วิเคราะห์กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 พบอายุน้อยสุด 6 เดือน มากสุด 84 ปี เฉลี่ย 40 ปี อาการหนักส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สธ.เผยต้นเหตุติดจากคนอายุน้อย พาเชื้อเข้าบ้าน วอนกลับตจว.ให้เเยกตัว
ตัวเลข 1,245 ราย คือ จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสม ณ วันที่ 28 มี.ค. 2563 เฉพาะวันเดียวเพิ่มขึ้น 109 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 17 ราย จะเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่ำประมาณ 100 ราย/วัน
นายเเพทย์อนุพงษ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ว่า ในจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมดนั้น อายุน้อยที่สุด 6 เดือน เเละมากที่สุด 84 ปี สรุปโดยเฉลี่ย 40 ปี
โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยกระจายตัวใน 57 จังหวัด มากที่สุด คือ กรุงเทพฯ 515 ราย รองลงมา นนทบุรี 68 ราย ภูเก็ต 41 ราย ยะลา 40 ราย เเละชลบุรี 36 ราย เเละจะเห็นว่า ในช่วงวันที่ 19-28 มี.ค. 2563 การกระจุกตัวอยู่ที่จังหวัดในภาคกลาง คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ส่วนภาคใต้ คือ ภูเก็ต เเละจังหวัดชายเเดนภาคใต้ [สงขลา 22 ราย (+2) ปัตตานี 34 ราย (+5) นราธิวาส 8 ราย ยะลา 29 (+3) ]
นายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป บอกว่า สิ่งที่กระทรวงสธ. กังวลเเละอยากให้ประชาชนรับทราบ คือ เพื่อป้องกันการป่วยเเละเสียชีวิต จากโควิด-19 เนื่องจากมีผู้ป่วยมากขึ้น ฉะนั้นส่วนหนึ่งจะมีอาการรุนเเรงเเละเสียชีวิต ซึ่งเป็นส่วนน้อย อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั่วโลก พบว่า ผู้ป่วย 100 ราย จะมี 80 ราย ที่มีอาการน้อย เเละบางรายน้อยมากจนไม่คิดว่าเป็นโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ผู้ปวยที่มีอาการน้อยบางส่วนรักษาตัวอยู่ในในรพ.ต่างจังหวัด
"ผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 100 คน มี 20 คน รับการรักษาใน รพ. เเละ 5 คน มีอาการรุนเเรง เเละมีบางส่วนเสียชีวิต" ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป วิเคราะห์
นายเเพทย์โสภณ ระบุต่อว่า ยอดจำนวนผู้เสียชีวิต 6 ราย จากผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 1,245 ราย นั้น คิดเป็น 0.5% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีอัตราป่วยตายสูงกว่านี้ เเละหากวิเคราะห์ต่อไปถึงกลุ่มผู้เสียชีวิต จะเเตกต่างจากกลุ่มไม่เสียชีวิต พบว่า มีอายุมากกว่า ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนเเรง 17 ราย จำนวนครึ่งหนึ่ง มีอายุเกิน 60 ปี เเละเสียชีวิต มีเกิน 70 ปี จำนวน 2 ราย
นี่จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ให้ช่วยกันปกป้องไม่ให้ผู้สูงอายุติดเชื้อ เพราะคนกลุ่มสูงอายุมีความเปราะบางเเละโอกาสเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น
"ส่วนใหญ่ญาติผู้ใหญ่อยู่บ้านมากกว่าวัยทำงาน ดังนั้นคนที่จะพาเชื้อเข้าไปในบ้าน มักเป็นผู้ที่มีอายุน้อย กลายเป็นที่มา ให้คนที่กลับจากกทม.เเละปริมณฑล ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องเเยกตัว เพื่อลดโอกาสถ่ายทอดเชื้อไปยังคนอยู่ที่บ้านในต่างจังหวัด" ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป เน้นย้ำ เเละว่านอกเหนือจากผู้สูงอายุที่มีอาการรุนเเรงเเล้ว ยังมีกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เเม้ไม่ทุกคนก็ตาม ที่พบบ่อย คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไต เเละมะเร็ง ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งในกลุ่มเหล่านี้ต้องระมัดระวังการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ เพราะจะมีโอกาสป่วยรุนเเรงมากกว่าคนไม่มีโรคประจำตัว
ทั้งนี้ ในต่างประเทศ พบว่า อัตราป่วยเสียชีวิตในคนอายุมาก เเละมีโรคประจำตัว จะมีมากกว่า 10% ส่วนคนอายุน้อยเเละไม่มีโรคประจำตัว จะมีน้อยกว่า 1% ทำให้เราต้องเอาใจใส่ดูเเลสุขภาพของผู้สูงอายุ เเละผู้มีโรคประจำตัว เพื่อช่วยกันปกป้องเเละดูเเลให้สุขภาพดีไม่ป่วยหรือเสียชีวิต .
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage