลองในระยะที่สาม 20 แห่ง อยู่ในขั้นได้รับการอนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินเฉพาะในกลุ่มคนที่จำกัด 6 แห่ง และอยู่ในขั้นขออนุมัติการผลิตวัคซีนในระดับทั่วไป 4 แห่ง
มี 10 วัคซีนที่น่าจับตามอง ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca) วัคซีนแคนไซโน (Cansino) วัคซีนสปุตนิก 5 (Sputnik V) วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) วัคซีนซิโนฟาร์ม-ปักกิ่ง (Sinopham-Beijing) วัคซีนซิโนฟาร์ม-อู๋ฮั่น (Sinopham-Wuhan) วัคซีนภารัตไบโอเทค (Bharat Biotech) และวัคซีนสถาบันเวกเตอร์ (Vector Instituts)
ส่วนประเทศที่ได้รับวัคซีนนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาที่มีข้างต้นแล้วนั้น แบ่งเป็น จีน 40.52 ล้านโดส อังกฤษ 13.17 ล้านโดส อินเดีย 8.29 ล้านโดส อิสราเอล 6.44 ล้านโดส บราซิล 5.24 ล้านโดส สหรัฐอาหรับเมิเรตส์ 5.06 ล้านโดส เยอรมนี 4.15 ล้านโดส รัสเซีย 3.90 ล้านโดส อินโดนีเซีย 1.49 ล้านโดส สิงคโปร์ 0.26 ล้านโดส และเมียนมา 0.10 ล้านโดส
ทั้งนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุความเคลื่อนไหวด้านวัคซีนรอบโลก 5 เรื่อง ดังนี้
1. รัฐบาลไทยสนับสนุนการวิจัยวัคซีนโควิดในประเทศ โดยองค์การเภสัชกรรมเดินทน้าทดสอบวัคซีนเชื้อตายที่ร่วมพัฒนากับพันธมิตรในต่างประเทศในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือนมี.ค.2564 หลังจากทดสอบในสัตว์พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และมีความปลอดภัย ซึ่งจะผลิตต่อไปในระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ทั้งนี้คาดว่าจะยื่นขอรับทะเบียนตำรับคู่ขนานกับการศึกษาวิจัยระยะที่ 3 และจะสามารถผลิตวัคซีนหลังได้รับทะเบียนตำรับ เพื่อใช้ในประเทศได้ประมาณ 25-30 ล้านโดสต่อปี
2. กัมพูชาอนุมัติใช้วัคซีนจากซิโนแวคจากจีนในกรณีฉุกเฉิน การอนุมัติดังกล่าวเป็นวัคซีนลำดับที่ 2 ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้วัคซีนได้รองจากซิโนฟาร์มที่ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2564 หลังจีนและหลายประเทศทั่วโลกใช้งานวัคซีนดังกล่าวอย่างปลอดภัย ทั้งนี้กัมพูชาได้รับบริจาควัคซีนจากซิโนฟาร์ม 1 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากรครึ่งล้าน และได้เริ่มฉีดวัคซีนล็อตแรกจำนวน 600,000โดส แล้วเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันออสเตรเลียยังประกาศให้ทุนแก่กัมพูชา 28 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดซื้อวัคซีน 3 ล้านโดส และคาดว่าจะได้รับวัคซีนอีก 7 ล้านโดส ผ่านโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก
3. ญี่ปุ่นอนุมัติวัคซีนไฟเซอร์เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว การอนุมัติดังกล่าวนับเป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติ ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2564 บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้ยื่นขออนุมัติใช้วัคซีนโควิดในกรณีฉุกเฉินด้วย นับเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายที่ 2 ทั้งนี้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าตั้งเป้าจัดส่งให้กับญี่ปุ่นจำนวน 120 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชาชน 60 ล้านคนในญี่ปุ่น
4. อิสราเอลพบวัคซีนไฟเซอร์ลดการติดเชื้อโควิดที่มีอาการได้ถึง 94% โดยองค์กรการดูแลสุขภาพของอิสราเอล (Health Maintenance Organization; HMO) ระบุอีกว่าวัคซีนดังกล่าวช่วยลดอาการป่วยรุนแรงจากไวรัสได้ถึง 92% นอกจากนี้นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ (Weizmann Institute of Science) เปิดเผยอีกว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถลดอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเจ็บป่วยรุนแรงได้ในกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุ 55-60 ปีขึ้นไป
5. องค์การอนามัยโลกรับรองการใช้วัคซีนโควิดของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยระบุสาระสำคัญว่า วัคซีนมีความปลอดภัย ไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง และมีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์ที่มีการระบาดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการใช้กับสายพันธุ์กลายพันธุ์พบว่ามีประสิทธิภาพลดลง เช่นเดียวกันกับวัคซีนของไฟเซอร์ โนวาแวกซ์ และโมเดอร์นา แต่สำหรับการเจ็บป่วยรุนแรง พบยังมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทั้งนี้ยังไม่มีการห้ามใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในกลุ่มผู้มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากยังมีผลการทดลองน้อยเกินกว่าที่จะจัดทำเป็นข้อสรุปได้ในขณะนี้ แต่จากการศึกษาเบื้องต้นพบมีประสิทธิผลดี และประสิทธิภาพของวัคซีนจะเดิ่มขึ้นตามระยะห่างระหว่างวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สอง โดยมีคำแนะนำให้เว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 8-12 สัปดาห์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage