โชว์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ 'อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสระผมผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย นั่งรถเข็น' ไอเดียนักศึกษา 'เทคนิคสุราษฎร์ฯ' ต่อยอดเชิงพาณิชย์ หลังคว้ารางวัลนวัตกรรมฯ ครั้งที่ 1 ด้าน สสส.เดินหน้าจัดปีที่ 2
ปี 2568 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ :สสส.) ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยนั่งรถเข็นในการทำกิจวัตรต่าง ๆ เป็นเรื่องต้องให้ความระมัดระวังอย่างสูง
แน่นอนว่า ที่ผ่านมานักประดิษฐ์จึงต่างพากันคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การนำมาใช้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ
หนึ่งในนั้น คือ ผลงานที่มีชื่อว่า “อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น” เป็นนวัตกรรมที่น่าจับตามองและถูกนำไปใช้จริงในปัจจุบัน ซึ่งใครจะทราบว่า ไอเดียนี้เป็นของนายคุณัชญ์พงษ์ เชาว์แล่น, นายสรวิศ สิกธรรม และนายวัฒนพงษ์ เพชรรัตย์ นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี
(จากซ้าย) ธนพล ฉัตรทอง, สรวิศ สิกธรรม (ผู้คิดค้นคนเเรก), ปรเมศร์ ชูพฤกษ์, อ.ธวัชชัย ลิ้มสุวรรณ
โดยเป็นผลงานที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของการประกวดผลงานนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 1 จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเพื่อเดินหน้าต่อโครงการฯ เป็นปีที่ 2 จึงถือโอกาสติดตามความก้าวหน้าของผลงานที่สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้
อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมฯ ถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรให้สามารถเข็นรถเข็นเข้าสู่อุปกรณ์เพื่อสระผม โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ จึงถูกสร้างขึ้นเน้นน้ำหนักเบา พับเก็บใส่กล่องได้สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย และผู้ใช้งานไม่ยุ่งยาก เน้นขยายผลสู่เชิงพาณิชย์จำหน่ายได้ทั่วไป ซึ่งกว่าจะมาเป็นรูปแบบในปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นอุปกรณ์จะมีความใหญ่ ตัวยกขยับไปทั้งล้อ จึงดูไม่ลื่นไหล
หลังจากนั้นผู้คิดค้นจึงร่วมกันพัฒนาติดตั้งตัวล็อกตายและปรับเอนได้ที่เก้าอี้แทน 45 องศา ใช้หลักจุดศูนย์ถ่วง พร้อมมีสายรัดนิรภัย เพื่อเพิ่มความปลอดภัย พร้อมระบบสั่งการรีโมทไร้สายด้วย ส่วนถาดสระผม สามารถปรับได้ตามความสูงของคนเช่นกัน ที่สำคัญ เมื่อมีการสระ น้ำจะไม่ไหลย้อนกลับสู่ตัวผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ
“คุณอาคือแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรม”
นายสรวิศ สิกธรรม หนึ่งในนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้คิดค้น บอกเล่าถึงแนวคิดกว่าจะมาเป็นอุปกรณ์ชิ้นนี้
“ผมต้องดูแลคุณอาที่เป็นผู้สูงอายุและพบว่า ในการสระผมแต่ละครั้งมีความลำบากมาก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายหรือเวลาสระผม”
สรวิศ จึงปรึกษากับอาจารย์และเพื่อนในชั้นเรียนว่า จะมีวิธีอย่างไรทำให้คุณอานั่งรถเข็นสระผมได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายออกจากรถเข็น เพราะป่วยและมีบาดแผลที่ข้อเท้า จนกระทั่งไอเดียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ก่อเกิดขึ้นในเวลาต่อมา
“อุปกรณ์ชิ้นนี้มีความพิเศษในเรื่องความสะดวกในการใช้งาน มีน้ำหนักเบา และมีความปลอดภัยสูงต่อผู้ใช้งาน มีระบบการตัดไฟภายใน 0.3 วินาที และไม่ใช้ไฟฟ้าจากบ้านโดยตรง แต่ใช้ผ่านมอเตอร์ดีซี มีการปรับเอนอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ใช้งานไม่รู้สึกหวาดกลัว และรับน้ำหนักได้มากที่สุด 100 กิโลกรัม”
สรวิศ กล่าวถึงแผนในอนาคตหลังจากนี้จะพัฒนาให้อุปกรณ์มีความสวยงามและกระทัดรัดมากขึ้น โดยยังคงความแข็งแรง พร้อมพัฒนาระบบแบตเตอร์รี่สำรอง เมื่อเกิดกรณีไฟฟ้าดับในขณะสระผม
ระบบการล็อกล้อ เอียง ใช้ทฤษฎีจุดศูนย์ถ่วง
ด้าน อ.ธวัชไชย ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อการสระผมฯ ได้นำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายในองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางกุ้ง บ้านพักคนชราจังหวัดสุราษฎร์ธานี และโรงเรียนสุราษฏร์การบริบาล ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุอยู่ในความดูแลเกือบ 40 คน
“เราได้ประสานกับ อ.วาสนา วิชัยดิษฐ์ ผู้บริหารโรงเรียนสุราษฎร์การบริบาลมานานพอสมควร ในเรื่องนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งช่วยกันคิดว่ามีอะไรบ้างที่มาช่วยผู้สูงอายุจริง ๆ มีเยอะมาก เช่น ทำอย่างไรกับผู้ป่วยติดเตียงให้ลงมาได้สะดวก เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการเคลื่อนย้ายค่อนข้างลำบาก หรือผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น ทำอย่างไรไม่ต้องเคลื่อนย้ายออกจากรถเข็น”
อ่างสระผม มีสวิซต์ปรับระดับตามความสูงเเยกจากรีโมท
อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ ยังบอกว่า อุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการสระผมผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุนั่งรถเข็น จึงมอบให้แก่โรงเรียนสุราษฎร์การบริบาล และอนาคตยินดีที่จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยกว่า 1 หมื่นบาท เพราะอุปกรณ์เป็นสแตนเลส แต่อนาคตอาจปรับเปลี่ยน เพื่อให้มีราคาถูกลง แต่ยังคงทนเหมือนเดิม
อ.วาสนา วิชัยดิษฐ์ ผู้บริหารโรงเรียนสุราษฎร์การบริบาล เชื่อมั่นว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ และมีข้อเสนอแนะ ควรเพิ่มช่องถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไปในตัวด้วย นอกจากสระผมได้แล้ว เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วย
จะเห็นว่า “อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น” เกิดขึ้นจากปัญหา นำไปสู่แนวคิด ต่อยอดเป็นนวัตกรรม และรับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่นวัตกรรมหรือผลงาน ‘ขึ้นหิ้ง’ อีกต่อไป แต่นำไปใช้ได้จริง สามารถแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุได้อย่างเป็นรูปธรรม
ไม่น่าเชื่อว่า นี่คือไอเดียจากเด็กไทย...ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/