ศึกนี้ ไม่ใช่แค่การทวงแชมป์ แต่ทุกคะแนนจากผลการเลือกตั้ง ยังถูกคาดคะเน – วิเคราะห์ถึงอนาคต เป็นโจทย์ที่แต่ละพรรคต้องนำไปปรับปรุง เตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงภายใน 1 ปี
ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักรบางส่วน เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2565 เป็นชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ที่ส่งผู้สมัครรายเดิม-เจ้าถิ่นอย่าง ‘สุรชาติ เทียนทอง’ ทวงคืนตำแหน่ง ส.ส.กลับมาได้สำเร็จ
ศึกนี้ ไม่ใช่แค่การทวงแชมป์ แต่ทุกคะแนนจากผลการเลือกตั้ง ยังถูกคาดคะเน – วิเคราะห์ถึงอนาคต เป็นโจทย์ที่แต่ละพรรคต้องนำไปปรับปรุง เตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงภายใน 1 ปี
โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2565 ปรากฏรายละเอียด ดังนี้
- นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย 29,416 คะแนน
- นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล 20,361 คะแนน
- นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคกล้า 20,047 คะแนน
- นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 7,906 คะแนน
- นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยภักดี 5,987 คะแนน
- นายเจริญ ชัยสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 333 คะแนน
- นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม ผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ 244 คะแนน
- น.ส.กุลรัตน์ กลิ่นดี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคยุทธศาสตร์ชาติ 190 คะแนน
แม้จะเป็นผลอย่างไม่เป็นทางการ แต่ตัวเลขข้างต้น ย่อมเป็นคณิตศาสตร์ทางการเมืองที่สำคัญกับทุกพรรค ที่จะกำหนดยุทธศาสตร์รับศึกใหญ่ครั้งต่อไป
คู่แข่งคนสำคัญของ ‘เพื่อไทย’ คือ ‘ก้าวไกล’
แม้ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะประกาศว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย โดยอ้างถึงคะแนนของประชาชนที่เลือก ‘เพื่อไทย – ก้าวไกล’ คิดเป็น 60% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การได้อันดับ 2 ของ ‘ก้าวไกล’ ย่อมเป็นโจทย์สำคัญที่ ‘เพื่อไทย’ ต้องแก้ให้ได้ก่อนถึงการเลือกตั้งใหญ่
เพราะ ‘ก้าวไกล’ และ ‘เพื่อไทย’ ถูกวิเคราะห์ว่ามีมวลชนที่เป็นฐานเสียงเดียวกัน ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากภาพพันธมิตรทางการเมือง ทั้ง 2 พรรคยังนับเป็นคู่แข่งคนสำคัญระหว่างกันในศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป
คะแนน ‘เพชร กรุณพล’ ยืนยันการมีอยู่ของ ‘อนาคตใหม่’
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า คะแนนที่พรรคก้าวไกลได้รับ คือการยืนยันการมีอยู่ของอดีตพรรคอนาคตใหม่
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
เพราะก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าหลังการเลือกตั้ง มี.ค.2562 ‘ก้าวไกล’ หรือ ‘อนาคตใหม่’ ในอดีต มักถูกวิเคราะห์ถึงการได้มาของคะแนนเสียง ว่า เป็นเสียงผลัดใบจาก ‘ไทยรักษาชาติ’ ที่ถูกยุบพรรคไปก่อนการเลือกตั้ง
แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ผลการเลือกตั้งของ ‘กฤษณุชา สรรเสริญ’ ผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ได้ 25,735 เสียง คิดเป็น 20.96% ของบัตรดี 122,755 คะแนน
ส่วนการเลือกตั้งซ่อมปี 2565 ผู้สมัครของพรรคก้าวไกล ‘กรุณพล เทียนสุวรรณ’ หรือ เพชร นักแสดงชื่อดัง ได้ 20,361 คะแนน คิดเป็น 24.10% ของบัตรดี 84,484 คะแนน
บทพิสูจน์นี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า คะแนนเสียงจาก ‘อนาคตใหม่’ ยังถูกส่งต่อถึง ‘ก้าวไกล’ และอาจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
พปชร.แชมป์เก่า คะแนนหายไปไหน ?
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ‘สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ’ ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ 7,906 คะแนน คิดเป็น 9.35% ของบัตรดี 84,484 คะแนน
ขณะที่การเลือกตั้งครั้งก่อน พปชร.ส่ง ‘สิระ เจนจาคะ’ ผู้เป็นสามี ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. ด้วยคะแนน 34,907 คะแนน คิดเป็น 28.44% ของบัตรดี 122,755 คะแนน
นับได้ว่า คะแนน พปชร. หายไปเกือบ 20%
แม้ทางหนึ่งมีการวิเคราะห์ว่า ผู้ที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิ์ในครั้งนี้ อาจเป็นฐานเสียงสำคัญของ พปชร.
ขณะที่อีกทางหนึ่งก็วิเคราะห์ว่า การประกาศนโยบาย ‘ทีมลุงตู่’ จาก 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พปชร. , พรรคกล้า , พรรคไทยภักดี อาจเป็นการตัดคะแนนกันเอง
แต่ที่สำคัญก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พปชร.ปัจจุบัน ไม่เหมือนในอดีต
โดยเฉพาะแกนนำระดับขุนพลที่ทำพื้นที่ กทม.ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 มักถูกยกให้เป็นผลงานของ ‘3 ทหารเสือ กปปส.’ ซึ่งโบกมือลา พปชร.ไปก่อนหน้านี้
ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ , นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ขณะที่ นายสกลธี วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ว่า เพื่อไทยคะแนนนิยมในเขตนี้แทบไม่ได้แตกต่างจากเดิม แต่ความนิยมของ พปชร.ลดลงอย่างน่าตกใจ เพราคะแนนหายไปประมาณ 27,000 คะแนน เหตุผลเป็นเพราะอะไร คงไม่ต้องพูดถึง เพราะคนในพื้นที่ก็รู้ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะตัวผู้สมัคร หรือสาเหตุของการที่ทำให้เราต้องกลับมาเลือกตั้งใหม่ หรืออาจจะเป็นปัญหาใน พปชร. เองก็ตาม
‘แต่จุดที่ต้องระวังก็คือ 39,000 คะแนนที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิในคราวนี้ ซึ่งตนมองว่าส่วนใหญ่เคยเลือก พปชร. เยอะมาก อาจจะไม่กลับมาทางฝั่งของ พปชร. อีกถ้าไม่เร่งปรับหรือทำอะไรซักอย่าง ผลการเลือกตั้งใหญ่ข้างหน้าในอนาคตในเขตนี้ก็คงไม่แตกต่างไปจากนี้ แถมยังอาจจะลามไปทั่วทั้ง กทม. พร้อม ยินดีกับนายสุรชาติ แต่ยังเชื่อว่า พท.ยังไม่แลนด์สไลด์ และพรรคก้าวไกลยังน่ากลัว’ นายสกลธี กล่าว
คะแนน ‘พรรคกล้า’ ม้ามืด รอพิสูจน์ในศึกใหญ่
การเปิดตัวของพรรคกล้า แม้จะเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ มีผลการเลือกตั้งมาเป็นอันดับสาม ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ม้ามืด’
แต่บุคคลที่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ยังนับว่าเป็น ‘เจ้าถิ่น’ ในเขตจตุจักรมาเนิ่นนาน
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ผู้สมัครของพรรค ได้ 20,047 คะแนน คิดเป็น 23.72% ของบัตรดี 84,484 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ‘อรรถวิชช์’ ถือเป็นเจ้าถิ่นในเขตจตุจักร เคยได้รับเลือกเป็น ส.ส. 2 สมัยในฐานะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก่อนที่จะพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งปี 2562 หลังจากการแบ่งเขตเลือกตั้งเปลี่ยนไป
แม้เขาจะยืนยันว่า พรรคกล้า ไม่ใช่ ปชป.สาขาสอง แต่ศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ที่ ปชป.ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ทำให้มีการตั้งคำถามถึงฐานเสียงที่เคยสนับสนุนพรรคจะออกมาเทคะแนนให้กับผู้สมัครรายใด
ดังนั้นศึกเลือกตั้งสนามใหญ่ จึงเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญของพรรคกล้าอีกด้วย
ทั้งหมดเป็นคณิตศาสตร์การเมือง ที่ทุกพรรคการเมืองต่างมีโจทย์ที่ต้องนำกลับไปแก้ ปรับทัพ-รับศึก รอวันเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า