"กรณีจังหวัดภูเก็ตที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด – 19 จำนวน 500 คนนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาเชื้อประชากรทุกคนในจังหวัด ผู้ที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ได้มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ดังนั้น ประเทศไทยเราทำอย่างประหยัด ขีดให้เหมาะสม ก็สามารถตรวจเจอผู้ติดเชื้อได้"
"ตรวจให้เยอะๆ ซิ ถึงจะได้ผลดี สแกนไปเลยให้มากๆ คนได้ตรวจจะได้มั่นใจว่า ไม่มีเชื้อ คนมีเชื้อจะได้รับการรักษา มันก็ใช่ ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ส่วนหนึ่ง แม้ท่านได้รับการตรวจหาเชื้อในวันนี้ แต่พรุ่งนี้ท่านไปมีความเสี่ยง คิดว่าวันนี้สบายใจ ก็ไม่ใส่หน้ากาก พรุ่งนี้ท่านก็มีความเสี่ยงได้"
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ตอบคำถามสื่อมวลชนเป็นวันที่ 2 ถึงตัวเลขการตรวจหาเชื้อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีการตั้งข้อสงสัยกันมากว่า การตรวจหาเชื้อน้อยเกินไปหรือไม่ หรือมีการปกปิดข้อมูลหรือไม่ และทำไมจำนวนผู้ป่วยดูถึงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก
ในวันแรก โฆษก ศบค. พยายามให้ตัวเลขยืนยันการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทย ได้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคโควิด-19 ไปแล้ว 71,860 ตัวอย่าง คิดเป็น 1,079 ตัวอย่างต่อประชากรหนึ่งล้านคน
นายแพทย์ทวีศิลป์ ยอมรับว่ารัฐบาลและศูนย์โควิด - 19 ยังไม่พอใจกับตัวเลขดังกล่าว แต่ก็เห็นถึงข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทั้งการตรวจหาเชื้อต้องใช้คนตรวจ ใช้เครื่องมือตรวจต่างๆ แต่ก็มีความพยายามเพิ่มการตรวจหาเชื้อให้ได้วันละเป็นแสนรายให้ได้ เหมือนในหลายประเทศทำกัน
และล่าสุด โฆษก ศบค. ตอบคำถามเดิมๆ อีกครั้ง โดยยืนยันรัฐบาลไทย ไม่มีการปิดบังตัวผู้ป่วยไวรัสโควิด-19
"ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่ปิด ไม่ต้องช้างหรอก นี่เชื้อโรคเล็กนิดเดียว ไม่ต้องปิด ที่ไหนก็รู้ ยิ่งในยุคของโซเชียลมีเดีย รู้กันหมด"
จากนั้น นายแพทย์ทวีศิลป์ ได้นำข้อมูลสัดส่วนจำนวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการโควิด – 19 ของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านวิจัยและวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการตรวจหาผู้ติดเชื้อของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งของอิตาลี เกาหลีใต้ สหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย และไทย มาแสดง..
- ประเทศอิตาลี มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อ 11,429 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน ประชากรทั้งหมดมีประมาณ 60.5 ล้านคน มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 18.65% โดยตรวจหาผู้ติดเชื้อ 691,455 คน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 128,948 คน
-ประเทศเกาหลีใต้ ตรวจหาผู้ติดเชื้อ 9,099 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน มีอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 2.19% จากประชากรทั้งหมด 51.3 ล้านคน ตรวจหาผู้เชื้อ 466,779 คน พบผู้ติดเชื้อ 10,237 คน
ขณะที่สหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจ มี เครื่องตรวจรุ่นใหม่ทันสมัย ตรวจหาผู้ติดเชื้อ 1.7 ล้านคน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 337,310 คน ส่วนอังกฤษตรวจเชื้อโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการ ก็ยังน้อยกว่าอิตาลี เกาหลีใต้ สหรัฐ และฝรั่งเศส
โฆษก ศบค. อธิบายต่อว่า เมื่อมาเทียบเคียงกับประเทศไทย ที่มีการตรวจ 1,079 ต่อประชากร 1 ล้าน อัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อ 2.88% ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศเกาหลีใต้ แม้เราได้ทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อ 71,860 คน พบเจอผู้ติดเชื้อ 2,067 คน และประเทศเกาหลีใต้ทำการตรวจหาผู้ติดเชื้อ 466,779 คน พบผู้ติดเชื้อ 10,237 คน เพราะฉะนั้นการตรวจหาผู้ติดเชื้อทุกคนในประเทศจึงไม่ใช่หลักสำคัญ แต่ต้องขีดวง
"กรณีจังหวัดภูเก็ตที่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด – 19 จำนวน 500 คนนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาเชื้อประชากรทุกคนในจังหวัด ผู้ที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ได้มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ดังนั้น ประเทศไทยเราทำอย่างประหยัด ขีดให้เหมาะสม ก็สามารถตรวจเจอผู้ติดเชื้อได้"
ส่วนกรณีมีข้อสงสัยจะมีการซ่อนตัวเลขจากผู้ป่วยโควิด – 19 โดยจัดให้เป็นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ นายแพทย์ทวีศิลป์ ย้ำชัดว่า การทำงานของแพทย์ผู้ปฏิบัติงานนั้น ต้องทราบอาการของคนไข้ และบุคลาการทางแพทย์อยู่แล้ว หากรู้ว่าคนไข้เป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ย่อมต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทำให้เสียชีวิตได้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการปกปิดตัวเลขผู้ป่วย
"ในยุคโซเชียลมีเดีย ยิ่งปิดไม่มิด คนที่รู้ก่อนอันดับแรก คนในห้องปฏิบัติการ จึงเชื่อว่า ไม่มีทางปิด และซ่อนข้อมูลได้ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายชัดเจนว่า ต้องไม่ให้มีการซ่อนตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยเด็ดขาด เพราะจะก่อให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมาก ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าการเพิ่มการตรวจหาเชื้อนั้นไม่ใช่ทิศทางใหญ่ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นในการทำ Active Case Finding คือการพบผู้ป่วยแล้วจำกัดวงของคนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและจะทำการตรวจให้ได้มากที่สุด ซึ่งตรงตามมาตรฐานของวิธีการทางระบาดวิทยา"
ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายห้องปฏิบัติการในการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ที่ได้รับรองแล้ว 80 แห่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยในกรุงเทพฯ มีจำนวนห้องปฏิบัติการที่เปิดตรวจแล้ว 33 แห่ง โดยจะมีการเปิดห้องปฏิบัติการฯ ทั้งหมดรวม 110 แห่ง ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้มีการหารือถึงเทคโนโลยีและวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของต่างประเทศ ระบบ ไดร์ฟ ทรู ที่มีความสะดวก ลดความเสี่ยง รวมถึงลดอัตราการแพร่ระบาด เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ด้วย
สำหรับศักยภาพในการตรวจเชื้อโควิด-19 นั้น ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ที่จำนวน 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และพื้นที่ต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่างต่อวัน ทั้งนี้ยังไม่มีการเพิ่มจำนวนการตรวจเป็นหลักแสน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งขณะนี้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำลังพัฒนาชุดตรวจ และสามารถผลิตน้ำยาตรวจมาตรฐาน ได้ภายในประเทศ ซึ่งมีราคาถูก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการตรวจนั้นลดลง
การที่ประเทศไทยพบผู้ป่วย ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ตลอดจนผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคโควิด-19 กระจายในหลายพื้นที่ ทำให้วันนี้ได้มีการปรับเกณฑ์การเฝ้าระวังสอบสวนโรค (Patient Under Investigation (PUI)) ใหม่ เป็นครั้งที่ 7 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคในปัจจุบัน ซึ่งพบผู้ป่วยเกือบทั่วโลก จึงตัดนิยามพื้นที่เสี่ยงออก
และในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยพบการป่วยเป็นกลุ่มก้อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสนามมวย สถานบันเทิง แต่พบผู้ป่วยที่ไปตลาดนัด เดินทางข้ามจังหวัดโดยสารรถขนส่งสาธารณะ จึงเพิ่มการกำหนดสถานที่ชุมนุมชนหรืออาชีพเสี่ยง รวมทั้งแยกบุคลากรทางการแพทย์ออกจากกลุ่มอื่นเป็นการจำเพาะ ตามความเห็นของคณะกรรมการวิชาการ เนื่องจากเป็นบุคลากรที่ให้การดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ชัดเจนและค้นหาได้เร็วขึ้น
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญและออกค้นหาเชิงรุก (Active case finding) อย่างเต็มที่ เพื่อควบคุมการระบาด และมีกลุ่มที่น่าจับตามองคือ กลุ่มคนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการคุมเข้ม ป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศ ล่าสุดมีคนไทยกลับจากอินโดนีเซียตรวจพบเชื้อ 42 ราย จากผู้ป่วยที่มีอาการ 52 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 ได้นำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษา ส่วนที่เหลือขณะนี้อยู่ที่ State Quarantine ทั้งหมด ไม่มีใครได้กลับบ้าน ขอให้มั่นใจว่า ทั้งหมดจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่จะต้องเข้มข้นในขณะนี้คือ จะขยายการตรวจและการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นเชิงรุก มุ่งเน้นไปยังพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยจำนวนมาก เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ภูเก็ต และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
โดยเฉพาะ จังหวัดภูเก็ต เริ่มพบการระบาดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยทั้งสิ้น 158 ราย ร้อยละ 84 อยู่ในวัยทำงาน เป็นคนไทย 119 ราย ต่างชาติ 39 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงหลักที่พบ ได้แก่ อาชีพที่มีการติดต่อกับนักท่องเที่ยวหรือคนจำนวนมาก และติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า มีชาวต่างชาติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด จังหวัดได้มีมาตรการปิดสถานบันเทิง ร้านนวดบริเวณ ขยายทั้งจังหวัดและมีการปิดช่องทางเข้าออกจังหวัดแต่ ยังพบมีผู้ป่วย จากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพิ่มเติมในชุมชน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ จะเฝ้าระวังผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ติดตามอาการ และกักกันให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อไป
กรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางของการระบาดตั้งแต่ผู้ป่วยรายแรกในประเทศจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้น อธิบดีกรมควบคุมโรค มองว่า ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากผู้ป่วยที่พบในปัจจุบันเป็นกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้เป็นหลัก แสดงให้เห็นว่า มาตรการที่รัฐบาลทำมาได้ผลในการควบคุมในระดับชุมชน สถานที่ชุมนุมชน แต่ยังมีการแพร่เชื้อในกลุ่มผู้ใกล้ชิด ดังนั้นการทำ Social Distancing จึงต้องเข้มข้น ทั้งในบ้าน และที่ทำงาน หรือในที่ที่มีผู้คนไปรวมตัวกัน
ทั้งนี้ นิยามการเฝ้าระวังโรคที่สำคัญ ที่กระทรวงสาธารณสุขมีการปรับใหม่ มีดังนี้
1. คัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศทุกคนในทุกช่องทาง โดยเฝ้าระวังผู้ที่มีอุณหภูมิ 37.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบหรือหายใจลำบาก ต้องส่งตัวไปตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลที่กำหนด
2. การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล ในกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อที่มีอาการไข้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือมีประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับมีประวัติในช่วงเวลา 14 วันก่อนเริ่มป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1) มีประวัติการเดินทางหรืออาศัยในพื้นที่ที่เกิดโรคโควิด-19 2) มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว สถานที่แออัด หรือติดต่อกับคนจำนวนมาก 3) เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน หรือมีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล หรือขนส่งสาธารณะ 4) สัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิด-19
3. การเฝ้าระวังในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยแพทย์ผู้ให้การรักษาประเมินความเสี่ยงหรือโอกาสการติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย/ผู้สงสัยว่าป่วย
4. การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อนของผู้ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ผลลบทุกราย โดยในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่ 3 รายขึ้นไปในแผนกเดียวกัน /โรงพยาบาลขนาดเล็ก/คลินิก และในกลุ่มคนที่อยู่ในสถานที่แห่งเดียวกันตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ภายในสัปดาห์เดียวกัน
5. สำหรับนิยามผู้ป่วยปอดอักเสบยังคงเดิม คือเป็นปอดอักเสบหาสาเหตุไม่ได้ หรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือภาพเอกซเรย์ปอดเข้าได้กับโรคโควิด-19