เปิดภาพนิทรรศการสิ่งของส่วนตัว 'บุคคลสูญหาย' พร้อมรำลึก 16 ปี ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทวงคืนความยุติธรรม
การถูกบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร เเม้จะผ่านเวลา 16 ปีเเล้ว เเต่ยังคงถูกปลุกจากสังคมเรียกร้องคืนความยุติธรรมอยู่
การจัดงาน "16 ปี หลังจากการบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย -ยังอยู่ในความทรงจำ:ทวงความยุติธรรมที่หายไป" เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมนั้น จัดโดย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ICJ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอาทิ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(HRLA) องค์กร Protection International (PI) องค์กรแอมนาสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เเละมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ณ หอศิลปวัฒนธรรมเเห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็ว ๆ นี้
ผู้แทนอียูย้ำจุดยืนบังคับให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
นางเจนนี่ ลุนด์มาร์ค ผู้แทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) ระบุว่า สหภาพยุโรปมีจุดยืนที่ส่งเสริมการป้องกันไม่ให้บุคคลใดถูกบังคับให้สูญหาย เรามองว่าการบังคับบุคคลให้สูญหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง ดังนั้นสิ่งที่สหภาพยุโรปยึดมั่นคือมนุษย์ทุกคนไม่ควรที่ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายและไม่ควรมีข้อยกเว้นใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดการกระทำในลักษณะนี้
ทั้งนี้ ในปีพ.ศ. 2562 การเมืองไทยมีการพัฒนาที่เป็นไปในเชิงบวก คือ การกลับเข้าสู่การเมืองแบบรัฐสภา ซึ่งทางสหภาพยุโรปได้ดำเนินการไปหลายมาตรการในการทำงานร่วมกับรัฐสภาไทย นอกจากนี้เราพยายามใช้ช่องทางของรัฐสภาในการสนับสนุนภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและทำงานเพื่อต่อสู้กับการละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทรมานหรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย
"การที่เรามารวมตัวกัน สหภาพยุโรปเองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการส่งสัญญาณให้กับตัวแทนของประชาชนหรือส.ส.ที่อยู่ในรัฐสภาว่า สิ่งที่สำคัญมากๆคือการออกฎหมายเพื่อที่จะทำให้การทรมานหรือการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา" ผู้เเทนจากคณะผู้เเทนสหภาพยุโรปฯ กล่าว
จัดเเสดงสิ่งของในความทรงจำ "บุคคลสูญหาย"
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ ยังอยู่ในความทรงจำ ซึ่งเป็นการจัดแสดงสิ่งของส่วนตัวของผู้ถูกบังคับสูญหาย
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ได้นำชุดครุยของทนายสมชายมาจัดแสดงในนิทรรศการ พร้อมทั้งกล่าวถึงความทรงจำเกี่ยวกับทนายสมชายว่า สิ่งที่เราอยากจะเน้นย้ำคือเรื่องของความทรงจำของครอบครัวและการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นประเด็นหลักและเป็นประเด็นสำคัญ สิ่งที่ตั้งอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งของตั้งโชว์ แต่เป็นของที่เราเก็บไว้ แล้วการเก็บรักษาข้าวของของคนหายคือส่วนหนึ่งของการเก็บรักษาความทรงจำ จะทำให้เราไม่ลืมว่ามันเกิดอะไรขึ้นและคนเหล่านั้นเคยอยู่ในสังคมอย่างไร
"เสื้อครุยตัวนี้เป็นเสื้อครุยที่ทนายสมชายใช้ใส่ว่าความ เสื้อครุยตัวแรกที่ทนายสมชายใส่ได้รับมอบมาจากหัวหน้าสำนักงาน และเสื้อครุยตัวนี้เป็นเสื้อครุยตัวแรกที่เขาเก็บเงินแล้วซื้อด้วยตัวของเขาเอง ทนายสมชายใช้เสื้อครุยตัวนี้มา 20 กว่าปี ก่อนที่เขาจะหายไป ทนายสมชายมีกำหนดการที่จะไปที่นราธิวาส เสื้อครุยตัวนี้อยู่ในกระเป๋าเอกสารพร้อมกับสำนวนคดีและตั๋วเครื่องบิน ซึ่งเขาคงหวังว่าเมื่อกลับมา เขาจะได้หยิบกระเป๋าแล้วไปว่าความที่นราธิวาส แต่น่าเสียดายที่เขาไม่มีโอกาสได้กลับมา กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเอกสารยังคงตั้งอยู่ที่เดิมที่ที่มันเคยอยู่ ที่จริงมีสำนวนคดีที่คุณสมชายได้เคยทำไว้"
ภรรยานายสมชาย เล่าว่า คุณสมชายเป็นคนไม่ชอบใช้เครื่องพิมพ์ดีด แต่จะเขียนด้วยลายมือตัวเองในทุกเอกสาร คุณสมชายเป็นคนลายมือสวย เคยไปรับจ้างคัดเอกสารหารายได้ตอนที่เป็นนักเรียน ดิฉันแค่อยากจะบอกว่าทั้งหมดที่เราเก็บรักษาไว้ ดิฉันก็เป็นเหมือนครอบครัวคนอื่น ๆ ที่เก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้ เพื่อที่จะเตือนความจำของเราเองเพื่อให้เราไม่ลืม เราก็อยากให้สังคมช่วงทวงถามความเป็นธรรมร่วมกันกับเรา
ขณะที่นายประเสริฐ เหล่าโสภาพันธ์ ซึ่งนำรูปถ่ายของพี่ชายคือนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ถูกอุ้มหายจากโรงพักบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2551 มาจัดแสดงในนิทรรศการ พร้อมทั้งกล่าวถึงความทรงจำเกี่ยวกับพี่ชายว่า พี่ชายหายเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2551 พี่ชายประกอบธุรกิจเป็นพ่อค้า แต่พบเห็นการทุจริตคอรัปชั่นจึงแจ้งความให้เจ้าหน้าที่รัฐคือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าตำรวจไม่ดำเนินการและกระทำการอุ้มหายพี่ชายขณะอยู่ในโรงพัก ก่อนหายไปพี่ชายขอรับการคุ้มครองพยาน แต่ถูกปฏิเสธทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายบังคับไว้
ของใช้ส่วนตัว นายกมล เหล่าโสภาพันธ์
ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ใดมีความปลอดภัย เพราะว่าสถานีตำรวจมีทั้งอาวุธ มีทั้งกฎหมาย ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองประชาชนได้ ประชาชนที่พบเห็นและช่วยเหลือราชการพบเห็น โดยไม่ได้มีสิ่งตอบแทนใด ๆ แต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับความปลอดภัยตราบจนปัจจุบันนี้ พี่ชายหายไป 12 ปีแล้ว และถึงแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอจะได้รับให้คดีของพี่ชายเป็นคดีพิเศษแล้ว แต่ในระยะเวลาหนึ่งเดือนที่รับไปตู้เก็บสำนวนถูกงัด
“ท่านลองคิดดูนะครับว่ามีสิ่งใดที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับพี่ชายผมได้ ผมอยากกราบเรียนว่า ทุก ๆ คดีที่สูญหายไปล้วนมีเรื่องราว ล้วนมีประวัติมีความเป็นมา ที่เรามาเรียกร้องความยุติธรรม เพื่อให้รัฐบาลมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองพวกเราทุก ๆ คนไม่ว่าต่อไปนี้จะเป็นพวกเราคนใดคนหนึ่งก็ได้ ถ้าเสียสละช่วยเหลือสังคมแล้วไปขัดแย้งกับผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลอื่นๆ ผมอยากฝากให้มีการดำเนินการออกฎหมายเพื่อมาคุ้มครองพวกเราทุก ๆ คน” นายประเสริฐระบุ
ด้านนางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย แซ่ด่าน นำชุดและหมวกดาวแดงรวมถึงผ้าขาวม้าที่นายสุรชัยชอบใช้เป็นประจำรวมถึงนำหนังสือ ซึ่งเป็นงานเขียนของนายสุรชัยมาจัดแสดงในงานนิทรรศการพร้อมทั้งกล่าวว่า หนังสือที่นำมาหลายเล่มในวันนี้บอกถึงตัวตนของนายสุรชัยที่ต้องการต่อสู้กับเผด็จการได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวเมื่อตอนที่นายสุรชัยได้รับโทษประหารชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2524 และได้รับอภัยโทษ 5 ครั้ง ติดคุกทั้งหมด 16 ปี โดยในหนังสือจะมีเรื่องราวของนายสุรชัยและนักโทษในคดีดัง ๆ และการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งด้านมืดและด้านสว่าง
นอกจากนี้ยังมีรูปภาพของบุคลที่สูญหายไปในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ นายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮที่หายไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ที่หายไปเมื่อปีพ.ศ. 2559 นายสุรชัย พร้อมด้วยคนใกล้ชิดสองคน คือ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ และ นายไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลองที่หายไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 จนป่านนี้ยังไม่ได้รับทราบข่าวคราวของสามี ยกเว้นบางกระแสที่บอกว่าเขาสุขสบายดี แต่ก็สงสัยว่าถ้าสุขสบายดี ทำไมไม่ส่งข่าวถึงครอบครัวและเพื่อนทุกคนไม่เคยได้ยินเสียงเขาอีกเลย
ของใช้ส่วนตัว นายสุรชัย เเซ่ด่าน
“หลังจากที่คุณสุรชัยหายตัวไป ได้ไปเรียกร้องต่อหน่วยงานต่าง ๆ ไปแจ้งความต่อพื้นที่ที่มีศพลอยขึ้น แล้วในพื้นที่นั้นมีหายไป 1 ศพ ส่วนอีก 2 ศพก็ตรวจว่าเป็นคุณกาสะลอง ภูชนะ เราไปแจ้งต่อกรรมการสิทธิมนุษยชน ไปที่ทำเนียบรัฐบาลไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ รวมถึงได้เดินทางไปเรียกร้องขอให้ลดหรือยกเลิกการเสียค่าปรับคดีพัทยาที่นายสุรชัยไม่ได้ขึ้นไปบุกและปราศรัยที่โรงแรมรอยัล คลิปบีช เรามีหลักฐานอยู่ แต่เราไปแจ้งความกลับไม่ได้ เพราะตัวนายสุรชัยไม่อยู่ ซึ่งทางกฎหมายบอกว่าต้องให้เจ้าตัวเป็นคนไปแจ้งความกลับเอง ทางญาติเลยต้องรับผิดชอบเสียค่าปรับที่นายประกันคดีพัทยา ตอนนี้เราไปยื่นเรื่องไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบหาตัวผู้สั่งการผู้กระทำผิดแต่ก็ยังเงียบหายอยู่” ภรรยาของนายสุรชัยกล่าว
ด้านนางนาอือ จะโล ภรรยาของนายจะวะ จะโล ชนเผ่าพื้นเมืองลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือจับ ในปีพ.ศ. 2546 ขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้นสวนลิ้นจี่ที่จังหวัดชายแดนทางภาคเหนือของประเทศไทยตามนโยบายปราบปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลในขณะนั้น ได้นำรูปถ่ายจากทะเบียนบ้านของสามีมาจัดแสดงในนิทรรศการพร้อมทั้งกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่สามีหายไป ได้รอสามีทุกวันและมีความหวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมา แต่ก็ไม่เคยพบหรือได้ข่าวเขาเลย แม้บ้านที่เคยอยู่ด้วยกันจะทรุดโทรมไปแล้ว ยืนยันยังจะรอ
ของใช้ส่วนตัว นายจะวะ จะโล
สำหรับกรณีของนายจะวะนั้น วันที่นายจะวะถูกจับตัวไปมีชาวบ้านระบุว่า เห็นเหตุการณ์การจับตัวและการซ้อมทรมานนายจะวะและเจ้าหน้าที่ที่จับตัวเขาไปได้รายงานผู้บังคับบัญชาว่าไม่พบยาเสพติดที่นายจะวะ แต่ตัดสินใจพาเขาไปควบคุมตัวที่ห้องขังในค่ายทหารพราน ไม่กี่วันต่อมาลูกสาวของนายจะวะเดินทางไปที่ค่ายทหารพรานสองครั้งเพื่อตามหาพ่อ ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่บอกว่าได้ปล่อยตัวนายจะวะแล้วและไม่ทราบเรื่องที่นายจะวะหายไปเป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สองเจ้าหน้าที่บอกว่านายจะวะถูกพาไปที่เชียงใหม่ และจนถึงปัจจุบันนี้นายจะวะ จะโล ยังคงหายสาบสูญ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการสิ่งของของ รูปของนายสยาม ธีรุวุฒิที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม โดยนายสยามได้หายตัวไปในระหว่างที่พยายามจะลี้ภัยไปอยู่ในประเทศลาว และยังมีการจัดแสดงสิ่งของที่เป็นความทรงจำของครอบครัวนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และรูปถ่ายทีเป็นความทรงจจำของครอบครัวนายเด่น คำแหล้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินซึ่งเป็นแกนนำเรียกร้องโฉนดที่ดินทำกินสวนป่าโคกยาว จ.ชัยภูมิ ที่หายตัวไปขณะเข้าไปหาของป่าเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2561ด้วย .
ของใช้ส่วนตัวนายสยาม ธีรุวุฒิ
ของใช้ส่วนตัว นายบิลลี่ พอละจี
อ่านประกอบ:16 ปี ทนายสมชาย ‘โคทม อารียา’ เสนอตั้งคณะกรรมการญาติ 76 บุคคลผู้สูญหาย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/