อยู่บ้าน อยู่ห่าง อยู่รอด "เว้นระยะห่างทางสังคม" มาตรการป้องกันโควิด-19 กับเป้าหมายชวนคนไทยร่วมมือให้ถึง 80% หวังลดการระบาด ทำได้จริง 15 เม.ย. จะมีผู้ป่วยสะสมเพียง 7,745 ราย
ไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ถือเป็นทุกข์สาธารณะของคนทั้งโลก โดยการทำให้เชื้อไวรัสฯ หมดสิ้นไป ต้องให้ทุกคนเว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร ซึ่งพิสูจน์เเล้วว่า มาตรการนี้ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศเเละได้ผล
โดยในเวทีเสวนา อยู่บ้าน อยู่ห่าง อยู่รอด จัดขึ้น ณ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 มีการพูดคุยกันถึงเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
เเพทย์หญิงปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการเเพทย์ ถอดบทเรียนมาตรการเว้นระยห่างทางสังคมในต่างประเทศ ว่าหลายประเทศในยุโรปเริ่มมีการระบาดหนัก มีการประกาศล็อกดาวน์ เเละการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน เบลเยี่ยม เเละเยอรมัน โดยเป็นการประกาศในระดับประเทศ เมือง เเละเขตพื้นที่
ส่วนในบางประเทศเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยกตัวอย่างสวีเดน หรือบางประเทศเริ่มต้นปฏิบัติตามคำเเนะนำในการอยู่บ้าน เช่น ไม่เดินเกาะกันเป็นกลุ่ม หรือไม่สังสรรค์ยามเย็น
ขณะที่ในฝรั่งเศสพบว่า ประชาชนไม่ทำตามคำเเนะนำของรัฐบาลให้เว้นระยะห่างทางสังคมเเละไม่ต้องเเสดงความรักต่อกัน ทำให้ถูกลงโทษ เช่นเดียวกับอังกฤษมีการสั่งห้ามให้อยู่บ้าน ห้ามรวมกลุ่มเกินกว่า 2 คน ยกเว้นไปงานศพ การออกจากบ้านเพื่อซื้ออาหาร พบเเพทย์ เเละหากออกกำลังกาย ต้องทำกิจกรรมนี้เพียงคนเดียว สั่งปิดร้านค้า สนามเด็กเล่น ห้องสมุดต่าง ๆ หากไม่เชื่อฟัง จะถูกจับกุม ปรับ เเละสั่งห้ามรวมตัว
ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่ปรึกษากรมการเเพทย์ ระบุมีการสั่งห้ามประชาชนอยู่ในบ้านเช่นกัน เเต่ยังมีบางคนออกมาพบปะกัน จึงมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หากไม่ปฏิบัติตาม จะถูกกักเเยกเดียว เเละออสเตรเลียมีกฎห้ามชุมนุมเกิน 500 คน ตามประกาศการเว้นระยะห่างทางสังคม
ด้านเยอรมันออกกฎห้ามพบกันในสถานที่สาธารณะเกิน 2 คน เเละสวีเดนประกาศห้ามคนมาชุมนุม ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 6 เดือน เเละยังขอให้ประชาชนไม่เดินทางไปไหนในช่วงวันหยุดอีสเตอร์ (วันเฉลิมฉลองพระเยซูคริสต์คืนพระชนม์ชีพจากความตาย)
เเพทย์หญิงปฐมพร ให้รายละเอียดต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเทศที่บังคับใช้กฎหมายเเล้ว เช่น ตูนีเซีย เกิดเหตุการณ์ตำรวจใช้เเก๊สน้ำตายิงวัยรุ่นกว่า 40 คน ที่มาร่วมเเข่งขันเเกะชน ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมในอเมริกาเหนือ ส่วนวันที่ 28 มี.ค. 2563 สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ตำรวจเเอฟริกายิงกระสุนยางใส่นักช้อปหลายร้อยคนที่เข้าคิวนอกซุปเปอร์มาเก็ต เเละยังใช้เเสร้หวดด้วย เพื่อให้เกิดมาตรการตามคำเเนะนำการเว้นระยะห่างทางสังคม
ขณะที่กรุงมอสโคว รัสเซีย ใช้ไอทีติดตามตัวคนที่ไปในสถานที่ต่าง ๆ เเละตำรวจนำระบบจดจำใบหน้าประชาชนมาใช้ติดตามคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเเยกเดี่ยว ส่วนนิวซีเเลนด์สร้างเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้ประชาชนรายงานเหตุการณ์การฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะให้ประชาชนรายงานสดได้ เมื่อพบเห็นคนทำผิด ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ โดยพบว่ามีมากกว่า 4,000 คดี
"สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ดี โดยมีการทำเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมเเละกักกันผู้ติดเชื้อให้อยู่พื้นที่จำกัด ด้วยวิธีกำหนดทั้งในเรื่องการซื้อของ การรับประทานอาหาร เเละการปิดโรงเรียน" ที่ปรึกษากรมการเเพทย์ ระบุ
เมื่อหันมามองประเทศไทยในเวลานี้ ได้ดำเนินการเว้นระยะห่างทางสังคมเหมือนประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกเช่นกัน
นายเเพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า การป้องกันเเพร่ระบาดในวงกว้าง นอกเหนือจากการใช้ยา ยังมีมาตรการสำคัญคือ เว้นระยะห่างทางสังคม เพราะไวรัสไปกับคน หากใกล้ชิดกัน มีน้ำมูก น้ำลายกระเด็นใส่ สามารถติดเชื้อกันได้ ดังนั้นต้องเว้นระยะห่าง 1.80-2 เมตร กิจกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น ดูมหรสพ ชกมวย หรือไปในที่รโหฐาน ใกล้ชิดเกินไป ต้องเว้นระยะห่าง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประชาชนตื่นตัวกับความคิดนี้เเละร่วมมือกับรัฐมากน้อยเเค่ไหน กรมสุขภาพจิตได้สำรวจข้อมูล จากจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม 26,486 คน
ถามว่า กังวลกับปัญหาโควิด-19 อย่างไร พบว่า กังวลปานกลาง ร้อยละ 76.17 รองลงมา คือ กังวลสูง ร้อยละ 18.15 เเละกังวลต่ำ ร้อยละ 5.68 (จากผู้ตอบเเบบคัดกรอง 15,838 คน )
"ข้อมูลการศึกษาในออสเตรเลียเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม จะได้ผลสำเร็จลดการเเพร่ระบาดเชื้อไวรัส ต้องได้รับความร่วมมือ ร้อยละ 80 เพื่อให้การระบาดเป็นไปอย่างช้า ๆ เเละระบบสาธารณสุขไทยรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นต้องตั้งเป้าดำเนินการให้ได้"
ขณะที่การสำรวจพฤติกรรมคนไทยเว้นระยะห่างทางสังคม พบว่า
-คนไทยไปในพืันที่เเออัด หลีกเลี่ยง ร้อยละ 83.9 ไม่หลีกเลี่ยง ร้อยละ 16.1
-ไม่ใกล้ชิด อยู่ห่าง 2 เมตร หลีกเลี่ยง ร้อยละ86.9 ไม่หลีกเลี่ยง ร้อยละ13.1
อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำเสนอต่อว่า มีการตั้งคำถามเพิ่มเติมว่า กรณีหลีกเลี่ยงนั้น ทำประจำ หรือไม่ประจำ
-หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่เเออัด ทำประจำ ร้อยละ 66 ทำบ่อย ๆ ร้อยละ 28.3 เเละไม่ทำ-ทำบ้าง ร้อยละ 5.7
-ไม่ใกล้ชิดอยู่ห่าง 2 เมตร ทำประจำ ร้อยละ 69.6 ทำบ่อย ๆ ร้อยละ 24.7 เเละไม่ทำ-ทำบ้าง ร้อยละ 5.7
เมื่อสำรวจครั้งล่าสุด 25 มี.ค. กรณีหลีกเลี่ยงไปในพื้นที่เเออัด นายเเพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทำประจำ ร้อยละ 71.1 ทำบ่อย ๆ ร้อยละ 24.7 เเละไม่ทำ-ทำบ้าง ร้อยละ 4.2 ขณะที่ไม่ใกล้ชิดอยู่ห่าง 2 เมตร ทำประจำ ร้อยละ 67.9 ทำบ่อย ๆ ร้อยละ 26.6 เเละไม่ทำ-ทำบ้าง ร้อยละ 5.5
ดังนั้นทำอย่างไรให้คนที่ทำบ่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นทำประจำ เพื่อเป้าหมาย ร้อยละ 90 ให้ได้
อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำเสนอต่อถึงระยะเวลาการรับข้อมูลข่าวสารต่อวัน พบว่าช่วงเเรก ประมาณ 1-3 ชม. เเต่ระยะสามที่สำรวจ พบว่า รับมากขึ้น มากกว่า 3 ชม.ขึ้นไป/วัน
ทั้งนี้ หากจำลองมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เเละมาตรการอื่น ๆ ของรัฐ หากทำได้จริงร้อยละ 80 จะมีผู้ป่วยสะสมเพียง 7,745 ราย เทียบกับทำได้ ร้อยละ 50 จะมีผู้ป่วยสะสม 17,635 ราย (คำนวณ ณ วันที่ 15 เม.ย.2563)
จึงพิสูจน์เเล้วว่า หากเราร่วมมือกันไม่ออกจากบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม ดูเเลสุขอนามัยตนเอง อาบน้ำ ล้างมือ ให้สะอาด กินร้อน ใช้ช้อนกลางตนเอง เเละใส่หน้ากากอนามัย จะสามารถทำให้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลง ภายใต้ความเข้มข้นของมาตรการ
อ่านประกอบ:เปิดผลสำรวจพฤติกรรมคนไทยเว้นระยะห่าง 2 เมตร ยังทำไม่ถึงเป้า 80%
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage