ใครที่ตามข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคนี้ที่อิตาลี จะพบว่า 8% ของคนที่เสียชีวิต คือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งล่าสุด Meddy Bear ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกลุ่มแพทย์ แสดงจำนวนแพทย์อิตาลีถึง 18 คน เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19
ในขณะที่บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ออกมาขอพลังจากสังคม ให้ช่วยกันฉุดรั้งเส้นกราฟ ไม่ให้อัตราเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทยขยับขึ้นเร็วจนเกินไป บ้านเราจะได้ไม่เกิดการสูญเสียแบบประเทศอิตาลี
แต่ในวันแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ถึง 4 ราย ได้เเก่ เเพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จาก จ.ภูเก็ต ยะลา บุรีรัมย์ นครปฐม รวมอยู่ด้วย
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า "กระทรวงสาธารณสุขห่วงผู้ป่วยที่เป็นบุคลากรทางการเเพทย์มาก เพราะเป็นกลุ่มก้อนใหม่เข้ามา ซึ่งเราเป็นห่วงตั้งเเต่เเรกเเละเเจ้งเตือนตลอดเวลาว่า บุคลากรของเราต้องได้รับการตรวจรักษาด้วย สืบเนื่องจากผู้ป่วยไม่เเจ้งประวัติเสี่ยงมาก่อน ทำให้เขาเหล่านั้น ไม่สามารถป้องกันตนเองได้
การที่คนไข้ 'ปกปิด' ประวัติความเสี่ยง วันนี้จะเห็นเกิดขึ้นแล้วทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน จนต้องมีการติดประกาศให้ผู้มาใช้บริการ "หากผลการตรวจพบโควิด-19 จากห้องปฏิบัติการภายนอก และจะมาใช้บริการ โดยปิดบังข้อมูลโรงพยาบาล จะมีความผิดตามกฎหมายโรคติดต่ออันตราย เรื่องการปกปิดข้อมูลและไม่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ"
กรณีเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนของการซักประวัติ เพื่อช่วยในการรักษา และปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ โดยในกฎหมายโรคติดต่อร้ายแรง ระบุว่า การที่ผู้ป่วยไม่แจ้งข้อมูลที่แท้จริง จะมีโทษปรับ เป็นเงิน 20,000 บาท
แต่เหนืออื่นใด การใช้กฎหมายจับปรับอย่างเดียวคงไม่ได้ผล ความรับผิดชอบของผู้ป่วยเองก็สำคัญ เพราะวันนี้การที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไวรัส ได้ส่งผลกระทบต่อการบริการด้านสาธารณสุข ไม่ใช่แค่ไทย แต่ปรากฎขึ้นแล้วที่จีน อิตาลี สเปน และอีกหลายประเทศ !
บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกกำลังทำงานหนัก แข่งกับอัตราเร่งของการระบาด จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น สวนทางกลับอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) หรือชุด PPE หน้ากากอนามัย หน้ากาก N 95 ที่ถูกใช้งานไปจนเริ่มร่อยหรอลงทุกวัน
ขนาดโรงเรียนแพทย์ที่ใหญ่ อย่างศิริราช ผศ.นพ.มนศักดิ์ ชูโชติรส รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ให้ข้อมูลถึงจำนวน ทรัพยากรที่ศิริราชใช้อยู่รายเดือน เพียงช่วง 1-16 มีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวนการใช้สูงขึ้นอย่างมาก ยกตัวอย่างชุดกาวน์หมี จากเคยใช้ 16 ชุดต่อเดือน แค่ครึ่งเดือนมีนาคม ใช้ไปแล้ว 200 ชุด คาดว่า จะหมดในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนSurgical mask แบบห่วง เคยใช้ 2.5 แสนชิ้นต่อเดือน เพียง 16 วันที่ผ่านมา ใช้ไปแล้ว 2.1 แสนชิ้น และคาดว่า เดือนเดียวก็หมดถ้าเรายังไม่ช่วยกัน (อ่านประกอบ:ไม่อยากเป็นแบบอิตาลีต้องช่วยกัน หมอศิริราช คาดหากคุมไม่อยู่ 15 เมษาฯ คนไทยติดโควิด 3.5 แสนราย)
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/MeddyBear.Net/
ใครที่ตามข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคนี้ที่อิตาลี จะพบว่า 8% ของคนที่เสียชีวิต คือ บุคลากรทางการแพทย์ Meddy Bear ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของกลุ่มแพทย์ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2012 ระบุ แพทย์ในอิตาลีจำนวน 18 คน เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 บางคนเป็นแพทย์ที่เกษียณไปแล้ว เขาเหล่านั้นกลับมาทำงานเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคนี้
ขณะที่โรงพยาบาล Olio Po ของอิตาลี มีรายงานว่า แพทย์ 25 จาก 90 คน ติดเชื้อโควิด-19 และกำลังกลายเป็นแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขของที่นั่น ในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) ทางตอนเหนือของประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ พบการติดเชื้อโควิดจากคนป่วยเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ระบุว่า เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 แพร่ได้โดยที่คนๆ นั้นยังไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาก ซ้ำร้ายทั้งหน้ากากอนามัย และถุงมือแพทย์ ก็มีไม่เพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในอิตาลีด้วย
"นอกจากทรัพยากรมีไม่เพียงพอแล้ว เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ของเราก็ติดเชื้อ กลายเป็นผู้ป่วย" แพทย์วัยเกษียณที่ขออาสาร่วมสมรภูมิต่อสู้ “โควิด-19” ให้ข้อมูล สะท้อนวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น
ไม่ต่างจากที่สเปนเวลานี้ บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ติดเชื้อไวรัสเช่นกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขของสเปนระบุว่า มีผู้ป่วยยืนยัน 40,000 ราย ในจำนวนนี้ 5,400 ราย หรือเกือบ 14% เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์
บุคลากรทางการแพทย์ ทำงานบนความเสี่ยง มีโอกาสติดเชื้อสูง แต่ด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ มิอาจปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ การปฏิบัติหน้าที่ที่มากกว่า คำว่า งาน หรืออาชีพ ความเก่งของแพทย์ไทย ระบบสาธารณสุขของบ้านเราที่ไม่เป็นสองรองใคร ฉะนั้น วันนี้คนไทยทั้งประเทศต้องช่วยกันออกแรงดึงกราฟให้ต่ำลงมา ด้วยการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ช่วยคุณหมออีกแรง เพื่อให้ไม่ "เหล่าฮีโร่ชุดกาวน์" ผู้เสียสละต้องทำงานหนัก ด้วยเหตุมีจำนวนผู้ป่วยมากเกินศักยภาพของโรงพยาบาล!