จากปี 2552 ถึงปี 2563 คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์กำลังจะถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง และเป็นที่น่าสนใจว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบันจะช่วยยุติสถานการณ์ทางการเมืองครั้งนี้อย่างไร
------------------------------------------------------
คณะกรรมการสร้างปรองดองสมานฉันท์ ถูกปัดฝุ่น-นำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 26-27 ต.ค.2563 ฝ่ายรัฐบาล – นายกรัฐมนตรี เห็นว่าน่าจะเป็นหนึ่งในเวทีในการหาทางออกให้กับสถานการณ์ทางการเมือง 2563
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เตรียมหารือแนวทางการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว โดยมีสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้ออกแบบเสนอโครงสร้างที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 2 พ.ย.นี้
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองอยู่เสมอ
และการตั้งคณะกรรมการสร้างปรองดองสมานฉันท์ เป็นหนึ่งในกลไกที่ฝ่ายผู้มีอำนาจมักหยิบมาใช้อยู่เสมอ
ปี 2552 คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองช่วงปี 2552 มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549
กระทั่ง เม.ย.2552 กลุ่มผู้ชุมนุมในขณะนั้น ได้ขยายวงกว้างไปถึงพัทยา ขณะที่มีการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่ 4 ทำให้เกิดการปะทะกัน ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น มีความเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองมีความขัดแย้ง สังคมเกิดความแตกแยก มีการแบ่งสีแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน และจากการปรึกษากันระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และผู้นำทางสังคม จึงมีความเห็นให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพในการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้ง 40 คน
ต่อมา มิ.ย.2552 คณะกรรมการจัดทำข้อสรุปในการสมานฉันท์ มีข้อเสนอในระยะเร่งด่วน อาทิ ลดทิฐิ อคติ วิวาทะ และการตอบโต้ใส่ร้ายจากทุกฝ่าย , ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านควรลดเงื่อนไขความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมและใช้สภาในการแก้ปัญหา , ขอความร่วมมือองค์กรสื่อ ลดพื้นที่การนำเสนอข่าวที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เป็นต้น
(เวทีสมัชชาสมานฉันท์ ผ่านสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในปี 2552)
ปี 2553 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
จากเหตุการณ์เคลื่อนไหวชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่นำไปสู่การสลายชุมนุมช่วง เม.ย.-พ.ค.2553 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลแต่งตั้ง คอป. ที่มี นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดเป็นประธาน เพื่อเข้ามาค้นหาความจริง และจัดทำข้อเสนอในการสร้างความปรองดอง
การทำหน้าที่ของ คอป. อยู่ในช่วงรอยต่อ 2 รัฐบาล เพราะเป็นคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้รับการสานต่อกระทั่งจัดทำรายงานข้อสรุปเสร็จสิ้นในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อย่างไรก็ตามรายงานฉบับสมบูรณ์ 276 หน้า นอกจากข้อเสนอแนะในการสร้างความปรองดอง , การเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ นับได้ว่าการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งการใช้กำลังเหตุเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงพฤติกรรมของชายชุดดำในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่สุดท้ายรายงานฉบับนี้ไม่ได้รับการตอบสนองจากฝ่ายการเมืองเท่าที่ควร กระทั่ง คอป.ยุติบทบาท รวมระยะเวลาทำหน้าที่ 2 ปี ตั้งแต่ ก.ค.2553 - ก.ค.2555
ปี 2554 คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)
คณะกรรมการชุดนี้ ถูกตั้งโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีหน้าที่ประสานงานและรับไม้ต่อจากผลงานของ คอป. โดยมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทยในขณะนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ
ต่อมามีการแต่งตั้งให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบในระยะสั้นๆ เนื่องจากนายยงยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่จะมีการส่งต่อให้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่เข้ามาทำหน้าที่ รมว.มหาดไทยคนต่อไป
แม้ว่า คอป.จะมีข้อเสนอที่ควรจะถูกนำไปดำเนินการต่อมากมาย แต่ ปคอป.กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการผลักดันเฉพาะการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ช่วงปี 2548-2553 เท่านั้น โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินรายละ 7.75 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติเงินส่วนนี้ไว้ถึง 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าว ทำให้มีการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกลายเป็นคดีที่อยู่ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น ปคอป.ยังได้รับการอนุมัติงบประมาณอีก 168 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศ รวม 108 เวที ซึ่งเป็นการเดินสายรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่มีกลุ่มเป้าหมาย 75,700 คน
(คอป.แถลงข้อสรุปรายงานฉบับสมบูรณ์ เมื่อปี 2555)
ปี 2554 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
ช่วงเวลาเดียวกันกับ ปคอป. ในสภาที่มี ส.ส.เพื่อไทยเป็นเสียงข้างมาก มีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญชุดนี้ เพื่อหาแนวทางการสร้างความปรองดองขึ้นในประเทศ โดยมีประธานเป็น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 19 ก.ย.2549
ช่วง มี.ค.2555 กมธ.ปรองดอง เสียงข้างมากลงมติเห็นชอบรายงานฉบับหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังปรากฎข้อเสนอว่าจะมีการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงคดีของ นายทักษิณ พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็จะได้รับประโยชน์ด้วย
ทั้งนี้ผลพวงจาก กมธ.ปรองดอง ทำให้เกิดการผลักดันให้สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ หลายฉบับ บางฉบับถูกเรียกว่า ‘ฉบับเหมาเข่ง’ หรือ ‘ฉบับสุดซอย’ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มที่เรียกว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
และนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหาร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557
ปี 2557 ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป
หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป เพื่อยุติความเห็นต่างและสร้างความปรองดองในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกของฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นกลไกในการขับเคลื่อน
ทั้งนี้มีการรายงานผลการดำเนินการ ระหว่างวันที่ 12 ก.ย.2557 – 31 มี.ค.2558 ระบุว่า มีการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ และ 7,852 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภารกิจหลักคือการจัดกิจกรรมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริการราชการแผ่นดินของรัฐบาล และ คสช. รวม 54,021 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมรับฟัง รวม 4,953,102 คน
ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีการใช้กลไกคณะกรรมการหมู่บ้าน จัดทำหลักสูตร ‘หมู่บ้านปรองดองสมานฉันท์ของโรงเรียน กรรมการหมู่บ้าน ระดับอำเภอ’ เพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน รวม 59,330 ครั้ง
ปี 2558 คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
คณะกรรมการชุดนี้ มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน รับมอบหมายให้ศึกษาปัญหาของความขัดแย้ง พร้อมแสวงหาทางเลือกให้กับสังคมไทยในการสร้างความปรองดอง ท้ายที่สุดได้เสนอผลการศึกษา 6 แนวทางสร้างความปรองดอง ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องการอำนวยความยุติธรรม ทั้งการนิรโทษกรรม และการคำนึงถึงหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ สำหรับกรณีที่ศาลได้พิจารณาคดีเสร็จสิ้นเด็ดขาดแล้ว
(โครงสร้างคณะกรรมการ ป.ย.ป.)
ปี 2560 คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
ป.ย.ป. เป็นหนึ่งใน 4 คณะกรรมการที่เกิดขึ้นโดยคำสั่ง คสช.ที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย และการสร้างความสามัคคีปรองดองในระยะแรก ก่อนเตรียมการไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว โดยใช้ข้อมูล และผลการศึกษาต่างๆ จากสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาดำเนินการต่อ
ป.ย.ป.คณะใหญ่ มีโครงสร้งาไม่ต่างกับคณะรัฐมนตรี ยังคงมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแบ่งภารกิจการทำงานออกเป็นคณะกรรมการอีก 4 ชุด และหนึ่งในนั้น คือ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
กระทั่งการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2563 รับทราบผลการประชุม ป.ย.ป.ครั้งที่ 1/2563 โดยเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกคณะกรรมการ รวม 5 คณะ หนึ่งในนั้นคือคณะกรรมการปรองดองของ พล.อ.ประวิตร โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน
กระทั่งเรื่องของการสร้างความปรองดอง ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังตลอดปี 2563 พบการชุมนุมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งฝ่ายการเมืองเห็นว่าจำเป็นต้องมีเวทีเพื่อเจรจาหาทางออกให้กับประเทศ
จากปี 2552 ถึงปี 2563 คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์กำลังจะถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง และเป็นที่น่าสนใจว่าคณะกรรมการชุดปัจจุบันจะช่วยยุติสถานการณ์ทางการเมืองครั้งนี้อย่างไร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/